ชุมพร - เดินหน้าผลักดัน “กระท่อมก้านแดงชุมพร” ของดีจังหวัด เป็นพืชเศรษฐกิจ สู่ตลาดโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกร ประเดิมจัดงานมหกรรม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระท่อมไทยของดีเมืองชุมพร”
วันนี้ (10 เม.ย.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผวจ.ชุมพร เปิดงานมหกรรม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระท่อมไทยของดีเมืองชุมพร” เพื่อส่งเสริมภาคเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร และประชาสัมพันธ์พืชกระท่อม โดยเฉพาะสายพันธุ์ก้านแดงชุมพรให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป โดยมีเกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร
นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพร มีศักยภาพที่เหมาะสมในการปลูกพืชกระท่อม โดยเฉพาะสายพันธุ์ก้านแดง ซึ่งหากมีการส่งเสริมการปลูกและประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าพืชกระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดชุมพร สอดคล้องกับจุดประสงค์ของรัฐบาลที่จะผลักดันให้กระท่อมให้เป็น ‘พืชเศรษฐกิจ’ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันการปลูกพืชกระท่อม ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะอยู่ในช่วงทดสอบตลาด ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจหันมาลงทุนปลูกพืชกระท่อม ต้องวางแผนเพื่อตัดสินใจในการปลูกอย่างรอบคอบและรอบรู้ด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า การจัดมหกรรม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กระท่อมไทย ถือเป็นการให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งด้านการปลูก การดูแลรักษา มาตรฐานพืชกระท่อม การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โอกาสกระท่อมไทยในตลาดโลก นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม ตลอดจนการแปรรูป ซึ่งจะทำให้ผลผลิตพืชกระท่อมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ด้าน นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพร มีเกษตรกรปลูกพืชกระท่อม 3,921 ราย โดยเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชกระท่อมสายพันธุ์ก้านแดง มากถึงร้อยละ 95.87 คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 3,943 ไร่ และมีแนวโน้มที่จะปลูกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้พืชกระท่อม โดยเฉพาะสายพันธุ์ก้านแดงชุมพร เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดชุมพร
จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรชาวจังหวัดชุมพร จัดงานมหกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระท่อมไทยของดีเมืองชุมพร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร ประชาสัมพันธ์พืชกระท่อม โดยเฉพาะสายพันธุ์ก้านแดงชุมพร ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป และเพื่อให้เกษตรกรได้นำเอาความรู้ต่างๆ ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น