ตรัง - ชาวตรังแห่วิ่งเข้าโรงจำนำ ยอมขนของมีค่าที่มีความหมายกับชีวิต เช่น ทองหมั้น แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน รวมทั้งของรักของหวง และเครื่องมือทำมาหากินประจำวันเอาเข้ามาจำนำกันเพิ่มมากขึ้น
จากปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเกิดจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หายมายาวนาน ส่วนราคาสินค้า เช่น เนื้อหมู ไก่ อาหารทะเล และอื่นๆ ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ราคายางพารายังตกต่ำเหลือแค่กิโลกรัมละ 46-48 บาท ทั้งที่กำลังเข้าสู่ช่วงปิดกรีด หรือช่วงหน้าแล้งแล้ว ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะบางครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินทุนสำรอง ส่งผลให้ขณะนี้โรงรับจำนำ หรือสถานธนานุบาลของรัฐ ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราถูก กลายเป็นทางเลือก และที่พึ่งที่สำคัญให้กับประชาชนเหล่านี้
นายประสาท พุทธาไฝ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ในแต่ละวันจะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 200-300 ราย โดยเฉพาะจำนำ และจ่ายดอก แต่ไถ่ถอนมีน้อยมาก ซึ่งทางสถานธนานุบาลได้รับทรัพย์มีค่าทุกชนิด ทั้งชิ้นเล็ก ชั้นใหญ่ แต่ต้องอยู่ในสภาพใช้งานที่สมบูรณ์ โดยทรัพย์ที่นำมาจำนำขณะนี้พบว่าจะเป็นของมีค่าที่มีความหมายในชีวิตของเจ้าของทรัพย์มากขึ้น เช่น ทองคำที่เป็นทองหมั้น แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน หรือแหวนที่ให้ในโอกาสพิเศษ รวมทั้งของใช้ที่เป็นของรักของหวง อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำอาหาร หรือการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องตัดหั่นเนื้อในร้านอาหาร นาฬิกาข้อมือ เครื่องดนตรี กีตาร์ คียฺบอร์ด เป็นต้น รวมทั้งโน้ตบุ๊ก เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททีวี เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องมือทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางคนนำทรัพย์สินมาจำนำไว้เป็น 10 ปีแล้ว ยังไม่ได้ไถ่ถอนคืน แต่ยังมาจ่ายดอกเบี้ยไม่ขาดสาย สังเกตได้จากเอกสารจำนำที่ติดไว้กับทรัพย์ที่มีลักษณะหนารวมกันหลายแผ่น ซึ่งแสดงว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน ยังต้องรอเวลาไถ่ถอนคืน ทั้งนี้ ทางสถานธนานุบาลเทศบาลนครตรัง มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยให้ และจัดสรรเงินทุนสำรองไว้สูงถึง 120 ล้านบาท นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 25 สตางค์ และเว้นไม่คิดดอกเบี้ย 2 เดือนแรก ส่วนเงินต้นที่เกิน 5,000 บาท จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท