xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านแห่ “ยอนหอยหลอด” นายก อบต.ละงู เปิดตลาดรับนักท่องเที่ยวสนใจร่วมกิจกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่หาดหน้าบ้านหัวหิน พื้นที่หมู่ 1 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล ชาวบ้านกว่า 200 คน ต่างมุ่งหน้าหิ้วถังปูนขาว และก้านมะพร้าวออกล่า “หอยหลอด” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ยอนหอยหลอด” กันเต็มชายหาด

ทันทีที่ฟ้ายังไม่สาง ชาวบ้านหัวหิน ต.ละงู ที่บ้างก็นั่งเรือออกไปก่อนน้ำทะเลจะลด ตั้งแต่เวลา 02.00 น. บ้างก็เดินเท้าย่ำโคลนทรายไปไกลกว่า 1 กิโลเมตร ในช่วงเวลา 05.00 น. ทันทีที่น้ำลดเพื่อจับจองพื้นที่ยอนหอยหลอด

ฤดูกาลหาหอยหลอดของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้จะออกหาหอยหลอดโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออกที่พัดน้ำทะเลลดลง ทำให้การหาหอยทำได้ง่ายขึ้น

วิธีการหาหอยของคนที่นี่ยังคงเป็นการหาแบบอนุรักษ์ หาตามวิถีคนพื้นถิ่น คือการใช้ก้านมะพร้าว จิ้มปูนกินหมากเพื่อแหย่ลงไปในรูที่คิดว่ามีตัวหอย จนตัวหอยเด้งขึ้นมา และรีบใช้มือจับไว้ เพราะมิเช่นนั้นหอยหลอดจะดันตัวกลับเข้าไปในรูดังเดิม


น.ส.ฐิติรัตน์ ใจดี อายุ 33 ปี ชาวบ้านหัวหิน บอกว่า ตนมาหาหอยในยามว่างในช่วงที่อ่านหนังสือเตรียมสอบเพื่อรองาน เอาไว้เป็นกับข้าวในครอบครัว หากเหลือจากกินคิดว่าจะนำไปขาย ในยามเศรษฐกิจแบบนี้การออกมาหาหอยช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลายอย่าง แถมยังได้กินอาหารทะเลสดๆ และยังสามารถเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

ด้านนางจำปี บุญเพิ่ม อายุ 61 ปี ชาวบ้านหัวหิน หนึ่งในผู้ยอนหอยหลอดที่มีความเชี่ยวชาญ บอกว่า ออกมายอนหอยมากว่า 20 ปีแล้ว เคยได้หอยมากสุด 4-5 กิโลกรัม ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ภายหลังเหลือจากกับข้าวจะนำไปขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท แล้วแต่ขนาดของตัวหอย เป็นอีกหนึ่งรายได้ให้ตนเอง และผู้สูงอายุหลายคนในหมู่บ้านได้มีรายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว

หอยหลอดในหาดแห่งนี้ จริงๆ แล้วสามารถหาได้ตลอดทั้งปี แต่ด้วยธรรมชาติของน้ำทะเลที่ไม่ลดลง ทำให้เป็นข้อจำกัดไม่สามารถลงไปหาได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์โดยธรรมชาติ เป็นตัวกำหนดทำให้หอยหลอดบริเวณนี้มีตัวใหญ่สุดขนาด 10-17 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องทะเลแห่งนี้ ยังมีปู ปลา และอาหารทะเลมากมายให้ได้รับประทาน


ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู ทุกปีได้จัดงานเทศกาลยอนหอยหลอด แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมมาเป็นการแข่งขันยอนหอยหลอดในหมู่บ้านแทน โดยจะให้รางวัลชาวบ้านที่หาได้น้ำหนักเยอะ และขนาดตัวใหญ่ โดยเน้นการอนุรักษ์ ไม่เก็บเอาตัวหอยหลอดตัวเล็กมา ซึ่งจะได้เงินรางวัลดังนี้ รางวัลที่ 1 (2,500 บาท) รางวัลที่ 2 (1,500 บาท) และรางวัลที่ 3 (1,000 บาท) โดยวันนี้ นายกอเฉ็ม เร่สัน ได้น้ำหนักเยอะสุดคือ 10.5 กิโลกรัม รางวัลที่ 2 นางวิไล โต๊ะหมาด ได้ 9.5 กิโลกรัม และรางวัลที่ 3 นางสะนี วังสุปิเยาะ ได้ 8.2 กิโลกรัม

นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู กล่าวว่า ยังคงส่งเสริมให้ชาวบ้านหาหอยหลอดแบบอนุรักษ์ โดยไม่เก็บหอยที่มีขนาดเล็กเพื่อให้ได้ขยายพันธุ์ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน โดยมีชาวบ้านเป็นไกด์ในการนำเที่ยว ทดลองการหาหอย ตกปลา และหาปู โดยจะได้สัตว์น้ำเหล่านี้กลับไปเป็นของฝากด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู








กำลังโหลดความคิดเห็น