xs
xsm
sm
md
lg

ประสบการณ์เรือติดแหง็ก “สันดอนทราย” ในอ่าวปัตตานี ทั้งๆ ที่ร่วมคณะแม่ทัพ 4 ลงลุยหาทางแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... ผศ.ดร.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

“สูมะ” ชาวบ้านประมงพื้นบ้านนั่งอยู่บนหัวเรือขณะกำลังล่องอยู่ในอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี เขาคือผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งความเป็นประมงพื้นบ้านแท้จริง เขาสามารถจับปลาดุกทะเลในรูที่อยู่อาศัยของมันได้ด้วยมือเปล่า
เราถ่ายภาพนี้ได้หลังจากที่เรือประมงพื้นบ้านลำที่คณะเราโดยสารได้ไปติด “สันดอนทราย” ในอ่าวปัตตานี ขนาดชาวประมงที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญก็ยังต้องใช้เวลานานนับชั่วโมงกว่าจะหลุดออกมา และทำให้คณะของพวกเราได้เดินทางกลับบ้านกัน

ถือเป็นความโชคดีที่ “ส.อบจ.บอย” นายจตุรงค์ เอี่ยมโสภา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายบัณฑิต อับดุลบุตร ผู้ช่วย ส.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และคณะเดินทางกลับโดยทางบก ไม่ต้องผจญอุปสรรคในเหตุการณ์ครั้งนี้

เหตุการณ์เรือประมงพื้นบ้านติดสันดอนทรายในอ่าวปัตตานีดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากคณะของเราเสร็จสิ้นภารกิจการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทานอาหารกลางวันร่วมกับคณะของ “บิ๊กเกรียง” พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชาวประมงพื้นบ้าน และรับทราบปัญหาสันดอนทรายตามการร้องเรียนของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

ภายในลำเรือประมงพื้นบ้านที่เราโดยสารมากับทีมงานเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติมีด้วยกันหลายชีวิต แม้จะเป็นเป็นเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กก็ตาม เหตุที่เราเลือกที่จะนั่งเรือกลับเข้าหมู่บ้าน เพราะทีมเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กนี้อยู่กับคณะของเรามาทั้งวัน จึงเป็นความผูกพันพอสมควรที่จะรอเดินทางกลับด้วยกัน

พวกผู้ชายช่วยกัน
แต่ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านลำดังกล่าวกำลังจะตีวงเข้ามารับพวกเราที่ริมฝั่ง หากทว่าอาจจะเป็นเพราะคนขับไม่คุ้นชินร่องน้ำบริเวณนั้น ส่งผลให้เรือได้ขึ้นเกยสันดอนทราย เรือติดแหง็กไปไหนไม่ได้

ผู้ชายชาวประมงพื้นบ้าน 3 คนพยายามลากเรือให้กลับลงไปในท้องทะเลเพื่อเดินทางต่อให้ได้ แต่ช่วงเวลาบ่าย 3 ของวันเป็นห้วงเวลาน้ำลง เข็นลากเท่าไหร่เรือก็ไม่ไปไหนสักที

จริงๆ ทีมผู้หญิงของเราตะโกนถามถึง 4 ครั้งแล้วว่าควรจะต้องให้พวกเราช่วยเข็นเรือหรือไม่ แต่ทั้ง 4 ครั้งพวกผู้ชายต่างปฏิเสธที่จะให้พวกเราเข้าไปช่วยเหลือ จน “พี่ลม้าย” น.ส.ลม้าย มานะการ แกนนำเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติ ถึงกับต้องตะโกนกลับบอกไปว่า

“เฮ้! เราทีมผู้หญิงกับภัยพิบัตินะ พวกเราถูกฝึกมาให้แข็งแกร่ง ให้จัดการเรื่องภัยพิบัติได้ พวกเราช่วยได้”

แน่นอนว่าแม้จะเป็นเสียงของผู้หญิงแกร่งที่เป็นที่ยอมรับของหลายคน แต่สุดท้ายพวกผู้หญิงเราก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เสียงที่เปรยกลับมาทำนองว่าไม่เป็นไร พวกผู้ชายจัดการกันได้ ผู้เขียนเองได้แต่คิดว่าผู้หญิงที่ถูกมองว่าบอบบางอย่างพวกเรานี่คงทำได้เพียงแค่นั่งบนเรือต่อไป พร้อมๆ กับทำได้เพียงแค่แสดงท่าทางส่งกำลังใจไปให้เท่านั้น

ภายหลัง 1 ชั่วโมงผ่านไป พวกเราโทรหา อาจารย์อัลอามีน มะแต รายงานสถานการณ์เรือติดสันดอนทราย อาจารย์อามีนบอกว่า เดี๋ยวจะขนทีมไปช่วย สักพักอาจารย์อามีนก็มาถึงท่าเรือ พร้อมด้วยชาวบ้านอีก จำนวน 10 คน พวกเขาว่ายน้ำมาช่วยกันทั้งผลัก ทั้งโยก และทำทุกวิถีทางเพื่อให้เรือพ้นจากสันดอนทรายกลางอ่าวปัตตานี โดยมีพวกผู้หญิงเราส่งเสียงเชียร์อยู่ห่างๆ

