คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบ แม้ว่าการก่อเหตุจะน้อยลง ล่าสุดหัวค่ำ 22 กันยายน 2564 แนวร่วมบีอาร์เอ็นโจมตีฐานปฏิบัติการ ชคต.ที่บ้านน้ำบ่อ ม.2 อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและ อส.ทหารพรานเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียและบาดเจ็บในครั้งนี้
ต้องยอมรับว่ากว่า 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ การโจมตีเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่มีช่องว่าง อันเป็นไปตามยุทธวิธี “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” ของบีอาร์เอ็น ฉะนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องเตรียมพร้อมทุกฐานปฏิบัติการและระหว่างลาดตระเวน เพราะความประมาทคือบ่อเกิดของความสูญเสีย
ส่วนสถานการณ์ “สงครามโรคติดต่อ” ในชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวล เพราะ 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา (ยกเว้น จ.สตูล) ได้ตกอยู่ในทำเนียบ 10 อันดับรุนแรงของประเทศเกือบจะทุกวัน
ล่าสุด 23 กันยายน 2564 จ.ยะลามีผู้ติดเชื้อแค่วันเดียวเกือบ 700 ราย ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรปราการ และ จ.ชลบุรี เช่นเดียวกับที่ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 กันยายน 2564 ก็มีผู้เสียชีวิตถึง 12 ราย ซึ่งนับว่าสูงสุดในภาคใต้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ
อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ “กระท่อมฟีเวอร์” หลังกระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายปลดล็อกจากยาเสพติดประเภท 5 ก็ถูกปั่นกระแสจนสูงลิ่วเหมือนเป็น “พืชเทวดา” เป็น “ยาสมุนไพรวิเศษ” ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงยังเป็นพืชที่มีสารเสพติดเช่นเดิม หากเสพไม่บันยะบันยัง ไม่มีการควบคุม ผู้เสพยังได้รับอันตรายเหมือนเดิม
เวลานี้มีการแห่ปลูกคึกคัก ตัดมาขายกันทั้งใบ กิ่งและต้น ด้านน้ำกระท่อมต้มก็บรรจุขวดขายกันทั้งในตลาดนัดและริมถนน โดยที่ไม่มีหน่วยไหนไปควบคุม และหากปล่อยไว้อย่างนี้อีกไม่นานน้ำกระท่อมจะกลายเป็นเครื่องดื่มในทุกสถานศึกษา ดีหรือไม่อย่างไรบรรดา “ท่านผู้นำ” ทั้งหลายต้องคิดเอาเอง
แต่มีสิ่งที่เจ้าหน้าที่อาจจะยังไม่รู้ หรือรู้แล้วทำเฉยๆ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมคือ วันนี้ “ยาแก้ไอ” ที่เป็นสินค้าควบคุมและต้องซื้อตามใบสั่งแพทย์ กลับปรากฏว่ามีขายกันทุกหย่อมย่าน แถมในชายแดนใต้ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 200 บาท/ขวด ขณะที่การผลิตยาเสพติดชนิด “4 คูณ 100” ก็ยังเบ่งบานยิ่ง
เวลานี้จึงต้องนับว่าที่ชายแดนใต้ถูกสุมไฟให้คุโชนไปแล้วทั้ง “สงครามแบ่งแยกดินแดน” ตามด้วย “สงครามโรคระบาด” และ “สงครามยาเสพติด” ส่วนที่ต้องจับตาใกล้ชิดว่ากำลังจะติดตามมาอีกเร็วๆ นี้หรือไม่คือ “สงครามที่เกิดจากน้ำมือองค์กรต่างประเทศ” ที่พยายามเข้าไปปักหมุดเพื่อแทรกแซงไฟใต้
สัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่อง “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่ต้องการเข้าไปเปิดปฏิบัติการแบบถาวรและมีการรับรองจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
สิ่งที่ไอซีอาร์ซีอ้างในปฏิบัติการมาตลอดตั้งแต่ปี 2559 คือ ต้องการหนุนสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน แต่ที่ผ่านมายังเป็นไปแบบไม่ถาวรและไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกับหน่วยงานความมั่นคงในชายแดนใต้
อาจจะด้วยที่ผ่านๆ มาประเทศไทยเรามีพระสยามเทวาธิราชคอยให้การคุ้มครองกระมัง จึงทำให้หน่วยงานความมั่นคงจำนวนหนึ่งมองเห็นถึง “ความไม่ชอบมาพากล” ของปฏิบัติการไอซีอาร์ซีที่มีส่วนยึดโยงกับแกนนำปีกการเมืองของบีอาร์เอ็น
จึงอย่าได้แปลกใจที่วันนี้ไอซีอาร์ซียอมทุ่มเงินมากมายทั้งล็อบบี้บางหน่วยงานความมั่นคงที่ยัง “โลกสวย” และให้นักวิชาการชุดหนึ่งลุยใช้มาตรการเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศนำมาซึ่ง ”สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” ทั้งแบบภายในและภายนอกของผู้คนในชายแดนใต้
ทั้งนี้ต้องการให้ตีความว่า ความรุนแรงในชายแดนใต้เข้าข่ายความขัดแย้งที่ 2 ฝ่ายใช้อาวุธเข้าห้ำหันกัน ฝ่ายหนึ่งคือรัฐไทย อีกฝ่ายคือบิอาร์เอ็น เพื่อเปิดทางให้มีฝ่ายที่ 3 ในฐานะ “คนกลาง” ได้ยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ยให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ซึ่งฝ่ายที่ 3 ที่ว่านี้จะเป็นไอซีอาร์ซีเองหรือ “เจนีวางคอลล์” ก็ได้
ที่กล่าวมาคือกระบวนการที่ถูกวางไว้อย่างแยบยลและเป็นขั้นตอนขององค์กรสากลพวก “ฝรั่งหัวแดง” ที่ต้องการแทรกแซงอธิปไตยของไทยเรา ทั้งที่มีกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศมากมายปิดกั้นไม่ให้ประเทศมหาอำนาจหรือการส่งองค์กรตัวแทนต่างๆ เข้าแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่งก็ตาม
ตามกระบวนการนี้มีการเก็บข้อมูลของนักวิชาการที่รับผิดชอบ รวมทั้งทำให้ทุกขั้นตอนดูเหมือนมีมาตรการทางกฎหมายรองรับ แต่โดยข้อเท็จจริง บีอาร์เอ็นไม่ได้ยึดข้อกฎหมาย ไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับบริบทเดิมๆ ซึ่งจะเห็นได้จากพัฒนาการต่อเนื่องในการสร้างเงื่อนไขแห่งความได้เปรียบทั้งภายในและภายนอกพื้นที่
ยกตัวอย่างในอนาคตหากฝ่ายบีอาร์เอ็นเกิดมีการปลุกปั้น “ขบวนการยุวชนการเมือง” ขึ้นมาโดยใช้ “ทหารเด็ก” จับอาวุธเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ เมื่อถูกตอบโต้และอาจจมีการวิสามัญเกิดขึ้น กรณีแบบนี้คาดการณ์ได้เลยว่าฝ่ายใดจะตกเป็นจำเลยของสังคม
เขียนมาถึงตรงนี้ก็อยากถามว่า ทำไมบางหน่วยงานรัฐจึงได้โหยหา “องค์กรต่างประเทศ” ให้เข้ามาสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟใต้ โดยเฉพาะกับการทำหน้าที่ “คนกลาง” หรือ “ฝ่ายที่ 3” ทั้งที่รัฐบาล กองทัพ รวมถึง กอ.รมน.ปฏิเสธมาตลอดกว่า 17 ปีว่าเป็นปัญหาภายในประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการก่อการร้ายสากล
อีกทั้งยังดูเหมือนว่ากว่า 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ รัฐบาล กองทัพและ กอ.รมน.เองก็ปฏิเสธมาตลอดเวลาว่าไม่มี “ขบวนการบีอาร์เอ็น” แม้แต่การตั้งโต๊ะพูดคุยที่ให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก รัฐบาลไทยก็ไม่ให้ใช้คำว่าเป็นการ “เจรจาสันติภาพ” แต่ให้เรียกว่า “พูดคุยสันติสุข”
แล้ววันนี้ไฉนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปั้นปลายถึงได้พร้อมจะกลับลำแบบ 360 องศา โดยแสดงทีท่าว่าจะให้ไฟเขียวให้บางหน่วยงานความมั่นคงยอมให้องค์กรต่างชาติแทรกตัวเข้ามาเป็น “THIRD PARTY” เพื่อรวมกระบวนการสร้างสันติภาพบนแผ่นดินไฟใต้ได้เล่า?
ที่สำคัญแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่างน้อย 3 คนนับตั้งแต่ “บิ๊กอาร์ท” ตามด้วย “บิ๊กเดฟ” และเวลานี้คือ “บิ๊กเกรียง-พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์” รวมถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ต่างประสานเสียงเป็นคีย์เดียวกันว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นและการก่อเหตุลดลง
สุดท้ายขอถามบรรดาท่านผู้นำทั้งหลายที่เห็นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว นั่นเป็นเส้นทางของฝ่ายใดกันแน่ กล่าวคือ เป็นของบีอาร์เอ็น ของไอซีอาร์ซี ของเจนีวาคอลล์ หรือของชาติมหาอำนาจที่ชักใยเบื้องหลัง หรือแท้จริงแล้วเป็นเส้นทางของประเทศไทยที่จะนำพาเราไปสู่การสูญเสียแผ่นดินชายแดนใต้ในที่สุดกันเล่า?!