xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรม ผอ.ศูนย์ไอซีที ศอ.บต. "คดีโคมไฟ-ตู้กรองน้ำโซลาร์เซลล์" รับหน้าเสื่อสาวไม่ถึงคนใหญ่คนโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. ศูนย์ข่าวภาคใต้

หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องรวม 4 คนในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวม 6 สัญญา 16,404 จุด งบประมาณ 1,011,916,500 บาท ราคาเฉลี่ยจุดละ 61,687 บาท หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 คงจะพูดคล้ายๆ กันว่า หัวขบวนของผู้กระทำความผิดน่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตกว่านายพิทยา รัตนพันธ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. เป็นแน่ เพียงแต่ว่า หลักฐานต่างๆ มาหยุดอยู่แค่นายพิทยาเท่านั้น

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.นายพิทยา รัตนพันธ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในขณะนั้น ปัจจุบัน นายพิทยาดำรงตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายอาคารสถานที่และยานพาหนะ ศอ.บต. มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ มาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีมูลความผิดทางวินัยตามระเบียบข้าราชการพลเรือน

2.นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยา นายพิทยา รัตนพันธ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

3.นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด และ 4.บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ฯ กระทำผิด มาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ส่วนรายละเอียดของโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.ทั้ง 6 สัญญา งบประมาณ 1,011,916,500 บาทนั้น เป็นงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559 จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาทได้โดยอนุโลม ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัว ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ

วิธีพิเศษดังกล่าวมีข้อกำหนดในรายละเอียดของการจ้างว่า ต้องเป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วนหากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ และเป็นงานที่จำเป็นต้องจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น เร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม รวมถึงเป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี

6 โครงการนี้ประกอบด้วย

1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126 ล้านบาท โดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี สัญญาเริ่ม 26 ก.ย.-24 ธ.ค. 2557

2.โครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ (กุโบร์ของศาสนาอิสลาม สุสานจีน และฌาปนสถาน) ในพื้นที่หมู่บ้านเร่งรัดการพัฒนาและหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีพิเศษ จำนวน 871 แห่งๆ ละ 4 ชุด รวมทั้งหมด 3,484 ชุด เปิดซองประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษได้ หจก.สุนทรเทคโนโลยีจำกัด เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2558 งบประมาณ 219.492 ล้านบาท สัญญาเริ่ม 16 เม.ย.-15 ก.ค. 2558


3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 500 ชุด งบประมาณ 94.5 ล้านบาท ทำการเปิดซองประกวดราคา ด้วยวิธีพิเศษ ได้แก่ บริษัท แสงมิตรอีเลคตริค จำกัด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 สัญญาเริ่ม 16 เม.ย.-15 ก.ค. 2558

4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212 ล้านบาท โดย หจก.เจเจออลเทคโน สัญญาเริ่ม 3 ก.ค. 2558 - 8 ม.ค. 2559

5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270 ล้านบาท โดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี สัญญาเริ่ม 5 ม.ค. 2559 - 4 ม.ค. 2560

และ 6.โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งชุนชนเสี่ยงภัย ประจำปีงบประมาณ 2559 การติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 1,555 ชุด 249 ชุมชน าณ 89.9245 ล้านบาท ในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดย หจก.แกรนด์ เฟมัส จ.ยะลา โดย หจก.สุนทรเทคโนโลยี และ จ.นราธิวาส โดย หจก.เจเจออลเทคโน

จากทั้ง 6 โครงการนี้ ปรากฏว่า หจก.สุนทรเทคโนโลยีได้รับไปถึง 4 โครงการ มี 3 โครงการที่ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์รวม 9,984 ชุด งบประมาณ 615.492 ล้านบาท ส่วนโครงการที่ 6 ซึ่ง หจก.สุนทรเทคโนโลยีได้รับใน จ.ยะลา มีงบประมาณรวม 28.5648 ล้านบาท รวม หจก.สุนทรเทคโนโลยีได้รับงบประมาณไปทั้งสิ้น 644.0568 ล้านบาท

ทั้งนี้ หจก.สุนทรเทคโนโลยีจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2553 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 31 ถนนเลขะกุล ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา หุ้นส่วนประกอบด้วย 1.นายวันชัย วิทยะสุนทร 2.นางอรัญญา วิทยะสุนทร และ 3.นางปรียานุช หนูเซ่ง ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน ขายส่งโทรศัพท์และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการค้าวิทยุสื่อสารและเครื่องกระจายเสียงแบบมีสายและไร้สาย ระบบเสียงห้องประชุมรวมทั้งอุปกรณ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาประกอบกิจการจัดการน้ำเสียเมื่อปี 2563

หจก.สุนทรเทคโนโลยีแปรสภาพเป็นบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดิม เหลือกรรมการเพียง 1 คนคือ นายวันชัย วิทยะสุนทร ประกอบกิจการเกี่ยวกับระบบน้ำเสียหรือบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามที่อยู่ของบริษัท สุนทรเทคโนโลยี จำกัด ปรากฏว่า ไม่พบบริษัทดังกล่าว พบเพียง หจก.ศรีเมือง ซัพพลาย มีหุ้นส่วน 2 คนคือ 1.นายอุสมาน ปะแต และ 2.น.ส.ไอนูรย์ ดาอุแม จดทะเบียนด้วยที่อยู่เดียวกันและจัดตั้งหลัง หจก.สุนทรเทคโนโลยีในปีเดียวกัน คือจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2553 ในขณะที่ หจก.สุนทรเทคโนโลยีจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2553

