xs
xsm
sm
md
lg

3 นักศึกษา มทร.ตรัง ช่วยกันสร้าง “รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” สอดรับยุคน้ำมันแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - 3 นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ช่วยกันสร้าง “โดราเอม่อน” รถพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง สอดรับยุคน้ำมันแพง และยังลดมลพิษได้ 100 เปอร์เซ็นต์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง โดย ผศ.กิตติกร ขันแกล้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักศึกษา ในรายวิชาโครงงานวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้า Electrical Energy Engineering Project เพื่อผลักดันให้นักศึกษาสร้างผลงานออกมา 1 ชิ้นงานก่อนจะสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต

นายซ๊อฟรอน เจ๊ะ นายปฏิพัทธิ์ สงไข่ และนายภูธเรศวร์ แก้วอักษร 3 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จึงได้มีการคิดวางแผนสร้าง “รถพลังงานแสงอาทิตย์” ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ประกอบกับนักศึกษาส่วนใหญ่จะใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างขวางถึง 1,700 ไร่ โดยนักศึกษาได้ร่วมกันตั้งชื่อรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คันนี้ว่า “โดราเอม่อน”


ดังนั้น จึงได้มีการนำรถที่ใช้ในสนามกอล์ฟที่เสื่อมสภาพมาดัดแปลงรูปลักษณ์ภายนอก แล้วประกอบเข้ากับชุดอุปกรณ์ติดตั้ง 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์ ขนาด 400 W ใช้เป็นแหล่งชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ 2.แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟส ใช้เป็นแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบา ให้พลังงานสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และ 3.ซูเปอร์คาปาซิเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการชาร์จประจุไฟฟ้าให้เต็มได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังออกแบบให้ชาร์จด้วยไฟฟ้าที่บ้าน โดยจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ในระยะทาง 20 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ด้านนายสิทธิศักดิ์ โรจชะยะ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า การคิดค้นและประดิษฐ์นวัตกรรมรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ใช้เวลาร่วมกันกับนักศึกษาประมาณ 1 เดือน และใช้งบประมาณ 30,000 บาท ซึ่งไม่รวมในส่วนของตัวรถที่นำมาประกอบ ขณะนี้สามารถใช้งานได้จริงภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรับส่งเอกสารระหว่างอาคารเรียน ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษได้ 100 เปอร์เซ็นต์

โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบการทำงานของรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะออกแบบให้ใช้กับรถตุ๊กตุ๊กหัวกบ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ จ.ตรัง ตามแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดตรัง (Trang Smart City) ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น