xs
xsm
sm
md
lg

“นิพนธ์” ชูปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เสริมแรงภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ชูปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เสริมแรงภาคการท่องเที่ยว ช่วยพยุงเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในเวทีมอบนโยบายการเสนองบประมาณปี 2566 ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่โรงแรมต้นอ้อยแกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกลั่นกรองแผนงานโครงการ อ.ก.บ.ภ.ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของจังหวัด และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และ จ.สงขลา) โดยมี นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณโครงการ


นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในวันนี้มามอบนโยบาย พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสแรก ซึ่งรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว เมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ GDP กระทบต่อการจ้างงาน มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรที่เป็นโครงสร้างหลักประเทศ มีครัวเรือนกว่า 8 ล้านครัวเรือน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างจริงจังที่กำลังทำอยู่ เช่น โครงการประกันราคาพืชเกษตร 5 ชนิด ที่ถือเป็นการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายในตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าภาคการเกษตร เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย (food safety)

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นอีกหนทางในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลจึงอยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมฝากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น การดำเนินการจัดสรรงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณท้องถิ่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขอให้การจัดทำแผนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ และการแก้ไขของพื้นที่ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ การให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคเกษตร เน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการรวมกลุ่ม


ส่วนภาคบริการให้ภาครัฐจัดอบรมสัมมนาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้สถานประกอบการ ธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหาร โรงแรม และจะต้องไม่ซ้ำซ้อน ต้องแยกโครงการให้ชัดเจน ส่วนความปลอดภัยทางถนน ให้สนับสนุนงบประมาณสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน แม้จะลดลงแต่ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่การอบรมออนไลน์จะต้องมีการประเมินผล เน้นหนักกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น พ่อแม่เป็นเกษตรกร ส่วนลูกขายของออนไลน์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างมูลค่า สนับสนุนให้เขาสามารถเป็นเจ้าของกิจการให้ได้

นอกจากนี้ จะต้องดูเรื่องการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณของแต่ละจังหวัด หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรมีการโอนเปลี่ยนแปลงโครงการ และงบประมาณ เนื่องจากจะทำให้แผนที่วางไว้ไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และมีความพร้อมดำเนินการได้ทันที (ความพร้อมด้านที่ดิน สถานที่ รูปแบบรายการ และบุคลากร) สามารถยกระดับรายได้เกษตรกร เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว หรือยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ให้ดำเนินการโครงการให้สอดคล้องกับพื้นที่ และจะต้องเป็นไปตามระเบียบทุกโครงการ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จังหวัดควรจะต้องมีแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกัน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที






กำลังโหลดความคิดเห็น