ตรัง - ชะลอขุดลอกร่องน้ำกันตังปี 65-66 หวั่นกระทบหญ้าทะเลบ้าน “น้องมาเรียม” ระดมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม-ประมงพื้นบ้าน-นักอนุรักษ์ ร่วมศึกษาผลกระทบ ด้าน ผอ.บำรุงรักษาทางน้ำฯ อยากให้กระจ่างสาเหตุหญ้าทะเลตาย เพราะที่สตูล-กระบี่ก็เป็น ด้าน “มูลนิธิอันดามัน” เผยตัวเลขเดินเรือแค่วันละเที่ยวเดียว
ภายหลังจากที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความในเพจส่วนตัว “TOP Varawut-ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา” ระบุว่า กรมเจ้าท่าได้ระงับการดำเนินงานโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือ และการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิมที่กำลังดำเนินการในปี 2565 นี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายราชการ-ประชาชน เพื่อศึกษาผลกระทบต่อหญ้าทะเล แหล่งอาหารพะยูนก่อนดำเนินการ ผลมาจากการออกมาเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ และนักอนุรักษ์
อีกทั้งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อแก้ปัญหาแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยคณะของ น.ส.กัญจนา ได้ลงสำรวจพื้นที่และประชุม พบว่า สาเหตุเนื่องมาจากผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณเกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของเมืองไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูน “น้องมาเรียม” ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศนั้น ปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบงได้ถูกตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตัง ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 ทับถมจนเกิดความเสียหายหลายพันไร่ หญ้าคาทะเลที่เคยมีความสูง 1 เมตร ตอนนี้มีความสูงเหลือแค่ 10 เซนติเมตร เสี่ยงต่อการคุกคามการดำรงชีวิตของพะยูน เสี่ยงเจ็บป่วยและล้มตาย อาจส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากพะยูนขาดแหล่งอาหารที่เหมาะสม และยังส่งผลกระทบต่อการทำประมงของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดที่อาศัยแหล่งหญ้าทะเลเป็นพื้นที่อนุบาลได้ลดจำนวนลงอย่างมาก ชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาขายได้ จึงควรมีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดก่อนดำเนินการ
ล่าสุด นายจรัญ ดำเนินผล ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำทะเลตรังว่า ตอนนี้ได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อร่วมรวบรายชื่อคณะกรรมการร่วม แล้วส่งให้กรมเจ้าท่าตามลำดับ ซึ่งจริงๆ แล้วมีผลการศึกษาการขุดลอกอยู่แล้ว แต่เมื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ได้มีข้อสงสัยอีกหลายประเด็น และทางกลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องให้ไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายของตะกอนในหน้ามรสุมว่าไปในทิศทางใด การฟุ้งกระจายของตะกอน หากมีการขยายร่องน้ำจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง การนำหินสายสมอในร่องน้ำออก
“ในปี 2565-2566 จะไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ทุกอย่างตกผลึก มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหากขุดแล้วจะไม่มีผลกระทบ การจะเข้ามาดำเนินการได้นั้นต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อหญ้าทะเลหรือไม่ การกำหนดจุดทิ้งตะกอนว่าจะทิ้งในทะเลหรือทิ้งบนบก ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจน ปริมาณต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้ตะกอนกระทบต่อหญ้าทะเล และสิ่งแวดล้อม” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วการขุดลอกร่องน้ำกันตัง มีการขุดมาตลอดตั้งแต่ปี 2509 และมามีปัญหาเมื่อราวปลายปี 2562 ซึ่งยังฟันธงไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุของมรสุม คลื่นลมแรง หรืออะไรกันแน่ และปัจจุบันไม่มีการขุดมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ปัจจุบันยังพบว่าหญ้าทะเลยังมีตายเพิ่มเติม ไม่ได้เฉพาะที่เกาะลิบง จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า หญ้าทะเลบริเวณหาดเจ้าไหม อ่าวหยงหลำ อ.สิเกา รวมถึง จ.สตูล และ จ.กระบี่ ก็ตายจำนวนมากเช่นกัน หรือแม้แต่ปะการังใน จ.ภูเก็ต ก็ตายเช่นเดียวกัน จึงต้องศึกษาให้ชัดว่าหญ้าทะเลตายเพราะอะไร เพราะภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล ซึ่งต้องหาคำตอบและตกผลึกให้ได้ ดังนั้น คณะกรรมการร่วมนอกจากจะมีคณะอนุกรรมการพะยูนแล้ว ยังต้องมีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมภาคส่วนอื่นมาร่วมด้วย เช่น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักวิชาการจากมูลนิธิอันดามันด้วย
ด้านนายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามันจังหวัดตรัง กล่าวว่า คาดว่าทางฝ่ายวิชาการของมูลนิธิอันดามัน รวมถึงกลุ่มประมงพื้นบ้าน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จะเข้าเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการขุดลอก เพราะมองว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำตรังก็เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อแม่น้ำตื้นเขินก็ต้องมีการขุดลอก ตามหลักที่ตกลงกันไว้ว่าจะขุดลอกเฉพาะที่จำเป็น และกรมเจ้าท่าไม่ควรขยายร่องน้ำให้ลึก หรือกว้างเกินที่ได้รับประกันความลึกร่องน้ำไว้ที่ 55 เมตร หากจะขุดลึกกว่านี้ ปากร่องน้ำที่จะขยายให้กว้างก็ต้องทุบหินสายสมอออกบางส่วน ฉะนั้นจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปริมาณหิน ทราย จากการขุดลอกมีจำนวนมหาศาล โดยแนวหินสายสมอเป็นแนวหินที่ต่อเนื่องตั้งแต่เกาะลิบง อ.กันตัง ไปจนถึง อ.หาดสำราญ และ อ.ปะเหลียน ที่สำคัญแนวหินสายสมอจะเป็นตัวชะลอน้ำในช่วงฤดูมรสุม ชะลอตะกอนดินไม่ให้ไหลอย่างรวดเร็วไปทับหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้านใช้หินสายสมอเป็นที่หลบพายุ ดังนั้น การทุบหินสายสมอจะกระทบต่อระบบนิเวศ
นายภาคภูมิ กล่าวอีกว่า หากจะดำเนินการตามกรมเจ้าท่าที่จะขุดให้ลึกถึง 65 เมตร ขยายความกว้าง 90 เมตร เป็นแนวคิดความลึกที่อยากได้ช่วงน้ำลงต่ำสุด แต่จะทำให้เกิดตะกอนจากการขุดลอกที่เป็นดินกับทรายกว่า 2.6 ล้านคิว และเป็นหินกว่า 6.3 แสนคิว หากเอาไปทิ้งในทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน และการขุดลอกตามความจำเป็นต้องมาดูกันว่าจำเป็นแค่ไหน และการเดินเรือแนวแม่น้ำตรังสามารถเดินเรือได้อยู่แล้วในช่วงน้ำขึ้น โดยกายภาพแม่น้ำตรังจะมีการขึ้นลงของน้ำทะเล ในช่วงน้ำขึ้นความลึกใช้ได้อยู่แล้ว สามารถเดินเรือได้ตามช่วงเวลา
“แล้วปริมาณการจราจรการขนส่งทางน้ำมันมีความถี่ มีการสัญจรตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันไม่ได้มีความหนาแน่น วันหนึ่งมีแค่ขบวนเดียว บางวันก็ไม่มีเลย ฉะนั้นสามารถบริหารจัดการการเดินเรือได้อยู่ หากการขนส่งทางน้ำต้องรอน้ำขึ้นบ้าง 2-3 ชั่วโมง ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง การขุดลอกและการเดินเรือไม่มีใครขัดข้อง แต่จำเป็นต้องศึกษาหารือกันอย่างรอบคอบ ทำตามจำเป็น ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร เพราะปากแม่น้ำตรัง และเกาะลิบงที่ได้รับผลกระทบจากตะกอนทราย เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนที่มีความหนาแน่นนับร้อยๆ ตัว และที่สำคัญไม่สามารถหาพื้นที่ไหนทดแทนแหล่งหญ้าทะเลบริเวณนั้นได้อีกแล้ว” นายภาคภูมิ กล่าวในที่สุด