xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนในยะลาเงียบเหงา หลัง ศบค.จังหวัดยังไม่อนุญาตเปิดเรียนแบบปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - โรงเรียนในจังหวัดยะลาเงียบเหงา หลัง ศบค.จังหวัดยังไม่อนุญาตเปิดเรียนแบบปกติได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังสูง ขณะที่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนต้องเดินทางมารับใบงาน เพื่อนำกลับไปประกอบสำหรับการเรียนที่บ้าน

วันนี้ (1 พ.ย.) ที่ จ.ยะลา บรรยากาศการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปี 2564 ในพื้นที่จังหวัดยะลา เป็นไปอย่างเงียบเหงา โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ยังคงทำการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจาก ศบค.ยะลา ยังไม่อนุญาตให้เปิดเรียนอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งจังหวัดยะลายังอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 7 จังหวัด

โดยที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา ครูผู้สอนยังคงเดินทางมาทำงานตามปกติ โดยได้ทำการสอนนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ เช่นเดียวกันกับที่โรงเรียนบ้านเบอเส้ง ต.สะเตงนอก และโรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ยังไม่มีการเปิดทำการเรียนแบบ On-Site แต่อย่างใด


นายนพปฎล มุณีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การจัดการเรียนการสอนในช่วงนี้จัดแบบผสมผสาน โดยใช้นโยบายของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามาจัดการ เช่น การจัดการเรียนการสอนสดในหน้าจอ เราจะให้ครูสอนไม่เกิน 30 นาทีต่อคาบ เพื่อให้เด็กได้พักสายตาและผ่อนคลาย เพื่อที่จะลดทอนความเครียดของเด็กนักเรียน เพราะฉะนั้นในส่วนของนโยบายของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานทางโรงเรียนได้นำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ดูแลความปลอดภัย ให้โอกาส และคำนึงถึงคุณภาพในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้

ขณะที่บรรยากาศโรงเรียนบ้านเบอเส้ง จ.ยะลา วันนี้มีผู้ปกครองและเด็กนักเรียนเดินทางมารับใบงานเพื่อนำกลับไปประกอบสำหรับการเรียนที่บ้าน โดยเป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยนางสาหานิ สาและ รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเบอเส้ง เปิดเผยว่า ผู้ปกครองให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่มารับใบงาน เพราะทางโรงเรียนยังเปิดรูปแบบออนไซต์ไม่ได้ เนื่องจากว่านักเรียนโรงเรียนของเรามีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก รวมถึงผู้ปกครองด้วย ฉะนั้นการที่เราจะเปิด On-site คงจะยังไม่ได้ ยังคงที่จะต้องใช้ On-hand และ On-demand แทนก่อน

ทั้งนี้ ทั้ง 2 โรงเรียนยังคงมีอุปสรรคเหมือนกันคือ หลังจากที่เปิดเรียนมา 1 ภาคการเรียนที่ผ่านมานั้น นักเรียนไม่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ แต่ทางโรงเรียนได้มีการแก้ปัญหาในส่วนนี้ เช่น ให้คอมพิวเตอร์ไปยืมเรียนที่บ้าน สำหรับเด็กที่ขาดโอกาสจริงๆ ทางโรงเรียนจัดในลักษณะโครงการให้ พร้อมซิมอินเทอร์เน็ตให้นักเรียนได้กลับไปใช้ ฉะนั้นเมื่อเจอปัญหาหลายทาง ทางโรงเรียนจะมีทีมมาช่วยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาให้นักเรียนทุกคน เพื่อให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ให้ผ่านพ้นไปได้






กำลังโหลดความคิดเห็น