ตรัง - ห่วงรัฐนำเข้าหมูยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพราะขณะนี้เดือดร้อนหนักจากปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาลูกหมูแพง-อาหารแพง รวมทั้งหวั่นนำเชื้อระบาดติดเข้ามากับหมู
นายวรรณชัย เอียดใหญ่ อายุ 48 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่หมู่ 8 ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยด้วยเงินทุนส่วนตัว โดยการซื้อลูกหมูมาเลี้ยงเป็นหมูขุนส่งขายลูกค้าทั่วไป โดยขณะนี้มีหมูในฟาร์มทั้งหมดประมาณ 250 ตัว ที่ผ่านมาประสบปัญหาอย่างหนัก แม้ราคาหมูจะปรับราคาสูงขึ้น แต่เกษตรกรรายย่อยอย่างพวกตนไม่ใช่ว่าจะได้กำไร หรือได้ประโยชน์จากราคาหมูที่แพงขึ้นแต่อย่างใด เพราะต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น จากเหตุค่าปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะอาหาร โดยภาพรวมขณะนี้ราคาปรับสูงขึ้นกระสอบละ 59 บาท และราคาลูกหมูก็แพง ตกตัวละ 4,300-4,500 บาท จากเดิมเคยซื้อตัวละประมาณ 3,000 บาท
ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงหมู ตนเองคิดคำนวณแล้วพบว่า ต้นทุนการเลี้ยงหมูตกกิโลกรัมละ 87 บาท หากหมูน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ต้นทุนการเลี้ยงตกตัวละ 8,700 บาท ยังไม่รวมราคาลูกหมูที่ซื้อมา ขณะที่ราคาหมูหน้าฟาร์มเริ่มลดลงมาจากกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ขณะนี้เหลือกิโลกรัมละประมาณ 93 บาทแล้ว โดยมีส่วนต่างจากต้นทุนการผลิตเพียงกิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น และแนวโน้มราคาหมูยังลดลงอีก จึงทำให้เกษตรกรรายย่อยเดือดร้อนหนักเหมือนกันหมด หลายรายประสบปัญหาซ้ำด้วยโรคระบาด ทำหมูตายหมดจนต้องหยุดเลี้ยง
ทั้งนี้ หากรัฐมีการนำเข้าหมูจากประเทศสเปน มองว่าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอย่างมาก เพราะอาจจะทำให้ราคาตกต่ำลงไปอีกจนอยู่ในภาวะขาดทุน และอาจจะมีการนำเชื้อโรคระบาดเข้ามาอีกจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ โดยส่วนตัวมองว่าหมูขาดแคลนช่วงหนึ่งตอนที่พบโรคระบาด แต่ขณะนี้เชื่อว่าโรคสงบแล้ว หมูในตลาดไม่ได้ขาดแคลน ส่วนตัวมองว่าเหตุที่หมูราคาแพงไม่ใช่เพราะหมูขาดตลาด แต่เป็นเพราะปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงทำให้หมูราคาแพง จึงขอวิงวอนรัฐอย่านำเข้าหมูจากต่างประเทศ จะทำให้พวกตนอยู่ไม่ได้ อาจต้องเลิกเลี้ยงได้ในอนาคต แต่หากรัฐจะแก้ปัญหาหมูราคาแพง ขอให้ไปแก้ที่ต้นทุนค่าอาหารให้ถูกลง จะทำให้ราคาหมูในประเทศลดราคาลงตาม