ปัตตานี - กรมเจ้าท่าปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำ 1 แสนตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใน จ.ปัตตานี ด้านประมงพื้นบ้านเผยขุดลอกร่องน้ำช่วยสร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่มีอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่หน้าโรงเรียนบ้านดาโต๊ะ หมู่ 4 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี นายเรวัต โพธิ์เรียง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 และนายอนันต์ แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ร่วมกันเปิดโครงการเจ้าท่าร่วมใจปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวนกว่า 1 แสนตัว โดยมี น.ส.ณิชาวีร์ สะมะอูน ปลัดอำเภอยะหริ่ง เป็นประธานเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณแนวร่องน้ำธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามแนวร่องน้ำธรรมชาติ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ฟื้นฟูระบบนิเวศให้คงสภาพสมบูรณ์ ชาวบ้านและประมงพื้นบ้านสามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้ครอบครัว
สำหรับร่องน้ำลาโจ๊ะกู ร่องน้ำลาโจ๊ะ และร่องน้ำดาโต๊ะ เป็นร่องน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคนในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นพื้นที่ระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังเป็นการสัญจรออกทะเลของชาวประมงอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ได้ประสบปัญหาตะกอน และดินมีมาก ทำให้น้ำตื้นเขิน เรือสัญจรไม่ได้ เรือบางลำได้รับความเสียหาย อีกทั้งชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือนไม่สามารถออกหาปลาประกอบอาชีพได้ แต่หลังจากทางสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทั้งสิ้น 3 แห่ง ทำให้การสัญจรด้วยเรือดีขึ้น ชาวบ้านสามารถออกทะเลหาปลาได้ปกติ นอกจากนี้ การขุดลอกร่องน้ำยังเป็นการพัฒนา และฟื้นฟูแนวร่องน้ำธรรมชาติให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ประชาชนได้มีสัตว์น้ำไว้บริโภค และสร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกด้วย
ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการขุดลอก จำนวน 3 ร่องน้ำ คือ 1.ลาโจ๊ะกู ระยะทาง 700 เมตร วัสดุขุดลอก 27,321.25 ลูกบาศก์เมตร 2.ร่องน้ำลาโจ๊ะ ระยะทาง 200 เมตร วัสดุขุดลอก 6,677.75 ลูกบาศก์เมตร 3.ร่องน้ำดาโต๊ะ ระยะทาง 350 เมตร วัสดุขุดลอก 14,360.50 ลูกบาศก์เมตร รวมระยะทาง 1,250 เมตร รวมปริมาณเนื้อดินที่ขุดลอก จำนวน 47,759.50 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ความก้าวหน้าของโครงการประมาณร้อยละ 81 คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังจากดำเนินการขุดลอกร่องน้ำแล้วเสร็จ
นายเรวัต โพธิ์เรียง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดร่องน้ำให้ชาวบ้านมาโดยตลอด เพื่อให้ชาวบ้านออกเรือหาปลาได้สะดวก ไม่ใช่ต้องรอน้ำขึ้นน้ำลง นอกจากนี้ การขุดร่องน้ำจะช่วยระบายน้ำในช่วงน้ำท่วมให้ไหลลงไปสู่อ่าวปัตตานี ภายหลังจากกรมเจ้าท่าได้ทำการขุดร่องน้ำเสร็จสิ้น ระบบนิเวศกลับเป็นธรรมชาติแล้ว ได้มีโครงการปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำลงสู่แม่น้ำเพื่อเพิ่มจำนวนกุ้งพันธุ์ในแม่น้ำ และยังเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ ทำให้ประมงพื้นบ้านมีรายได้ และยังคงความอุดมสมบูรณ์ให้อ่าวปัตตานี
ด้านนายมะรอนิง สาและ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ตนหวังว่าการปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำในครั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ต.แหลมโพธิ์ จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เชื่อว่าประมาณ 7-8 เดือน กุ้งกุลาดำจะเจริญเติบโตขึ้น และชาวบ้านจะได้นำอวนมาดักกุ้ง จนสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว โดยปกติกุ้งในธรรมชาติมีอยู่แล้ว แต่ถ้ามีหน่วยงานรัฐเข้ามาปล่อยเพิ่มจะทำให้มีกุ้งเพิ่มขึ้นอีก และเป็นโอกาสของชาวบ้านที่จะใช้ประโยชน์ในการหารายได้เลี้ยงชีพ
ซึ่งที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ดำเนินการขุดร่องน้ำนั้นที่เดิมเป็นร่องน้ำอยู่แล้ว แต่ทุกปีจะเจอปัญหาการตื้นเขิน เนื่องจากบริเวณนี้มีตะกอน และขี้เลนมาก ทำให้เรือสัญจรได้ยากลำบาก กรมเจ้าท่าเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงได้มาขุดทรายออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ถ้าไม่ขุดชาวบ้านจะออกเรือไปหาปลาไม่ได้ เพราะเรือจะติดเนินทราย และต้องเสียเวลา ชาวประมงบางรายเรือได้รับความเสียหาย เช่น ใบพัดเรือ ท้องเรือ ภายหลังจากกรมเจ้าท่าเข้ามาทำการขุดลอก ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสะดวกในการเดินเรือมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเห็นด้วย และดีใจอย่างมากสำหรับโครงการขุดลอกร่องน้ำ ทำให้ชาวบ้านมีงาน มีอาชีพ และมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย