xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ยะลาเตรียมบังคับใช้กฎหมายควบคุมโรคติดต่อหลังพบผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง คาดอาจเกิน 2 หมื่นรายสิ้นเดือนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเตรียมบังคับใช้กฎหมายการควบคุมโรคติดต่อ หลังยะลามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา คาดการณ์หากประชาชนยังละเลยการปฏิบัติตน อาจมีผู้ติดเชื้อสูงเกิน 2 หมื่นรายในห้วงเดือนตุลาคมนี้

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมีนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.สกนธ์ อนนทรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ร่วมกันแถลงข่าว

นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คล้ายกับสถานการณ์ของกรุงเทพฯ หลังจากที่มีคำสั่งคลายล็อกมาตรการต่างๆ ทำให้มีการแพร่ระบาดและมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจังหวัดยะลาเองนั้นในขณะนี้ยังไม่มีการล็อกดาวน์จังหวัด เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่การติดเชื้อนั้นพบว่ามีการแพร่กระจายเป็นกลุ่ม พบการติดเชื้อกันภายในครัวเรือนเกิดจากความบกพร่อง ไม่ระวังตัวและประมาท สาเหตุเพราะมีการฉีดวัคซีนเยอะ และในกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงเช่นกัน ซึ่งทางรัฐบาลได้มีคำสั่งกำชับมาอย่างต่อเนื่อง และทางจังหวัดได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง และทางจังหวัดยังคงเร่งมาตรการในการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ยังกล่าวอีกว่า จังหวัดยะลา มีอัตราการติดเชื้อรายวันที่สูง ล่าสุด วันนี้ (7 ต.ค.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 741 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่รับการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้การฉีดวัคซีนของจังหวัดยะลามีอยู่ 2 ส่วน คือ การฉีดวัคซีนให้บุคคลทั่วไป และการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กเยาวชนที่อายุ 12-18 ปี ซึ่งมีอยู่จำนวน 30,000 กว่าราย และจังหวัดยะลาเองได้รับการจัดสรรวัคซีนมาให้ในกลุ่มเด็ก เยาวชน จำนวน 20,000 โดส ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการฉีดให้ครบภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอที่พบการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ อ.เมืองยะลา (9,478) อ.บันนังสตา (4,675) อ.รามัน (3,714) อ.ยะหา (2,929) ตามลำดับ การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมโยงจากการติดเชื้อในลักษณะเดิม คือ การติดเชื้อในบ้านและชุมชนเชื่อมโยงไปที่ทำงาน โรงงาน สถานประกอบการ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงในชุมชน

และภายหลังผ่อนคลายมาตรการ การเดินทาง การนั่งรับประทานอาหารร่วมกันที่มีโอกาสทำให้เกิดการสัมผัสมากขึ้น และการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นและบุคคลในครอบครัวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน และบางคนรับวัคซีนแล้วคิดว่าปลอดภัย การ์ดตกในเชิงพฤติกรรมการป้องกัน ประกอบกับการตรวจหาเชื้อเชิงรุก จึงส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงขึ้นต่อเนื่อง ติด 1 ใน 10 ของประเทศ


จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงนี้ภายในสัปดาห์เฉลี่ยอยู่ที่ 572 รายต่อวัน คาดการณ์แนวโน้มการระบาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงประมาณเดือนธันวาคม 2564 (ผู้ป่วยจำนวนค่าคาดการณ์ จะต้องค้นหา 1 คน : ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 20 คน และมีโอกาสพบผู้ป่วยจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 เปอร์เซ็นต์) และหากพบว่ามีบุคคลหรือตนเองมีอาการติดเชื้อ สามารถที่จะโทร.สายด่วน 1567 ได้จนถึงเวลา 21.00 น.ของทุกวัน

จากสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดโควิด-19 จังหวัดยะลา ศบค.จ.ยะลาจึงเร่งรัดการควบคุมการระบาดในเดือนตุลาคมนี้ โดยลดรายใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกำหนดมาตรการประกอบด้วย

1.ให้ส่วนราชการ/องค์กร จัดทำแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์การระบาด
2.ศปก.อ.ดำเนินการ
     2.1 ใช้มาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงที่พบอัตราป่วยสูงต่อเนื่อง ร่วมกับสนับสนุนวัคซีนในชุมชนที่ระบาดและชุมชนที่มีอัตราป่วยต่ำที่อยู่ใกล้เคียง
     2.2 เพิ่ม HI/CI โดยการยกระดับ SQ(LQ) เป็น CI เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการตรวจ ATK ที่เพิ่มมากขึ้น
     2.3 กวดขัน ติดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ/ร้านอาหาร/ร้านน้ำชา (Covid-19 Free Setting) หากพบฝ่าฝืนให้บังคับใช้กฎหมาย
     2.4 เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์โรค/สถานการณ์เตียงและเน้นย้ำการป้องกันตนเอง แบบ Universal Prevention
3.การตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลบวก ให้เข้า CI ทุกราย
4.เร่งรัดการฉีดวัคซีนทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 50 ทุกอำเภอ ภายในเดือนตุลาคม 2564

