ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามันตอนบน พาสำรวจโลกใต้ทะเล เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย พบแนวปะการังยังสมบูรณ์ ขณะที่ขยะตกค้าง ขยะเกิดใหม่จากการทำประมง ท่องเที่ยวยังมีให้เห็น
เกาะราชา จ.ภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปที่เกาะเป็นจำนวนมาก เพื่อชมความสวยงาม และดำน้ำดูปะการัง ล่าสุด ทางกรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามันตอนบน ได้เข้าสำรวจติดตามระบบนิเวศแนวปะการังเกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย จ.ภูเก็ต ช่วงนี้ยังไม่พบการเกิดปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเล 27 องศาเซลเซียส แนวปะการังมีสภาพสมบูรณ์ดี
ปะการังที่พบโดยทั่วไป เช่น ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังลายสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ปะการังช่องเล็ก (Montipora spp.) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona spp.) ปะการังรังผึ้ง (Coeloseris spp.) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) การลงเกาะของตัวอ่อนปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังช่องเล็ก (Montipora spp.) ปะการังรังผึ้ง (Coeloseris sp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) และปะการังลายดอกไม้ (Pavona spp.)
นอกจากนั้น จากการสำรวจพบว่า โรคปะการังที่พบส่วนใหญ่จะโรคจุดขาว และโรคเนื้องอกสีชมพูในปะการังโขด (Porites spp.) มีการปกคลุมของสาหร่ายสีเขียว อีกทั้งยังพบร่องรอยการกัดกินและการเจาะไชของสัตว์ทะเล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคได้ ปลาที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปลาสลิดหินเล็กหางเหลือง (Neopomacentrus sororius) ปลาสลิดหินลายนกยูง (Pomacentrus pavo) ปลาสลิดหินเหลืองมะนาว (Pomacentrus moluccensis) ปลาอมไข่เส้นเหลือง (Ostorhinchus cyanosoma) และปลาสลิดหินหางขลิบดำ (Chromis ternatensis) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่พบ เช่น หอยมือเสือ (Tridacna maxima) เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) เม่นรู (Echinostrephus molaris) ดาวทะเล (Linckia laevigata) และดาวขนนกสีต่างๆ
ส่วนขยะในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็น ขยะตกค้างและขยะใหม่จากการทำประมงและจากการท่องเที่ยว เช่น เศษอวน เชือก ขวดแก้ว เศษผ้า กระป๋อง ถุงพลาสติก เหล็ก และสายเส้นเอ็นตกปลา