หลังจากพวกผู้ชายพยายามขยับ โยกหัว โยกท้าย ในท้ายที่สุดเรือของพวกเราก็หลุดออกจากสันดอนทรายมาได้อย่างพร้อมที่จะเดินทางอีกครั้ง

ผู้เขียนกับแม่ทัพภาค 4
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พวกเรามีคำถามอยู่ในใจ คือถ้าเกิดเรือไปติดสันดอนทรายกลางอ่าวในช่วงเวลาน้ำลง แล้วมีเพียงผู้หญิงอย่างเราแค่ 2-3 คนเท่านั้นที่ติดอยู่บนยอดสันทราย เรือประมงลำนั้นจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะสลัดหลุดพ้นจากการเกยตื้น

เนื่องเพราะสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคือ ขนาดการแก้ปัญหาครั้งนี้มีผู้ชายตั้งหลายคน และโชคดีที่อยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนัก เหตุการณ์นี้พวกเรายังต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะผ่านพ้นอุปสรรคมาได้

แล้วเวลาที่ชาวประมงหลายคนที่บังเอิญไปเกยสันทรายเล่า พวกเขาจะต้องใช้เวลานานกว่านี้อีกมากไหม ซึ่งนั่นอาจทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสในการทำมาหากิน เสียโอกาสวางแหหรือเก็บอวน ซึ่งก็จะไม่น่าจะเพียงพอกับเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงเพียง 3 ชั่วโมงในแต่ละวัน

ขอบอกเล่าไว้ที่นี้ว่า จากเดิมกระแสน้ำขึ้นน้ำลงมีเวลา 5 ชั่วโมง ทำให้ปลามีเวลาว่ายเข้าออกจากอ่าวปัตตานีได้ เป็นผลให้ชาวบ้านสามารถจับปลาได้มากเพียงพอที่จะบริโภคในครัวเรือน หรือพอเหลือที่จะนำไปขายเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อให้ลูกหลานได้ไปร่ำเรียนหนังสือ

อาจารย์อัลอามีน เล่าว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนชาวประมงพื้นบ้านแทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องเรือจะไปเกยสันทรายในอ่าวปัตตานีเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะกลับเข้าฝั่งเวลาใด เพราะจะกลับเวลาไหนก็ได้ แม้ในช่วงเวลาที่น้ำลดต่ำสุด แต่มาเดี๋ยวนี้ขนาดน้ำทะเลพึ่งลงไม่ถึงชั่วโมง และยังไม่ใช่เวลาน้ำลงต่ำที่สุด หรือเวลาประมาณ 4 โมงเย็นกว่าๆ ยังทำให้เรือประมงต้องมาติดสันทรายในอ่าวปัตตานีเสียแล้ว

บรรยากาศในอ่าวปัตตานี
หากเรือชาวบ้านไปติดอยู่กลางอ่าวที่มีชาวประมงเพียง 2 คน ชาวบ้านจะต้องรออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงกว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น จนทำให้เรืออยู่ในระดับที่แล่นผ่านสันดอนทรายออกไปได้ในเวลา 6-8 ชั่วโมง ถ้าตีราคาเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจในการหารายได้จากการประกอบอาชีพมากมาย หรือเราควรจะคิดราคาเป็นเท่าไหร่ดี

แล้วถ้าลองหันไปคิดให้เป็นความเสียหายทางสังคมด้วยแล้ว เวลาที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกเมีย หรือดูแลผู้เฒ่าผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน สันดอนทรายเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดได้หรือไม่ว่า เป็นการเอาเงินมาถมอ่าวปัตตานี เพราะแทนที่จะเป็นการขุดเพื่อเป็นการเปิดร่องน้ำตามที่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านต้องการ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งขุดลอกกลับยิ่งตื้นเขินมากกว่าเดิมเสียอีก

จากประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์ของวันดังกล่าว ทำผู้เขียนคิดต่อไปจนเห็นภาพที่ชาวบ้านเคยเล่าให้ฟังอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งอีกครั้งว่า เพราะสันดอนทำให้เรือประมงเกยตื้น และร่องน้ำที่เปลี่ยนไปนี่แหละที่กระทบต่อชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กอย่างล้นเหลือ และมากมายจนยากที่จะประเมินความเสียหาย

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวปัตตานี จะหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีกครั้ง โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจวิถีประมงพื้นบ้าน และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ในที่สุด

ท้ายที่สุดนี้ก็ได้แต่ภาวนาว่า ขอให้ทุกเหตุการณ์คลี่คลายกลับไปเป็นเหมือนเดิมให้ได้ด้วยดีโดยเร็ววัน


กำลังโหลดความคิดเห็น