xs
xsm
sm
md
lg

เวทีหาทางออกสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล “หาดทรายรี” สุดท้ายให้กรมโยธาฯ ชะลอเพื่อทบทวนรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - เวทีหาทางออกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล “หาดทรายรี” สุดท้ายได้ข้อสรุปแก้ปัญหา ให้กรมโยธาฯ ชะลอโครงการ รวมทั้งทบทวนรูปแบบการสร้างเขื่อนกันตลิ่งหาดทรายรี สถานที่ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวชุมพร

จากกรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี บริเวณหาดทรายรี หมู่ที่ 6 ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร มีความยาว 633 เมตร ตลอดแนวชายหาด งบประมาณ 82 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาในปี 2565 ทำให้ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และกลุ่มนักอนุรักษ์ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าว เพราะมองว่า อนาคตสถานที่ประวัติศาสตร์และชายหาดแห่งนี้จะหายไป เนื่องจากหาดทรายรี เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ มีพระตำหนักที่ประทับพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยที่ผ่านมาได้รวมตัวยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว


ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดเวทีหารือทางออกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี ขึ้นที่ห้องประชุมอาคารประวัติศาสตร์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต.หาดทรายรี อ.เมืองชุมพร โดยมี นายจิรวัฒน์ สุวรรณลิขิต โยธาธิการและผังเมือง จ.ชุมพร นายยุทธชัย จิตอารีรัตน์ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร มีผู้เข้าร่วมชี้แจง และ แสดงความคิดเห็นผ่านการถ่ายทอดระบบวิดีโอซูม เช่น รศ.ดร.สมฤทัย ทะสะดวก นักวิชาการภาควิศวกรรม รศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช นักวิชการภาควิศวกรรมชายฝั่ง นายจิรกร มุสิกะพันธ์ วิศวกร นายประทีป ณ ถลาง นักวิชาการสิ่งแวดล้อม วิศวกรผู้ออกแบบก่อสร้างของกรรมโยธาธิการและผังเมือง นักวิชาการอิสระ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย เข้าร่วมให้ข้อมูล ข้อชี้แจงและแสดงความคิดเห็น

สำหรับในส่วนของเวทีหารือทางออกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี มีการเชิญฝ่ายสนับสนุนโครงการ ได้แก่ ผู้ประกอบการชายหาด ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ กับฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแบบโครงสร้างการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อหาดทรายรี ประกอบด้วย นาวาเอกกิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รอง ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จ.ชุมพร นายธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ชุมพร ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร กลุ่ม Beach for life สภาประชาชนภาคใต้ และตัวแทนมูลนิธิภาคใต้สีเขียว


ทั้งนี้ กลุ่มนักอนุรักษ์ นักวิชาการ และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ มองว่าปัญหาการรุกและทำลายชายหาดที่แท้จริงไม่ใช่เกิดภัยจากธรรมชาติ แต่เกิดจากภัยของมนุษย์นั่นเอง เพราะชายฝั่งอ่าวไทยจะมีฤดูลมมรสุมตะวนออกเฉียงเหนือ หรือที่ภาคใต้เรียกว่า “ลมว่าว” ระหว่างกลางเดือนตุลาคม-ธันวาคมเป็นประจำทุกปี ทะเลมีคลื่นลมแรง่ กิจกรรมการท่องเที่ยวก็ปิดตัวตามฤดูกาลอยูแล้ว เมื่อหมดฤดูมรสุมคลื่นลมสงบและชายหาดจะกลับมาอยู่ในสภาพเดิม แต่ปัจจุบันคือมนุษย์ไปสร้างบ้าน สถานประกอบการ ซุ้มอาหารอยู่บนชายหาด จึงเกิดปัญหาขึ้นมา

ด้าน ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการสำรวจพบว่า ชายฝั่งอ่าวไทยด้าน จ.ชุมพร มีผลกระทบจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งน้อยมาก ดังนั้น กรมโยธาธิการฯ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้งบประมาณจำนวนมากสร้างเขื่อนซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งป้องกันชายฝั่งในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากจะเกิดแรงปะทะของคลื่นลม ทำให้เขื่อนพังในที่สุด และคลื่นจะเปลี่ยนทิศทางไปส่งผลกระทบกับพื้นที่ชายหาดอื่น


ขณะที่ผู้สนับสนุนโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการชายหาด บอกว่า พวกตนเป็นคนในพื้นที่มีอาชีพค้าขายมานาน แม้ที่ผ่านมาภาครัฐหลายหน่วยงานได้เข้ามาแก้ปัญหาสร้างเขื่อนและกำแพงกันคลื่น 2-3 ครั้ง ผ่านไปไม่กี่ปีก็ถูกคลื่นลมมรสุมซัดพังเสียหาย แต่ปัจจุบันพวกตนเชื่อมั่นวิศวกร การออกแบบ เครื่องจักร วัสดุโครงสร้างที่มีการพัฒนาให้แข็งแกร่งคงทนต่อสภาพคลื่นลมมรสุมได้มาก จะสามารถแก้ปัญหาให้พวกตนได้ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีใครได้รับความเดือดร้อนเหมือนกับพวกตนคนในพื้นที่ จึงต้องการให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน นายจิรวัฒน์ สุวรรณลิขิต โยธาธิการและผังเมือง จ.ชุมพร กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้มีคัดค้านการก่อสร้าง แต่เป็นฝ่ายที่มีความห่วงใยต่อการออกแบบก่อสร้างโครงการที่มองอาจจะส่งผลกระทบต่อชายหาด หรือทำให้หาดทรายรีไม่มีหาด และฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามตนพร้อมที่จะรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำเสนอไปยังส่วนกลาง ซึ่งโครงการดังกล่าวขณะนี้ได้ก่อสร้างโครงสร้างฐานล่างไปแล้วประมาณ 70% ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้หรือไม่จะมีการหารือกันในระดับที่เกี่ยวข้องต่อไป


ภายหลังการจัดเวทีหารือทางออกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี ได้มีข้อสรุปเสนอ 4 ข้อสำคัญต่อกรมโยธาฯ ในการแสวงหาทางออกกรณีดังกล่าว 1.ให้กรมโยธาธิการฯ ชะลอโครงการออกไปก่อนระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดการทบทวนการดำเนินโครงการ 2.ให้กรมโยธาธิการฯ ทบทวนรูปแบบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อชายหาดน้อยที่สุด 3.ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของประชาชนฝ่ายที่มีความห่วงใย และฝ่ายที่สนับสนุนโครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อหารือและปรับรูปแบบโครงการให้มีความเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชายหาดน้อยที่สุด 4.ให้มีมาตรการอื่นๆ ที่เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชายหาด รวมถึงศึกษามาตรการที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งสภาพชายหาดธรรมชาติของหาดทรายรี

โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับหลักการ 4 ข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกับจะมีการประสานงานกับผู้ราชการจังหวัดชุมพร ในการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น