xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม Draw for sea ร่วมชาวบ้านเกาะลิบง สร้างสตรีทอาร์ท ณ “บ้านมาเรียม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - กลุ่ม Draw for sea พร้อมด้วยชาวบ้านเกาะลิบง จ.ตรัง ร่วมสร้างผลงานสตรีทอาร์ทบนพื้นสะพานหอชมพะยูน ซึ่งเป็นบ้านของ “พะยูนน้องมาเรียม” ในแนวความคิดการใช้งานศิลปะเพื่อการสื่อสารงานอนุรักษ์ทางทะเล รวมถึงที่ผนังอาคารเรียน โรงเรียนบ้านเกาะลิบง และโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ

ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เหล่าศิลปินในนามกลุ่ม Draw for sea รวมถึงเหล่าเด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่ กำลังขะมักเขม้นกันช่วยวาดภาพความสมบูรณ์ของโลกใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะภาพสัตว์ทะเลน่ารักสีสันสดใสที่มีอยู่ในพื้นที่ ลงบนพื้นสะพานหอชมพะยูน ระยะทางเกือบ 100 เมตร บริเวณ “อ่าวบาตูปูเต๊ะ” ซึ่งเป็นบ้านของ “พะยูนน้องมาเรียม” รวมถึงที่ผนังอาคารเรียน โรงเรียนบ้านเกาะลิบง และโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องเจอกับสภาพอากาศทั้งแดดร้อนสลับกับสายฝน ซึ่งเป็นปกติของปักษ์ใต้ เมืองฝน 8 แดด 4

เหล่าสัตว์ทะเลถูกแต่งแต้มตามจินตนาการของเด็กๆ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันและดำรงชีวิตกับท้องทะเลมาตั้งแต่เกิด ด้วยจินตนาการ สีสัน และความตั้งใจ จนออกมาสวยงามราวมีชีวิต โดยเฉพาะพะยูน ในอิริยาบถของ “แม่-ลูกมาเรียม” ที่กำลังว่ายน้ำกินหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์อย่างมีความสุข เคล้าคลอหยอกเล่น แสดงถึงสายสัมพันธ์แม่ลูกที่ผูกโยงไว้ด้วยความรัก รวมถึงความน่ารักเหล่าเพื่อนๆ ของ “มาเรียม” เช่น เต่าทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก ปลาการ์ตูน ม้าน้ำ ปลาดาว ตลอดจนความสมบูรณ์ดั่งสวรรค์ของเหล่าปะการัง ดอกไม้ทะเล โดยเฉพาะ “หญ้าทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายของโลกบนพื้นที่แห่งนี้


สำหรับไฮไลต์ของงานสตรีทอาร์ทในครั้งนี้มีหลายจุด อย่างเช่น ที่สะพานหอชมพะยูน เป็นภาพเข็มทิศโบราณตรงกึ่งกลางลานสะพาน ซึ่งบอกพิกัดตรงกับตำแหน่งจริงของพื้นที่ นอกจากนี้ หากใครจำได้เรื่อง “แม่ส้ม” ซึ่งเป็นเรือคายัคสีส้มที่ “มาเรียม” มักว่ายเข้ามาคลอเคลียด้วยคิดว่าเป็นแม่ เหล่าศิลปินก็วาดเอาไว้ให้คนสามารถมานั่งพายถ่ายรูปได้เช่นกัน

และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ที่โรงเรียนบ้านเกาะลิบง ที่สะท้อนภาพ “บ้านของมาเรียม” ซึ่งมีเพื่อนเต่าทะเลกำลังมาเล่นกัน ตามจินตนาการจากการ์ตูน “เงือกน้อยผจญภัย” (The Little Mermaid) เป็นหนังแอนิเมชันในปี 1989 ได้รับรางวัลออสการ์ 2 สาขา ได้แก่ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยตัวมาเรียม ทัดดอกไม้ปลาดาวไว้ที่หูเหมือนนางเงือก ตามตำนานโบราณเกาะลิบง ที่เล่าว่าพะยูนนั้นเกิดจากมนุษย์ผู้เป็นหญิงสาว

เกาะลิบง ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงพะยูน” และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูนน้องมาเรียม ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศ หากย้อนกลับไป ความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้เริ่มเกิดเป็นรูปธรรมนับแต่ปี 2562


ในกรณีของมาเรียม ซึ่งเป็นลูกพะยูนเพศเมียที่ได้มาเกยตื้นที่อ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ขณะมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เปรียบกับมนุษย์ยังอยู่ในวัยทารก เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลับสู่ทะเลหลายครั้ง แต่ลูกพะยูนมาเรียม ยังคงว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าจึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม คือบริเวณอ่าวบาตูปูเต๊ะ ซึ่งมีความพร้อมทุกด้าน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรม ทช. ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์

เจ้าหน้าที่ต้องต้องคอยป้อนนมจนกว่ามาเรียมจะแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลได้อย่างเดียว มาเรียมจึงถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยเอาการ แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ก็ผูกพันกับมาเรียม รู้สึกว่าเหมือนลูกหลาน แต่สุดท้ายโชคร้ายที่มาเรียมต้องมาจากไปด้วยขยะพลาสติกตามผลชันสูตร จนรัฐบาลต้องจัดให้มี “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” และ “วันพะยูนแห่งชาติ” ขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี โดยในปี 2565 นี้ มีเสียงเรียกร้องจากคนในชุมชนอยากให้มีการจัดงานขึ้นที่ “บ้านของมาเรียม” เกาะลิบง

