xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นแรงซัด “หินภูเขาไฟ” กองเต็มชายหาดใน จ.สงขลา ประชาชนเริ่มเก็บนำใช้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สภาพพื้นที่ชายหาดของ จ.สงขลา หลายจุดยังพบ “หินภูเขาไฟ” ถูกคลื่นซัดขึ้นมากองอยู่บนชายหาดต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่ประชาชนเริ่มเก็บไปใช้ประโยชน์เพราะดีต่อพืช แต่ต้องแช่น้ำให้ความเค็มเจือจางก่อน

สภาพพื้นที่ตามแนวชายหาดของ จ.สงขลา หลายแห่งยังคงพบตะกอนหินขนาดเล็ก คล้ายหินพัมมิช หรือที่เรียกว่า “หินภูเขาไฟ” ถูกคลื่นซัดขึ้นมากองอยู่บริเวณชายหาดต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ เช่น บริเวณชายหาดชลาทัศน์ โดยคาดว่าเป็นหินภูเขาไฟจากประเทศอินโดนีเซีย

บางจุดยังเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเต็มชายหาด ทั้งเก่าและใหม่ เนื่องจากตอนนี้สภาพคลื่นลมยังมีกำลังแรง ทำให้ซัดเอาหินภูเขาไฟขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ สภาพผืนน้ำทะเลริมชายฝั่งยังมีหินภูเขาไฟลอยเป็นแพสีดำอยู่บนผิวน้ำอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริเวณพื้นที่ตลอดแนวชายหาดแหลมสมิหลาทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งหาดชลาทัศน์ และหาดแหลมสมิหลา ทางเทศบาลนครสงขลาได้ทำความสะอาดจัดเก็บหินภูเขาไฟ เพื่อไม่ให้ชายหาดสกปรก และกระทบต่อการท่องเที่ยว

สำหรับหินภูเขาไฟที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมา ขณะนี้เริ่มมีชาวบ้านมาเก็บไปใช้ประโยชน์กันบ้างแล้ว จากคุณสมบัติที่มีรูพรุน ช่วยให้รากของพืชรับอาการได้ดี เก็บความชื้นได้ดี ไม่จับตัวเป็นก้อน ช่วยให้รากของพืชเดินได้ดี เหมาะกับพืชที่รากเน่าได้ง่าย แต่กรณีของหินภูเขาไฟใต้ทะเลที่พบนี้ หากจะใช้ต้องน้ำไปแช่น้ำก่อนเพื่อให้ความเค็มเจือจาง


ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง รับแจ้งข่าวพบตะกอนหินถูกคลื่นซัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดในเขต จ.สงขลา ผลการตรวจสอบพบว่าเป็นหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอน 0.3-3 ซม. ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ เป็นหินประเภทหินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลว และแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก

จากการตรวจสอบพบกระจายทั่วไปตลอดแนวชายหาด จ.สงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของ อ.สทิงพระ ได้แก่ ต.วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมทั้งได้รับรายงานในพื้นที่อื่นๆ เช่น ชายหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส ชายหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี และชายหาดหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ยังพบหินประเภทเดียวกันนี้ลอยเกลื่อนเป็นแพตามผิวหน้าน้ำทะเล จากการสอบถามชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว แต่จะส่งไปตรวจสอบเพิ่มเติม


ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความพร้อมภาพในเฟซบุ๊กว่า หินภูเขาไฟลอยเข้ามาที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (นคร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส) พบอยู่ตามหาดทรายบางแห่ง กรมทรัพยากรทางทะเลตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นหินมีรูพรุน สีเทา น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ขนาด 0.3-3 เซนติเมตร น่าจะเป็นหินพัมมิช (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ

คำถามน่าสนใจ มาจากไหน? เพราะในอ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ เมื่อผมลองเช็คข้อมูลการระเบิดทั่วโลกในช่วงผ่านมา
อาจเป็นไปได้ว่ามาจากอินโดนีเซียที่มีการระเบิดหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา (ตองกาอยู่ไกลและระยะเวลาสั้นเกินไปที่จะมาถึงบ้านเราครับ)


หินแบบนี้ลอยน้ำได้ไกล และลอยรวมอยู่เป็นแพ เมื่อลมจากทะเลจีนใต้พัดเข้าหาฝั่ง จึงเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหินลอยอยู่บนผิวน้ำ และไม่ได้แตกตัวละลายลงไปในน้ำ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับสัตว์น้ำในทะเล หรือตามพื้นท้องทะเล เมื่อหินมากองบนฝั่ง อาจมีผลต่อสัตว์ขนาดเล็กบนชายหาดบ้าง แต่คงไม่มากเท่าไหร่

สำหรับกิจกรรมผู้คนชายฝั่ง เช่น ประมง เดินเรือ คงไม่ได้รับผลกระทบมากมาย เพราะไม่ได้มีเต็มทะเลนำมาให้เพื่อนธรณ์ดูเพราะนานๆ มาสักครั้ง ไม่ต้องตระหนกตกใจ ไม่ได้เป็นสัญญานบอกเหตุใดๆ เพราะภูเขาไฟระเบิดไปนานแล้ว หินถึงลอยมาถึงบ้านเรา

อ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ ใกล้สุดต้องไปทางอินโดนีเซีย หากเกิดอะไรขึ้น คลื่นสึนามิใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะมาถึงบ้านเรา และคงมีขนาดไม่ใหญ่นักครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น