xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! หินภูเขาไฟใต้ทะเลถูกคลื่นซัดกระจายเกลื่อนตลอดแนวชายฝั่งทะเลสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พบหินภูเขาไฟใต้ทะเลถูกคลื่นซัดกระจายเกลื่อนตลอดแนวชายฝั่งทะเลของ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ลงเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบเผยไม่เป็นอันตราย และไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลและสัตว์น้ำ แต่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ จ.สงขลา พบหินขนาดเล็กถูกคลื่นซัดขึ้นมากองรวมกันอยู่จำนวนมาก ตลอดแนวชายหาดชลาทัศน์ และชายหาดแหลมสมิหลา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.สงขลา ทำให้บนพื้นทรายตลอดแนวชายหาดกลายเป็นสีดำกระทบสภาพภูมิทัศน์ของชายหาด และประชาชนเริ่มสนใจมาหยิบจับดู

โดยวานนี้ (8 ก.พ.) ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 สงขลา และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างหินที่พบไปทดสอบ พบว่า เป็นตะกอนหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอนประมาณ 0.3-3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือที่เรียกว่า “หินภูเขาไฟ” เป็นหินประเภทหินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลวและแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก


เบื้องต้น สันนิษฐานว่าเป็นหินภูเขาไฟจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและแหล่งที่มาของหินดังกล่าวได้ ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบชนิดและองค์ประกอบที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 จ.สุราษฎร์ธานี อย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หินที่พบไม่เป็นอันตรายและยังไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลหรือสัตว์ทะเลแต่อย่างใด

และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า มีกระจายอยู่ทั่วไปตลอดแนวชายหาดของ จ.สงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของอำเภอสทิงพระ ทั้ง ต.วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมถึงจากการได้รับรายงานยังพบในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น ชายหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส ชายหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี และชายหาดหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และยังมีบางส่วนที่ลอยอยู่ตามผิวหน้าน้ำทะเลด้วย

โดยหินภูเขาไฟดังกล่าวเป็นหินภูเขาไฟคนละชนิดกับที่นำไปใช้เป็นวัสดุรองปลูกพืชผล หรือไม้ดอกไม้ประดับ หรือกรองน้ำ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟบนบก แต่ที่พบบริเวณชายหาดเป็นหินภูเขาไฟในทะเลยังมีความเค็ม หากจะนำไปใช้ต้องแช่น้ำนานๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น