กระบี่ - ปธ.สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ ครวญ Krabi sandbox ไม่ปัง ปัญหาเยอะ ระบุไฟลต์บินเริ่มทยอยหยุด เหลือนักท่องเที่ยวไม่ถึง 20% ผู้ประกอบการเริ่มจะสิ้นหวังกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล คาดท่องเที่ยวซบเซา
นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ ผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของ จ.กระบี่ ประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านนโยบายของรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปรับตัวไม่ทัน
ซึ่งต้องเข้าใจว่า การทำธุรกิจท่องเที่ยว เอเยนซีต้องทำตลาดล่วงหน้า และเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ทางรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ได้มีการปรับมาตรการและเงื่อนไขการเข้าประเทศไทยของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เพื่อรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนโดยไม่ต้องผ่านการกักตัวภายใต้โครงการ Test & Go (T&G) ทำให้มีนักท่องเที่ยวจองการเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีการะบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลโดย สบค.ก็ได้มีการยกเลิกโครงการ และเปลี่ยนมาใช้โครงการ Krabi Sand box
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดย ศบค.มีมติเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือ sandbox เพิ่มอีกจำนวน 3 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (ทั้งจังหวัด) และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จากเดิมมีจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) เพียงพื้นที่เดียว
สำหรับโครงการกระบี่ sandbox ต้องยอมรับว่าติดเงื่อนไขหลายอย่าง จึงทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเท่าที่ควร ซึ่งพบว่าในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าพักในพื้นที่ไม่ถึง 20% ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย
ในขณะที่ไฟลต์บินจากต่างประเทศที่บินตรงมาลงที่ จ.กระบี่ หลายไฟลต์บินเริ่มหยุดบิน เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ทางผู้ประกอบการเริ่มจะสิ้นหวังกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล และคาดว่าปีนี้ทั้งปี การท่องเที่ยวคงจะซบเซา แม้แต่ในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ก็ตาม
“ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาล การออกมาพูดในเรื่องของนโยบายต่างๆ ผู้ที่ออกมาสื่อสารควรจะเป็นคนคนเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด จนทำให้คนฟังเองสับสน และคำบางคำที่ไม่ควรใช้ก็กลับเอามาใช้ เช่น การเก็บค่าเหยียบประเทศ ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี ทั้งที่มีคำอื่นอีกหลายคำพูดที่ใช้แทนได้กลับไม่พูด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตเดินทางเข้าจังหวัดกระบี่ ต้องมีหลักฐานการรับวัคซีนตามจำนวนไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง ประวัติการติดเชื้อและการตรวจหาเชื้อ เด็กอายุ 12-17 ปี รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หากไม่มีหลักฐานต้องมากับผู้ปกครอง และเด็กอายุ 6-11 ปีต้องมากับผู้ปกครอง มีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ส่วนผู้ที่ติดเชื้อรักษาหายไม่เกิน 3 เดือนต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าหายหรือไม่มีอาการแล้วแม้ได้รับวัคซีน ผู้ติดเชื้อและได้รับวัคซีน 1 เข็มไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนการเดินทาง
ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เว้นแต่ผู้เดินทางที่มีสัญชาติไทยและมีสิทธิในการรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด ต้องเปิดแอปพลิเคชันหมอชนะภาษาอังกฤษไว้ตลอดเวลา ให้โรงแรมที่พักตรวจสอบทุกวัน หลักฐานยืนยันเวลาพำนักในโรงแรมชาร์เอ็กซ์ตราพลัส SHA EXTRA PLUS หรืออัลเทอร์เนทีฟควอลันทีน ในจังหวัดกระบี่อย่างน้อย 1 คืน พร้อมเอกสารชำระเงินค่าที่พักและค่าตรวจเชื้อด้วยวิธีอาร์ทีพีซีอาร์ ครั้งที่ 1
และให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีดังกล่าวครั้งที่ 2 ระยะเวลาที่พำนัก 5-6 วัน ที่ศูนย์สวอบเซ็นเตอร์ โดยรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ให้โรงแรมบันทึกผลการตรวจเข้าระบบ ผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดกระบี่ประเภทแซนด์บ็อกซ์ที่ได้รับอนุมัติเป็นเวลา 7 คืน สามารถย้ายที่พำนักได้ไม่เกิน 2 แห่ง มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างที่พำนักทั้ง 2 แห่ง พร้อมเอกสารการชำระเงินค่าที่พักและค่าตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง หากพำนักน้อยกว่า 7 คืน ต้องมีเอกสารเที่ยวบินตรงนอกประเทศทางท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดกระบี่เท่านั้น ให้มีการติดตามนักท่องเที่ยวขณะอยู่ในจังหวัดและออกนอกจังหวัดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลของศูนย์สื่อสารความเสี่ยงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ตั้งแต่วันที่ 1-9 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ 50-135 คน ส่วนผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 กลายสายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้ถือว่ายังไม่ทรงตัว ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อยืนยันตรวจด้วยวิธีอาร์ทีพีซีอาร์รายใหม่ในจังหวัด 35 คน แยกเป็นในจังหวัด 24 คน ต่างประเทศ 11 คน มีผู้ป่วยโควิดสะสม 12,970 คน ผู้ป่วยเข้าข่ายตรวจด้วยเอทีเค 119 คน ยอดสะสม 9,006 คน รักษาหายสะสม 21,370 คน กำลังรักษา 1,498 คน และเสียชีวิตสะสม 66 คน