ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงพยาบาลหาดใหญ่ลงนามร่วม 3 ฝ่าย ปรับเปลี่ยนโรงแรมเป็นศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) หลังสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดกลับมาพุ่งสูงอีกรอบ ป้องกันปัญหาคนไข้ล้นเตียง ให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลผู้ติดเชื้อขั้นต้นในชุมชน
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) การปรับเปลี่ยนโรงแรมเป็นศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ระหว่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ ร่วมกับผู้แทนจากเทศบาลเมืองควนลัง และโรงแรมซิตี้ปาร์ค เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งภาพรวมของทั้ง อ.หาดใหญ่ และใน จ.สงขลา มีการพบผู้ติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉาะในรอบสัปดาห์นี้ที่ทะยานขึ้นอันดับ 2 ของประเทศในส่วนของผู้ติดเชื้อรายวัน
นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เผยว่า ความร่วมมือของ 3 ฝ่ายในครั้งนี้เป็นการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ โดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนโรงแรมเป็นศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ไว้รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยเข้ารับการดูแลรักษาในขั้นต้น แต่หากมีอาการที่มากขึ้นจะมีการตรวจ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามแต่ระดับความรุนแรงของอาการ และเป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลักที่จะต้องให้การรักษาผู้ป่วยอาการหนักได้ดีมากขึ้น
โดยขณะนี้ที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ในย่านซอย 17 ถนนเพชรเกษม อ.หาดใหญ่ ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่เอาไว้สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ราว 120 เตียง ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าน่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้ได้ราวกลางเดือนนี้ โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ และใช้เจ้าหน้าที่หลักจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสารธารณสุขในพื้นที่คอยดูแลผู้ติดเชื้อตามมาตรฐานสาธารณสุข และปลอดภัยต่อคนในชุมชน และจะเปิดไปจนกว่าสถานการณ์จะลดลง หรือคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เผยด้วยว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดศูนย์แยกกักตัวในชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยการอาศัยความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดพุ่งสูงต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 400-600 คน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยจะไม่มีเตียงรักษา ซึ่งจากการประชุมล่าสุดพบว่าภาพรวมทั้งจังหวัดมีเตียงรองรับได้ราว 6,700 เตียง ใช้ไปประมาณ 6,200 เตียง และยังคงเหลือเกือบ 500 เตียง จึงจำเป็นต้องเร่งหาสถานที่เพื่อรับมือไม่ให้คนไข้ล้นเตียง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากนี้