xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สตูลลงดูฟาร์มกระต่ายเนื้อ มั่นใจเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกตัวใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - ผู้ว่าฯ สตูลลงดูฟาร์มกระต่ายเนื้อ เชื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกตัวใหม่ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันต่ำ อีกทั้งการเลี้ยงที่ง่ายและขยายพันธุ์เร็ว เหมาะกับในยุคภาวะเศรษฐกิจนี้ ก่อนร่วมชิม 2 เมนูคั่วกลิ้ง และสะเต๊ะเนื้อกระต่าย

วันนี้ (10 ก.พ.) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นายโกเมศ ปิยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล นายกเทศมนตรีตำบลฉลุง ลงดูฟาร์มเกษตรกรเลี้ยงกระต่ายเนื้อ พร้อมให้กำลังใจ นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123 หมูที่ 1 ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล เจ้าของฟาร์มเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อเพื่อการบริโภค

โดยการเดินทางลงดูฟาร์มกระต่ายเนื้อในครั้งนี้ หลังพบว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสามารถสร้างงานและรายได้ให้เจ้าของฟาร์มในพื้นที่และเกษตรกรทั่วไปในการเพิ่มกำลังผลิตการขยายพันธุ์ หลังพบว่าได้รับความสนใจรับประทานกระต่ายเนื้อในกลุ่มต่างประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันต่ำ อีกทั้งการเลี้ยงที่ง่ายและขยายพันธุ์เร็ว เหมาะกับการส่งเสริมพัฒนาต่อยอดในยุคภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ พร้อมร่วมชิมเมนูสะเต๊ะกระต่ายเนื้อ และคั่วกลิ้งเนื้อกระต่าย


นายโกเมศ ปิยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล เข้ามาดูแลในเรื่องของกระบวนการเพาะเลี้ยงกระต่าย โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างตัวโรงเรือน กรงกระต่าย แปลงหญ้า ว่า สามารถนำเทคโนโลยีประเภทไหนเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง และในเบื้องต้นจะดูในเรื่องของระบบโซลาร์เซลล์ที่ช่วยให้แสงสว่าง การควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนอาจจะใช้ระบบ Smart Control เพื่อมาควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือน และการทำแปลงหญ้าอาจจะใช้ระบบให้น้ำอัตโนมัติ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาไปควบคุมโดยสมาร์ทโฟน ส่วนกระบวนการเพาะเลี้ยงและกระบวนการแปรรูปจะมาดูว่าผลิตภัณฑ์ที่จะแปรรูปสามารถแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง และช่องทางการจำหน่ายสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมต่อไปในอนาคต

นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ กล่าวว่า กระแสการรับประทานกระต่ายเนื้อในไทยเริ่มจะมีในช่วงนี้ ทั้งที่ในต่างประเทศและคนไทยบางกลุ่มรับประทานมาอย่างยาวนาน โดยฟาร์มกระต่ายเนื้อของ นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ ได้เลี้ยงเริ่มจากจุดเริ่มต้นคือ ชอบรับประทานเป็นการส่วนตัวขณะไปเรียนหนังสือที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นสัตว์ที่มีโภชนาการสูง และเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งคนไทยไม่ค่อยทำกัน


และในช่วงโควิด-19 เป็นช่วงวิกฤตที่หลายคนที่ทำอาชีพอย่างอื่นต้องชะงักหมด ซึ่งตนเองทำอาชีพเขียนโปสเตอร์ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตนจึงคิดพัฒนาการเลี้ยงกระต่ายสายเนื้อ ตอนนี้ขายทางออนไลน์ มีลูกค้าสั่งซื้อทั้งในจังหวัดสตูล จังหวัดทางภาคอีสาน และภาคเหนือ จากเดิมทีได้ซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กระต่าย 3-4 สายพันธุ์ซึ่งเป็นลูกผสมพันธุ์เนื้อ นิวซีแลนด์ไวท์ ไจแอนท์ แคลิฟอร์เนีย ดำภูพาน ลูกผสมไทย กระต่ายพื้นเมือง และสายพันธุ์ที่ PL สายพันธุ์ไทย พัฒนาโดยคนไทย และเนื่องจากกระต่ายสามาถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและคลอดลูกออกมาแต่ละครั้งหลายตัว

ในปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงกระต่าย สามารถขยายพันธุ์จนมีกระต่ายเนื้อกว่า 100 ตัว โดยมีชื่อว่าฟาร์ม “กระต่ายเนื้อสตูล” สำหรับการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อตั้งแต่คลอดลูกมาใหม่ๆ จนกระทั่งถึงเวลานำเนื้อมารับประทานใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งกระต่ายมีน้ำหนักประมาณ 2-2.50 กก. สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้แล้ว และในช่วงเดือนใกล้รอมฎอนนี้ ทางฟาร์มได้เตรียมกระต่ายเนื้อไว้ 100 ตัว เพื่อจำหน่าย สามารถสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 09-7242-8443










กำลังโหลดความคิดเห็น