ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณคว้า 8 รางวัล จากการนำเสนอผลงานวิจัย และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา บนเวที “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 เวทีระดับชาตินำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมคุณภาพ เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้ Theme “THAKSIN UNIVERSITY LOCAL ENTERPRISE & SOCIAL INNOVATIONS : เกษตรเพิ่มมูลค่านวัตกรรมเพื่อชุมชน” โดยยกทัพนำผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยต่างๆ มากมาย อาทิ ผักเหลียงอบกรอบ, ส้มโอทับทิมสยาม, กรรมวิธีการปลูกคะน้า โดยการกำหนดอัตราที่เหมาะสม, TSU Nano Mask, TSU Herbal Alcohol Spray รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่พึ่งเปิดตัวไปล่าสุดอย่าง ABI HASU ไปนำเสนอให้กับผู้เข้าร่วมงานได้รับชม
นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงาน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ทักษิณ ผศ.อนงค์ ภิบาล คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ทักษิณ และนายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ” เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ภายใต้การบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างนวัตกรชุมชนทางด้านการดูแลผู้สูงอายุ พร้อมไปกับการพัฒนาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุสำหรับคนทุกช่วงวัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมสู่ชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนาในพื้นที่ จ.พัทลุง
สำหรับมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ปีนี้ วช.ได้จัดให้มีการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2564 ซึ่งนิสิต นักวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้คว้ารางวัล 8 รางวัล จากการนำเสนอผลการประดิษฐ์งานวิจัยและนวัตกรรมของนิสิตในครั้งนี้ด้วย แบ่งเป็นระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 3 รางวัล และระดับปริญญาตรี 5 รางวัล ดังนี้
รางวัลระดับบัณฑิตศึกษา 3 รางวัล
1. รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการ ระดับรางวัลดี
2. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับรางวัลดีเด่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (ระดับบัณฑิตศึกษา) เรื่อง “เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนพลังงานชีวมวลเพื่อเพิ่มสมรรถนะโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” จากผลงานของ น.ส.อมาวสี รักเรือง โดยมี รศ.ดร.จตุพร แก้วอ่อน ดร.นเรศ ฉิมเรศ และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
3. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับรางวัลดีเด่น ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model (ระดับบัณฑิตศึกษา) เรื่อง “กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการบำบัดน้ำเสีย จากสิ่งทอด้วยฟิล์มพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต ชนิดสายยาวปานกลาง” จากผลงานของ น.ส.ธนาภรณ์ รักการ และ น.ส.นาริสา บินหะยีดิง โดยมี รศ.ดร.กนกพร สังขรักษ์ และนายโอภาส ชูนุตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รางวัลระดับปริญญาตรี 5 รางวัล
1. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับรางวัลดี ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (ระดับปริญญาตรี) เรื่อง “เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อยางอัตโนมัติ พร้อมแอปพลิเคชั่น เพื่อคำนวณรายได้บนสมาร์ทโฟนสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพารา” จากผลงานของ นายเมธัส สุทธิการ น.ส.นุศญา ลีนะธรรม นายชยานันท ชบาพฤกษ และนายอรรถพล แกวรมไทร โดยมี ดร.จิราพร ชอมณี และนายศุภกร กตาธิการกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
2. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับรางวัลดีมาก ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (ระดับปริญญาตรี) เรื่อง “เครื่องตรวจสอบคุณภาพฟ้าทะลายโจรแบบมือถือ” จากผลงานของ น.ส.ปิยวรรรณ เสมามิ่ง โดยมี ผศ.ดร.ณวงศ์ บุนนาค และ ผศ.ดร.ชุติมา แก้วพิบูลย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
3. รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการ ระดับรางวัลดี ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model (ระดับปริญญาตรี) เรื่อง “เครื่องควบคุมอุณหภูมิและความขุ่นด้วย IoT ผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับบ่อเลี้ยงกุ้ง (กุ้งมีสุข)” จากผลงานของ น.ส.นลพรรณ มณี และ น.ส.ณัฐกมล มากทองน้อย โดยมี ดร.จิราพร ช่อมณี และนายศุภกร กตาธิการกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
4. รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการ ระดับรางวัลดีเด่น ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ระดับปริญญาตรี) เรื่อง “การพัฒนาชุดทดลองเพื่อการศึกษาสมดุลวัฏภาคระหว่างของแข็งกับของเหลว พร้อมสื่อการเรียนรู้อัจฉริยะแสดงผลผ่านระบบ IoT ร่วมกับ Web browser บน Platform ออนไลน์สำหรับ Smart-Lab” จากผลงานของ นายเสกข์ หาญดี น.ส.นิสากร นครังค์ และนายฐิติพงศ์ ปะดุกา โดยมี อ.ดร.จิราพร ช่อมณี นายศุภกร กตาธิการกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
5. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับรางวัลดี ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ระดับปริญญาตรี) เรื่อง “สื่อการเรียนการสอนการหาความเร็วเสียง และความเร็วแสงในอากาศ” จากผลงานของ นายศุภกร กตาธิการกุล น.ส.พัชราภรณ์ ช่วยสง น.ส.ศุภรัตน์ มงคลบุตร และนายสุรีวงค์ นุ่นชูผล โดยมี ผศ.มารีนา มะหนิ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
และเหรียญรางวัลรวม 18 เหรียญ แบ่งเป็นเหรียญทอง 7 เหรียญ เหรียญเงิน 11 เหรียญ โดยการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ติด 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยที่มีผลงานการประดิษฐ์ งานวิจัย และนวัตกรรมของนิสิตที่ได้รับรางวัลมากที่สุด ในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่เข้าร่วม