โครงการ “วาด เพื่อ ทะเล” หรือ Drae for Sea ระหว่างวันที่ 9-19 เมษายน ริเริ่มโดย “แพรว-ศุภลักษณ์ ประภาศิริ” Designer and Illustration Artist ศิลปินหัวหน้าโครงการ ที่คิดออกแบบและนำเสนอโครงการ พร้อมชักชวนเพื่อนชาวศิลปินมาร่วมกันรังสรรค์งานศิลปะ ในแนวความคิดการใช้งาน “ศิลปะเพื่อการสื่อสารงานอนุรักษ์ทางทะเล” โดยมีภาคีทั้งร่วมงานและสนับสนุน เช่น กลุ่มศิลปิน กรม ทช. อบต.เกาะลิบง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ ทีมพิทักษ์ดุหยง นักออกแบบและนักวาดภาพประกอบ นักทำ VDO content หรือแม้แต่ภาคเอกชน อย่างบริษัท Nippon paint บริษัท EPG อุตสาหกรรมพลาสติก ที่สนับสนุนสีพร้อมอุปกรณ์อย่างดีสำหรับการทำงาน ที่สำคัญมีการลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาสภาพพื้นที่ รวมทั้งสอบถามความเห็นความต้องการของคนในชุมชนก่อนดำเนินการ จึงถือได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ถูกคิดโดยศิลปินและนักออกแบบเพื่อชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง


“แพรว-ศุภลักษณ์ ประภาศิริ” Designer and Illustration Artist ศิลปินหัวหน้าโครงการ บอกว่า ต้องขอขอบคุณชาวบ้านเกาะลิบงเป็นอย่างมากที่มาช่วยกัน โครงการของเราถูกออกแบบมาให้ชุมชนมีส่วนร่วม อยากให้ทุกคนมาร่วมด้วยกับเรา หวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์และแรงบันดาลใจให้ทุกคน ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพะยูน และใส่ใจกับพื้นที่สาธารณะ อยากให้พื้นที่หอชมพะยูน เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ใช้พื้นที่นี้เพื่อความสุขร่วมกัน เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ผู้ใหญ่ได้มาเดินเล่น มานั่งกินข้าว ซึ่งงานศิลปะจะสื่อไปยังการอนุรักษ์พะยูน หญ้าทะเล เป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างวิชาการเเละงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ใช้งานศิลปะสื่อสารการอนุรักษ์ และอนาคตข้างหน้าจะเข้ามาพัฒนาในเฟสต่อไป

การมาทำในครั้งนี้เป็นการนำร่องโครงการให้เกิดศูนย์รวมด้านศิลปะการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ในอนาคต อยากให้พื้นที่ตรงนี้ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น สถาปัตยกรรม งานแลนด์สเคป ภูมิทัศน์ อยากให้เกิดศูนย์พะยูน เเละจะนำศิลปะทุกอย่างที่อยู่ตรงนี้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และนำรายได้มาอนุรักษ์พะยูนและพัฒนาชุมชนต่อ นี่คือความคาดหวังของเราในการสร้างมิติที่เกี่ยวโยงจากงานศิลปะ

“แม้จะเหนื่อยอดหลับอดนอน แต่ดีใจมากที่ชาวบ้าน เด็กๆ เมื่อทราบว่า ทางทีมเรามาทำงานศิลปะ ซึ่งเราเริ่มต้นที่หอชมพะยูน เมื่อเด็กๆ และคนในพื้นที่เห็นก็ตามมา ทุกคนให้ความสนใจ อยากให้บนเกาะลิบงมีงานศิลปะ เด็กๆ กระตือรือร้น อยากมาศึกษาร่วมกับเรา เพราะที่เกาะลิบงยังขาดครูศิลปะ และเราอยากให้งานศิลปะช่วยกระตุ้นการอนุรักษ์ เป็นศิลปะเพื่อการศึกษาให้พวกเขา และขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม เพื่อนศิลปินที่มาช่วยกัน เพราะงานสเกลใหญ่มากภายใต้เวลาที่จำกัด ที่สำเร็จลงได้เพราะน้ำใจของทุกคน” แพรว-ศุภลักษณ์ ระบุ


ด้าน ด.ช.ธนทรัพย์ คลังยิ่ง นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านเกาะลิบง ที่มาช่วยวาดภาพ กล่าวว่า รู้สึกสนุกมากที่ได้มาวาดรูปกับพี่ๆ ได้ทั้งความรู้ มองไปมุมไหนของอาคารในโรงเรียนพบแต่ความสวยงาม ตนได้เป็นลูกมือ วาดสัตว์ทะเล เช่น พะยูน เต่าทะเล ปลาดาว ปลาหมึก ม้าน้ำ ด้วย ส่วนเพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยไม่ได้วาดแต่มาช่วยระบายสี ปกติไม่เคยวาดภาพแบบนี้มาก่อน และรู้สึกชอบงานศิลปะ รู้สึกรักสัตว์ทะเลพวกนี้ เพราะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม

ขณะที่ นายอยุทธา ศรีจันทร์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะลิบง กล่าวว่า ถือว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ทีมศิลปินอาสามาวาดรูปผนังให้โรงเรียนเเละบริเวณสะพาน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเกาะลิบง และศิลปินได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วม ถือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้งานศิลปะ ได้ฝึกปฏิบัติ ได้รู้ความสามารถของตนเอง โดยศิลปินที่มาวาดรูป ใช้แนวคิดการอนุรักษ์พะยูน หญ้าทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเกาะลิบง การสื่อสารผ่านรูปภาพทำให้เกิดจินตนาการ เกิดความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เกิดการอนุรักษ์ การยกศิลปะมาไว้ที่ผนังโรงเรียนถือเป็นการสร้างเเหล่งเรียนรู้ กระตุ้นการเรียนรู้ เป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ ขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่มอบสิ่งดีๆ ให้โรงเรียนบ้านเกาะลิบง






กำลังโหลดความคิดเห็น