คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
การที่ทหารจับนายอามีร ดอแต อายุ 29 ปี แนวร่วมบีอาร์เอ็นได้ตัวเป็นๆ ที่ ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ขณะขับรถจักรยานยนต์นำปืนเอชเค 2 กระบอก และเอ็ม 16 อีก 2 กระบอกที่ใส่ไว้ในถุงปุ๋ยไปเก็บซ่อน หลังรับมาจากแนวร่วมอีกชุดที่ใช้ซุ่มโจมตีรถยนต์สายตรวจตำรวจ สภ.รือเสาะ
นับว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และถือเป็นความสำเร็จของมาตรการสกัดกั้นทางหนีทีไล่ของคนร้ายหลังก่อเหตุ
ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จแบบฟลุกๆ หรือมาจากการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ก็ตาม ถือเป็นเรื่องต้องชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เพราะการจับแนวร่วมได้แบบตัวเป็นๆ ที่ไม่ถูกวิสามัญฯ เสียก่อน เรื่องนี้ที่ยังประโยชน์แก่หน่วยงานความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง
คำสารภาพของนายอามีร ไม่ว่าจะมาจากมาตรการ “สอบสวน” หรือ “ซักถาม” ก็แล้วแต่ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามปืนเนเกฟคืนได้อีก 1 กระบอก หลังนำไปฝังดินที่ ต.สาวอ อ.รือเสาะ แถมยังเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากฐานพระองค์ดำเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว
เหตุการณ์ปล้นปืนฐานพระองค์ดำครั้งนั้นเป็นการ “ละลายฐาน” ระดับกองร้อย มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตระดับ ผบ.ร้อย โดยแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ยึดเอาอาวุธปืนไปได้จำนวนหนึ่ง
ล่าสุด วันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา นายอามีร ดอแต ยังให้ความร่วมมือโดยนำเจ้าหน้าที่ไปขุด “ปุ๋ยยูเรีย” ได้อีก 1 ถังที่บ้านกาโด๊ะ ต.รือเสาะ ซึ่งเตรียมไว้ใช้ผลิตระเบิดเพื่อก่อความไม่สงบในพื้นที่
สรุปสั้นๆ ปืนยิงเร็วยี่ห้อต่างๆ ทั้ง 5 กระบอกที่ยึดมาได้ล้วนเป็นของราชการที่ถูกปล้นชิงและยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิตด้วย ซึ่งแสดงตลอดการทำ “สงครามประชาชน” ตั้งแต่ปี 2543 และ “สงครามกองโจร” ตั้งแต่ปี 2547 บีอาร์เอ็นไม่เคยใช้เงินซื้ออาวุธ แต่ล้วนเป็นของทางราชการ
และแม้แต่ปืน 18 กระบอกที่หายไปจากกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อ 3 เดือนก่อนก็เชื่อว่าอยู่ในมือของบีอาร์เอ็นเช่นกัน ส่วนกระสุนปืนที่ใช้แน่นอนว่าบีอาร์เอ็นต้องจัดหาเอง เพราะกระสุนที่ติดไปกับตัวปืนมีไม่มากพอใช้ปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ
นี่เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนับแต่บีอารเอ็นปฏิบัติการ “จุดไฟใต้” ระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2536 ด้วยการเผา 36 โรงเรียนในคืนเดียว จนถึงปัจจุบันนี้หน่วยงานความมั่นคงยังสืบไม่พบ จับไม่ได้ว่าบีอาร์เอ็นซื้อเครื่องกระสุนจากใครที่ไหน
ประเด็นต่อมา นายอามีร ดอแต นำเจ้าหน้าที่ไปขุดได้ทั้ง “ปืน” และ “ปุ๋ย” แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ อ.รือเสาะเป็น “แหล่งใหญ่” ของบีอาร์เอ็นทั้งการซ่องสุมคนและอาวุธ
นี่แค่แนวร่วมธรรมดาๆ ที่เป็นเพียงพลลำเลียงขี่รถจักรยานยนต์ไปรับอาวุธหลังคนอื่นก่อเหตุยังนำไปขุดปืนและปุ๋ย รวมถึงให้รายละเอียดปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นได้ว่า 1 ชุดประกอบด้วยกี่คน และหลังปฏิบัติการเสร็จมีการส่งมอบอาวุธกันอย่างไร นำไปส่งให้ใคร
แน่นอนอาวุธปืนในพื้นที่ อ.รือเสาะไม่ได้มีแค่ที่ยึดได้ และแนวร่วมก็ไม่ได้มีเพียงนายอามีร ดอแต คนเดียว ส่วนจะมีกี่คนและอยู่ที่ไหน รวมทั้งยังมีปืนของกลางถูกเก็บซ่อนไว้ที่ใดอีก นั่นย่อมเป็นหน้าที่ทหารติดตามขยายผลต่อไป ไม่ใช้ปล่อยให้จบเพียงได้ปืน 5 กระบอกและปุ๋ยยูเรีย 1 ถุงอย่างที่ประจักษ์
ที่สำคัญดูจากปฏิบัติการของ “อาร์เคเค” หรือแนวร่วมระดับหน่วยคอมมานโด “อาลีเมา” หรือเสือภูเขาที่เป็นกองกำลังในป่า และ “แกนนำสั่งการ” ในพื้นที่จะพบว่า บีอาร์เอ็นยังคงใช้แผนเดิมๆ ที่แกนนำถูกจับกุมไปตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หรือสมัยที่ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ยังเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 ให้รายละเอียดไว้
ทั้งที่เวลานี้ผ่านมาแล้วหลายปี เปลี่ยนมาแล้วหลายแม่ทัพ แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็ยังคง “เดินตามหลัง” บีอาร์เอ็นและปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธใช้แผนปฏิบัติการเดิมๆ ในพื้นที่ได้ตลอดมา
นี่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานความมั่นคง “รู้เขา” คือรู้แผนปฏิบัติการของเขาทุกขั้นตอน แต่ “ไม่รู้เรา” ว่าจะแก้ทางอย่างไรเพื่อเอาชนะ
นี่แสดงให้เห็นว่าแม้หน่วยงานความมั่นคงจะ “ไม่ถอยหลัง” แต่ก็ “ย่ำอยู่กับที่” มาตลอด เพราะถ้ามีความก้าวหน้าก็ต้องมีความสามารถทำลายแผนของศัตรูไปได้นมนานแล้ว
“จุดอ่อน” ของบีอาร์เอ็นคือเรื่องอาวุธ เพราะชุดโจมตีเจ้าหน้าที่หรือเป้าหมายบุคคลไม่ได้มีอาวุธติดตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น กองกำลังที่เคลื่อนไหวในป่าเขาหลังหมู่บ้าน ก่อนลงมือต้องมีคนนำปืนมาให้แล้วรับคืนหลังเสร็จภารกิจ โดยปืนจะถูกเก็บซ่อนในที่ปิดลับและจะรู้เฉพาะในการปฏิบัติการแต่ละครั้งเท่านั้น
ถ้าหน่วยงานความมั่นคงเข้าถึง “แหล่งข่าว” และปฏิบัติการทาง “มวลชน” ได้ผลจนยึดอาวุธกลับคืนได้มากที่สุด นั่นจะเป็นการลิดรอนเขี้ยวเล็บของบีอาร์เอ็นให้ลดน้อยถอยลง ซึ่งหากทำได้ความสูญเสียก็จะแทบไม่มีให้เห็น
“จุดอ่อน” ของหน่วยงานความมั่นคงตลอดกว่า 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่คือ “งานการข่าว” ขนาด “กลุ่มคนหน้าขาว” ในแต่ละหมู่บ้านก็ยังไม่รู้เลย แล้วจะหวังอะไรกับการไปทลายแหล่งเก็บอาวุธในแต่ละพื้นที่ได้เล่า
ต้องขอบอกว่าปืน 5 กระบอกและปุ๋ยยูเรีย 1 ถุงที่ยึดดังกล่าวไม่ใช่เป็นผลมาจาก “การข่าว” แต่เป็นเพราะเส้นทางหลบหนีของนายอามีร ดอแต มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ตรงนั้นพอดี แถมยังเป็นแค่แนวร่วมปลายแถวจึงไม่คิดต่อสู้ และที่ให้ความร่วมมือเพราะจนมุมเท่านั้น
ถ้าปฏิบัติการปิดล้อม “หัวโจก” บีอาร์เอ็นในหลายๆ ครั้ง “จับเป็น” มาสู่กระบวนการ “สอบสวน” หรือ “ซักถาม” ได้น่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะจะได้รับรู้ข้อมูลฝ่ายบีอาร์เอ็นเพิ่มขึ้น
หรือว่าลึกๆ แล้วหน่วยงานความมั่นคงไม่ต้องการรู้ “ความลับ” อะไรเลยจากบีอาร์เอ็น เพียงแต่ต้องการให้สถานการณ์ดำรงอยู่อย่างที่เป็นมา เหมือนกับที่ประชาชนในพื้นที่บอกเล่าต่อๆ กันมากว่า 50 ปีว่า “ไฟใต้สงบ งบไม่มา”