xs
xsm
sm
md
lg

“อัญชลี วานิช เทพบุตร” ปั้นแบรนด์ “Takola” เปิดทางส่งออกสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ “ส้มควาย โกโก้ สะตอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “อัญชลี วานิช เทพบุตร” ปั้นแบรนด์ “Takola” เปิดทางสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ นำร่องแปรรูป “ส้มควาย โกโก้ สะตอ” ส่งขายทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ทดลองตลาดมาแล้วผลตอบรับดี

จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนภูเก็ตจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาจนเฉียบพลัน เพราะขาดรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของคนภูเก็ต


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย และ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำงานกับชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ณ เวลานี้ถึงเวลาที่ภูเก็ตจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้นอกเหนือจากรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมา ภูเก็ตอาศัยเศรษฐกิจเพียงขาเดียวคือการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวหายไปก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของนักวิชาการพบว่า จากวิกฤตดังกล่าวทำให้รายได้ของคนภูเก็ตหายไปเกือบทั้งหมด จากรายได้เดือนละกว่า 3 หมื่นกว่าบาท ลดเหลือ 1,961 บาทต่อเดือน ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “จนเฉียบพลัน” และรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคนจนที่อยู่ในอัตรา 3 พันกว่าบาทต่อเดือน ภูเก็ตจึงจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว


โดยหนึ่งในช่องทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้ภูเก็ตสามารถเดินหน้าต่อได้คือ เศรษฐศาสตร์ชุมชน โดยหันมามุ่งเน้นในเรื่องของสินค้าการเกษตร แต่จะต้องเป็นเกษตรที่สามารถนำไปสู่การส่งออกสามารถขายได้ทั่วประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่คิดว่าสามารถส่งออกได้ เบื้องต้นมองไว้ 3 ตัวหลัก ซึ่งประกอบด้วย “ส้มควาย” หรือการ์ซีเนีย ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต เป็นพืชที่ทางชุมชนและกลุ่มแม่บ้านกมลา นำมาหั่นขายให้ห้างท้องถิ่นในกิโลกรัมละ 50-55 บาท และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งขายมาเป็นเวลาสิบๆ ปีแล้ว และเป็นที่รู้จักของตลาดในระดับหนึ่ง แต่หลังจากนี้จะมีการแปรรูปเพิ่มเป็นชาการ์ซีเนีย (Garcinia Tae) บรรจุซอง ซึ่งได้รับการวิจัยจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งหากทำตลาดดีๆ เชื่อว่าจะสามารถส่งออกได้ และขยายการผลิตจากชุมชนบ้านกมลาไปยังชุมชนอื่นๆ

พืชอีกตัวที่มองว่าน่าจะผลิตและสร้างรายได้เพิ่มให้ภูเก็ตได้ คือ โกโก้ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เคยมีบริษัทแห่งหนึ่งมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและทิ้งไป จนถึงทุกวันนี้ยังมีต้นโกโก้หลงเหลืออยู่ในภูเก็ต ซึ่งในส่วนของตนเองนั้นได้พัฒนาสายพันธุ์และหาภาคีเครือขายเกษตรกรในภูเก็ต และได้ปลูกนำไปแล้วจำนวน 5 พันต้น และมีเป้าหมายที่จะปลูก 2 หมื่นต้น เพื่อกำหนดผลผลิตและแปรรูปเป็นสินค้าออกจำหน่ายและส่งออก รวมไปถึงมีแนวคิดที่จะทำให้สวนโกโก้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย ตอนนี้มีสมาชิกสนใจปลูกจำนวนมาก และในส่วนของโกโก้นั้นคนกินกันทั่วโลก


ส่วนพืชตัวสุดท้าย คือ สะตอ เป็นพืชที่คนในประเทศแถบตะวันออกกลางชื่นชอบ รวมไปถึงตามร้านอาหารไทยในยุโรป โดยขณะนี้ได้ปรึกษาไปยัง สวทช.ในการวิจัยและคิดสูตรของสะตอในการส่งออกเป็นเม็ดสด หรือเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

นางอัญชลี กล่าวเพิ่มว่า เมื่อมีพืชเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมแล้ว ตนมองว่าการจะส่งสินค้าแปรรูปไปขาย และยกระดับสินค้าเกษตร จำเป็นจะต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเอง จึงคิดสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้จดจำได้ง่าย และมีความหมายสามารถสื่อถึงความเป็นภูเก็ตได้อย่างชัดเจน จึงเริ่มออกแบบแบรนด์ขึ้นมาใหม่ ใช้แบรนด์ “Takola” ในการทำตลาด


“ซึ่งหลายคนถามว่าทำไมต้องเป็นแบรนด์ “Takola” สาเหตุที่เลือกใช้แบรนด์นี้ เนื่องจากคำว่า “Takola” ในบันทึกของ “ปโตเลมี” ที่เคยกล่าวถึงการเดินทางจากสุวรรณภูมิไปแหลมมลายูที่อยู่ทางใต้ ว่า จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon) เสียก่อน แหลมจังซีลอนคือ แหลมสลาง หรือแหลมถลาง นั่นเอง ซึ่งในตอนนั้นแหลมดังกล่าวยังไม่ได้แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ที่รวมอยู่กับ จ.พังงา และมีการปักหมุดไว้ว่า จุดนี้คือแหลม “Takola” จึงคิดว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่เหมาะและสามารถพัฒนาเพื่อการส่งออกได้ โดยเริ่มใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

โดยขณะนี้มีผลิตภัณฑ์จากส้มควาย และ โกโก้ ภายใต้แบรนด์ Takola วางจำหน่ายแล้ว โดยจำหน่ายทางออนไลน์ผ่านทางเพจ Takola Phuket และนำไปจำหน่ายและแนะนำผลิตภัณฑ์ตามงานแสดงสินค้าอาหารที่จัดขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับดีในระดับหนึ่ง เช่น ผงโกโก้ ชาโกโก้ ชาส้มแขก และที่กำลังทำอีกตัว คือ ช็อกโกแลตบาร์ โดยสินค้าทั้งหมดมีเป้าหมายที่จะส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนชาวภูเก็ตอีกทางหนึ่ง ที่นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว


นางอัญชลี กล่าวต่อไปว่า ต่อไปสินค้าแบรนด์ Takola จะขยายไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่มองว่ามีศักยภาพด้วย และอาจจะรับผลผลิตจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา กระบี่ มาแปรรูปส่งขายภายใต้แบรนด์ Takola ด้วย และมั่นใจว่าพืชเกษตรเศรษฐกิจจะเป็นพืชที่สามารถยกระดับสินค้าทางเกษตรของจังหวัดภูเก็ตได้อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น