ด้านบริษัท แสงมิตรอีเลคตริค จำกัด ซึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้รับเพียง 1 โครงการ งบประมาณ 94.5 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2535 ทุนจดทะเบียน 116.5 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ 1.น.ส.อุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ และ 2.นางนวรัตน์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ ตั้งอยู่เลขที่ 319,321 ถนนสวนผัก ตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการจำหน่ายโคมไฟฟ้า-อุปกรณ์ไฟฟ้ารับติดตั้งระบบไฟฟ้า

ปัญหาของโครงการติดตั้งโคมไฟโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.นั่นคือ หลังจากติดตั้งแล้วไม่นาน หลายแห่งเพียง 3 เดือนก็เริ่มเสีย ใช้งานได้จริงไม่ถึง 20 % โดยนายพิทยาได้ชี้แจงในขณะนั้นว่า โคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ที่ติดๆ ดับๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ และอีกกว่า 70% พบว่ามีการขโมยแบตเตอรี่ ทั้งนี้ ในปี 2560 ศอ.บต.ได้ดำเนินการซ่อมแซมเสาและโคมไฟที่เสียหาย โดยนายพิทยาระบุว่า มีจำนวน 531 จุด สาเหตุส่วนใหญ่ แบตเตอรี่สูญหาย ใช้งบประมาณซื้อแบตเตอรี่ต่อต้น 8,000 บาท รวม 4,248,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีโคมไฟในโครงการนี้ชำรุดเสียหาย เช่น ที่บ้านเหนือ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ชาวบ้านได้ร้องเรียนว่า เสาไฟโซลาเซลล์ทั้งหมด 6 ต้นชำรุดเสียหาย ใช้การไม่ได้เลยแม้แต่ต้นเดียวมานานกว่า 1 ปีแล้ว สภาพปัจจุบันสายไฟขาดระเนระนาด เสาไฟบางต้นหลอดไฟสูญหาย ไม่เคยมีหน่วยงานไหนมาซ่อมแซม


นอกจากคดีจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว ศอ.บต.ยังต้องลุ้นต่อกับคดี "เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ที่ทำงานด้วยระบบโซลาร์เซลล์และระบบไฟฟ้า แบบอัตโนมัติ สองระบบในเครื่องเดียวกัน มีศูนย์เทคโนโล ยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. หน่วยงานเดิม เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2560 ด้วยวิธีพิเศษ ตั้งเป้าไว้ 101 จุด งบประมาณรวม 56.5 ล้านบาท แต่เมื่อดำเนินโครงการจริงติดตั้ง 91 จุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาจุดละ 549,000 บาท ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นราว 51 ล้านบาท

ปรากฏว่า ในหลายพื้นที่เกิดปัญหา เช่น ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรใน ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา พบว่าตู้ชำรุดเสียหาย น้ำไม่ไหล ชาวบ้านไม่ได้ไปกดน้ำมาใช้นานแล้ว หญ้าขึ้นรก ตู้กรองน้ำราคากว่าครึ่งล้านตั้งอยู่เดียวดาย ไร้ประโยชน์ และไม่ตอบโจทย์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว แต่ ศอ.บต.ทำหนังสือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต.เซ็นยืมใช้ตู้กรองน้ำ ทั้งๆ ที่ อบต.ไม่ได้มีความต้องการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หลังการติดตั้ง กลับมีคนนอกชุมชนมารับน้ำจำนวนมากเพื่อเอาไปขายต่อ ทำให้ระบบประปาหมู่บ้านต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม เพราะต้องสูบน้ำขึ้นมากรองเดือนละ 3,000-4,000 บาท และเมื่อเครื่องกรองชำรุดก็ไม่ได้เข้ามาซ่อมแซม

นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ คกก.ป.ป.ช.ภาค 9 เปิดเผยถึงคดีนี้ว่า ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพยานหลักฐาน และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงในโครงการนี้ ทั้งในประเด็นการตรวจสอบราคาจัดซื้อว่าแพงเกินจริงหรือไม่ มีการฮั้วประมูล และมีการล็อกสเปกหรือไม่ โดยได้ตรวจสอบพยานหลักฐาน และไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้วกว่าร้อยละ 70-80 คาดว่าในปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปในกรณีนี้

2 คดีนี้ นายพิทยา รัตนพันธ์ คงต้องรับหน้าเสื่อไปเต็มๆ เพราะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในนามของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งก็ดูจากชื่อศูนย์แล้วก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับการจัดซื้อโคมไฟและตู้กรองน้ำระบบโซลาร์เซลล์ ที่ในขณะนั้น นายพิทยานั่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และก็คงไม่มีคนที่ใหญ่โตกว่ามารับผิดชอบร่วมกันด้วย เพราะแต่ละคดี โดยเฉพาะคดีโคมไฟโซลาร์เซลล์ แว่วว่า มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่มาถึงแค่ตัวนายพิทยาเท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น