กระบี่-พังงา - พอช.และเครือข่ายบ้านมั่นคงภาคใต้ จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดกระบี่ เพื่อนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินของประชาชนที่มีรายได้น้อยในช่วงที่จัด ‘ครม.สัญจร’ ที่กระบี่ มีทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลน ที่ดินป่าไม้ ด้านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และ รมว.พม. จุติ ไกรฤกษ์ ร่วมมอบบ้านใหม่ให้ชาวชุมชน
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก ในปีนี้ วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ในประเทศไทยขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ พอช. จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนทั่วภูมิภาค
ที่ภาคใต้ กระทรวง พม. พอช. ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ที่จังหวัดกระบี่ และพังงา ในระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีกำหนดประชุม ‘ครม.สัญจร’ ที่จังหวัดกระบี่ได้เห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ และขบวนองค์กรชุมชนร่วมกันดำเนินงาน เช่น โครงบ้านพอเพียงชนบท บ้านมั่นคงชนบท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ป่าไม้
นายธนพล เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดกระบี่และพังงาจะจัดขึ้นในชุมชนต่างๆ ที่มีรูปธรรมการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป เช่น ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าชายเลน ซึ่งมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแล รวมทั้งบางชุมชนอาจมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
ที่ชุมชนทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็น 1 ใน 5 ชุมชนที่มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมงานเพื่อเป็นประธานในพิธีมอบบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนทรายขาว ที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว จำนวน 12 หลัง ในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดย พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านใหม่ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น สร้างสะพานคอนกรีต รวมทั้งปรับปรุงกายภาพชุมชนให้ดีขึ้น จากเดิมที่ชุมชนมีสภาพแออัด บ้านเรือนทรุดโทรม สะพานไม้ผุพัง รวมทั้งหมด 246 ครัวเรือน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท)
นายสมรัตน์ ทองรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ กล่าวว่า ชุมชนทรายขาว มีชาวบ้านทั้งหมด 246 ครัวเรือน เกือบทั้งหมดมีอาชีพประมงพื้นบ้าน จับปลา กุ้ง หอย ปู และกั้ง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากมีพ่อค้ามารับซื้ออาหารทะเลลดน้อยลง เพราะส่วนใหญ่พ่อค้าจะนำไปจำหน่ายต่อให้ร้านอาหาร เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ขายอาหารทะเลได้น้อยลงด้วย
“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าชายเลนที่ชาวบ้านอยู่อาศัยนั้น ทางเทศบาลตำบลทรายขาว ได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนชุมชนที่เดือดร้อน ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดิน โดยเสนอขอใช้ที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวชุมชนผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด หรือ ‘คทช.’ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานเจ้าของที่ดินคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้อนุมัติการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องต่อไปแล้ว” นายสมรักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานที่ชุมชนตำบลอ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งทะเล จำนวน 228 ครัวเรือน พอช.สนับสนุนงบประมาณการซ่อมสร้างบ้านใหม่ รวมทั้งสะพานคอนกรีตในชุมชน งบประมาณรวม 8.9 ล้านบาทเศษ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. จะเดินทางมามอบบ้านและเยี่ยมเยียนชาวชุมชนในวันที่ 15 พฤศจิกายน
นอกจากนี้ รมว.พม.จะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนและมอบบ้านพอเพียงชนบทที่ ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ ในวันเดียวกัน จำนวน 17 หลัง งบประมาณสนับสนุนรวม 340,000 บาท รวมทั้งมอบงบประมาณรวมโครงการบ้านพอเพียงชนบทภาคใต้ ปีงบประมาณ 2565 รวม 4,800 ครัวเรือน จำนวน 100,320,000 บาท ส่วนในวันที่ 16 พฤศจิกายน รมว.พม.จะเดินทางไปมอบบ้านมั่นคงชนที่ ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งทะเล รวม 337 ครัวเรือน งบประมาณสนับสนุน 12 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ โครงการบ้านมั่นคงชนบท พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการซ่อมสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมบ้านที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน) ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท หากเกินงบประมาณเจ้าของบ้านจะต้องสมทบเอง หรือชุมชนท้องถิ่นช่วยสนับสนุน โดยมีช่างชุมชน และช่างจิตอาสาที่มาจากภูมิภาคต่างๆ ประมาณ 100 คน ช่วยกันลงแรง ทำให้ประหยัดงบประมาณ และซ่อมสร้างได้รวดเร็ว กรณีซ่อมบ้านประมาณ 3-5 วัน สร้างบ้านใหม่ 7-15 วัน
นอกจากนี้ เจ้าของบ้านที่ร่วมโครงการจะสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นๆ (ตามแต่ข้อตกลง) เช่น หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณซ่อมบ้าน 20,000 บาท จะต้องออมเงินเข้ากองทุน 10% หรือ 2,000 บาท โดยทยอยออมเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 200 บาท เพื่อให้กองทุนเติบโต นำไปช่วยผู้เดือดร้อนรายอื่น
ส่วนการดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่จะมีคณะกรรมการดำเนินงานในชุมชนเพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อนจริง มีการจัดซื้อวัสดุร่วมกัน เพื่อให้ได้ส่วนลด (ไม่ช่วยเหลือเป็นเงินสด) มีคณะกรรมการจัดซื้อ ตรวจสอบ รับมอบงาน เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส ผู้ที่เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง