xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ระงับโครงการสร้างเขื่อนที่หาดทรายรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - เครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร ยื่นหนังสื่อผ่านผู้ว่าฯ ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับเขื่อนป้องกันกันคลื่นงบ 80 ล้าน บนหาดทรายรี เพราะไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะส่งผลเสียระยะยาว

เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (26 ต.ค.) ตัวแทนชาวเครือข่าวคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร นำโดย นายยุทธนา สันติวิมล ตัวแทนประชาชนหาดทรายรี นายวัตโชติ อนันตเมฆ แกนนำกลุ่มมิตรเต่า SupBoardChumporn ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวหาดทรายรี นายธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รอง ผวจ.รักษาราชการแทน ผวจ.ชุมพร ผ่านถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ตัวแทนเครือข่าวคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร กล่าวว่า จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ภัยทางธรรมชาติ และการคุกคามจากมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าสาเหตุหลักมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล ส่งผลให้หาดทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงต่อเนื่อง


เมื่อพิจารณาแล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กล่าวมานั้นมีต้นตอของปัญหาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีปัญหาเชิงนโยบายที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจน และจะจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโครงการอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายคนรักษ์อ่าว จ.ชุมพร ได้เล็งเห็นว่าเพื่อให้มีการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการดังนี้

1.ให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดทรายรี ซึ่งในทางวิชาการมีข้อมูลชัดเจนว่าการขุดทำลายชายหาดให้สูญสภาพ ทั้งโครงสร้างสัณฐานชายหาด ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในเชิงนิเวศในการปกป้องชายฝั่งและสันทนาการ จึงถือเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชายหาด ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่กฎหมายที่บัญญัติ

2.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง


3.ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

4.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไปอย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราวที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

5.รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง


6.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเองในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

7.คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

8.รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน



กำลังโหลดความคิดเห็น