ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน พร้อมสนับสนุน “กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์” พัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เพิ่มสร้างรายได้
เมื่อวันที่ 18-19 ต.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะหัวหน้าโครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์) ได้เปิดการประชุมครั้งที่ 2 โครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกข์) ภาคยุทธศาสตร์และปฏิบัติการทดสอบตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองสุขภาพ เป็นระบบประชุมออนไลน์ Zo๐m Meeting ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ โรงแรมในเขตพื้นที่ตำบลกะรน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่จำนวน 150 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลกะรน
เพื่อฝึกปฏิบัติการทดสอบตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองสุขภาพ ระดมความคิดเห็นของประชาชนในการออกแบบแนวคิด การออกแบบรายละเอียด แผนการปรับปรุงฟื้นฟูด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคของเขตส่งเสริมสุขภาพ การออกแบบเมือง และแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองสุขภาพ
โดยโครงการฯ มีที่มาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพ และจะทำให้ประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) หรือ 10 อุตสาหกรรม S-Curve โดยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินการต่อยอด
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องศึกษา และพัฒนาการบริการด้านสุขภาพต่อไปอย่างเข้มข้น ให้มีความทันสมัย ด้วยวิธีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือด้านการตลาดควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาความร่วมมือการพัฒนาเมืองสุขภาพ โดยกำหนดให้กะรนเป็นพื้นที่ต้นแบบ กะรนเวลเนส แซนด์บ็อกซ์ โดยมีนายวัลลภ นาดอน รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน นายก้าน ประชุมพรรณ รองประธานกฎบัตรสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมเสวนาถึงความพร้อมของตำบลกะรนในการเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพ หรือกะรนเวลเนส แซนด์บ็อกซ์
นายวัลลภ นาดอน รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน กล่าวว่า เทศบาลตำบลกะรนมีความพร้อมในการที่จะสนับสนุนผลักดันให้กะรนเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะพื้นที่กะรนมีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงแรมที่พักที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อดูแลสุขภาพ กิจกรรมต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวมีความพร้อมในการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งชายหาด ทางเท้า สวนสาธารณะ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมกิจกรรมด้านกีฬาโดยเฉพาะการเล่นเซิร์ฟที่นิยมกันมาก รวมไปถึงการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการรองรับ
ด้านนายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทาง ม.อ.ภูเก็ต เข้ามาทำวิจัยเพิ่มศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลกะรน เพราะกะรนมีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของกะรนที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้เป็นอย่างดี และมั่นใจว่าแนวคิดดังกล่าวจะส่งผลดีต่อ 17 กลุ่มอาชีพในพื้นที่กะรนอย่างทั่วถึง
ขณะที่ นายก้าน ประชุมพรรณ รองประธานกฎบัตรสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักลงทุนในพื้นที่ตำบลกะรนมากว่า 20 ปี ทำให้เห็นวิวัฒนาการการท่องเที่ยวของหาดกะรนมาโดยตลอด และมองว่ากะรนเป็นเมืองน่าอยู่ มีความปลอดภัย และคนในชุมชนร่วมมือกันเป็นอย่างดีในทุกเรื่อง แต่เมื่อหลังโควิด-19 มองว่าการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการและคนในพื้นที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วง 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่พื้นที่กะรนมีศักยภาพสูง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ เทศบาลตำบลกะรน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กะรน
นายธนภัทร อุทวราพงศ์ กรรมการสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอ่าวไทย-อันดามัน กล่าวว่า กะรนเป็นพื้นที่มีศัยภาพในการที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เพราะกะรนเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงแรมที่พักที่มีความพร้อมที่จะเป็นโรงแรมเวลเนส
ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการอบรมไปแล้ว 20-30 แห่ง ความพร้อมในเรื่องของสถานที่ตั้งที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาและทะเลที่สวยงาม รวมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนที่กะรนจะเป็นกลุ่มครอบครัว นอกจากนี้ กะรนยังมีพื้นที่เหมาะสมในการเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีชายหาดที่สวยงาม มีป่าชุมชนถึง 4 แห่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพื่อสันทนาการออกกำลังกาย เดินเล่น และท่องเที่ยว เช่น ผาหินดำ แหลมกระทิง ฝ่ายบางลา รวมไปถึงการพัฒนาคลองมรกต เป็นต้น รวมทั้งกะตะ กะรนยังเป็นจุดที่เล่นเซิร์ฟอีกด้วย
นายธนภัทร ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อประกาศให้พื้นที่กะตะกะรน เป็นเวลเนสของโลก ที่จะดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจการดูแลสุขภาพเข้ามาพักในโรงแรมเวลเนสและทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ผ่านทางเพจเกจที่ผู้ประกอบการจัดขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของกะตะกะรนเพิ่มขึ้นอีก
2-3 เท่า จากกิจกรรมเวลเนส