ด้าน นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวถึงการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานด้านวัคซีนว่า เป้าหมายการดำเนินให้บริการวัคซีนเดือนตุลาคม ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ผลงานคิดร้อยละ 50 ทุกจังหวัด และมีอย่างน้อย 1 อำเภอ มีความครอบวัคซีนร้อยละ 70 ภาพรวมผลการให้บริการฉีดวัคซีน ณ จุดให้บริการ จากจำนวนประชากรทั้งหมด มีผลงานร้อยละ 57.98 อำเภอที่มีผลงานเกิน ร้อยละ 50 คือ อำเภอเมืองยะลา และเบตง ส่วนอำเภอที่เหลือเร่งสนับสนุนวัคซีนเพื่อให้มีความครอบคลุมตามเป้าหมาย

ผลการดำเนินการในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป (กลุ่ม 608) มีเป้าหมาย 66,920 คน ภาพรวมมีผลการให้บริการวัคซีน ร้อยละ 52.44 เป้าหมายกลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิต อำเภอที่มีผลงานมากที่สุด อำเภอเบตง ร้อยละ 70.79 อำเภอเมืองยะลา ร้อยละ 61.22 ส่วนอำเภออื่นๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40

กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า (ปวช./ปวส.) มีเป้าหมายทั้งหมดทุกสังกัด 48,272 คน แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีน 32,042 ร้อยละ 66.38 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกระทรวงศึกษา และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับสนับสนุนวัคซีนรอบแรก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 จำนวน 20,760 โดส อยู่ระหว่างการดำเนินการให้บริการ คาดว่าจะให้บริการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์


ส่วนวัคซีนที่เหลือจะได้รับสนับสนุนในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 เดือนตุลาคม 2564 โดยมีคณะกรรมการวัคซีนเป็นผู้พิจารณาจัดสรร และกระจายวัคซีนตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และขับเคลื่อนการดำเนินงานโย ศปก.อำเภอทุกแห่ง

และจากการคาดการณ์จะเห็นได้ว่าในเดือนสิงหาคม จังหวัดยะลามีผู้ป่วยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 ราย หลังจากนั้นเดือนกันยายนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 11,000 ราย และหากว่าตามคาดการณ์หากสถานการณ์ยังคงอยู่อย่างนี้ จังหวัดยะลาอาจจะมีผู้ป่วยติดเชื้อสูงถึงเดือนละ 20,000 ราย หรือวันละประมาณ 700 คน

ส่วนสถานการณ์เตียงในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จังหวัดยะลา มีโรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง และโรงพยาบาลสนามทั้งหมด 12 แห่ง (ครอบคลุมทุกอำเภอ มีเตียงจำนวนทั้งสิ้น 2,414 เตียง ซึ่งจะรับผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลืองอ่อน) มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 3,540 เตียง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เตียงทั้งหมด 3,332 คน คิดเป็นร้อยละ 94.12 โดยแบ่งตามประเภทเตียง ดังนี้

เตียงสีแดง มีทั้งหมด 88 เตียง ใช้ไป 74 เตียง คิดเป็นร้อยละ 84.1
เตียงสีเหลือง มีทั้งหมด 1,038 เตียง ใช้ไป 1,018 เตียงคิดเป็นร้อยละ 98.1
เตียงสีเขียว มีทั้งหมด 2,414 เตียง ใช้ไป 2,240 เตียง คิดเป็นร้อยละ 92.8

จะเห็นได้ว่าหากสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 700 ราย นอนโรงพยาบาล 10 วัน ต้องเตรียมเตียงรองรับ 7,000 เตียง จึงต้องหาเพิ่มประมาณ 4,000 เตียงในรูปแบบของศูนย์แยกกักชุมชน (CI) ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มีนโยบายข้อสั่งการให้แต่ละอำเภอไปเตรียมจัดหา CI เพิ่มและติดตามความก้าวหน้าต่อไป

ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินการมาตรการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ขอความร่วมมือชาวยะลายกการ์ดสูง ปฏิบัติป้องกันตนเองสูงสุด ป้องกันทุกที่ ทุกเวลา และให้ตระหนักป้องกันตนในขั้นที่คิดว่าคนรอบข้างคือคนติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อให้เราได้ และวัคซีนเหมือนเราใส่ชูชีพ ใครยังไม่ฉีดให้รีบเร่งรับวัคซีน และรับให้ครบ 2 เข็ม จะได้เป็นเกราะป้องกัน แม้ไม่ได้กันติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความรุนแรงจนเสียชีวิตได้

ด้าน พ.ต.อ.สกนธ์ อนนท์รัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดยะลา กล่าวว่า ช่วงนี้จังหวัดยะลาเน้นประชาสัมพันธ์สื่อสารสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และเน้นความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ในขณะที่หากพบสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือบุคคลใดฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค หลังจากมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนกันแล้ว อาจต้องมีการบังคับใช้กฎหมายด้วย เพื่อการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคและเพื่อความปลอดภัย สามารถขับเคลื่อนการพัฒนายะลาต่อไปในรูปแบบ New Normal


กำลังโหลดความคิดเห็น