ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พื้นที่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)
วันนี้ (22 ก.ย.) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประกอบออก ต.ประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ครั้งที่ 6/1047 โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา น.ส.ทิวานันท์ วังศพ่าห์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พล.ต.ต.สมเดช ฐิตวัฒนสกุล ผู้บังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ที่ตั้ง ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในการนี้ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ฯ แนะนำหน่วยงานเข้าร่วมการดำเนินงานโครงการ และครูใหญ่ถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ที่กำลังศึกษาอยู่ ถวายรายงานผลการเรียน และสมาชิกชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประกอบออก ถวายรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา โดยชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประกอบออก ได้สนับสนุนอุปกรณ์กีฬา สื่อการเรียนการสอน อาหารกลางวันในโอกาสต่างๆ ปรับภูมิทัศน์ในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประกอบออก เปิดสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2529 สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา ปัจจุบันเปิดสอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียน 177 คน ครู ตชด. 7 นาย และครูอัตราจ้าง 5 คน
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน และวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ผลักดันให้โรงเรียนพัฒนาเป็นศูนย์บริการความรู้ สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาให้ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ ผลการประเมินเป็นไปตามเป้าหมายหลัก 8 ข้อ ส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทางด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา คุณภาพชีวิต พฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม ศักยภาพทางอาชีพ ศักยภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศักยภาพในการอนุรักษ์ สืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และการพัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล หน่วยต้นไม้ที่รัก โดยการสอนแบบบูรณาการกับสื่อการสอนเสมือนจริง เพื่อเพิ่มความจำและดึงดูดความสนใจ ผลการประเมินนักเรียนเข้าใจการใช้ภาษา และบอกลักษณะส่วนประกอบของต้นไม้ได้ จากนั้นทอดพระเนตรสาธิตการสอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่องการอ่านจับใจความสำคัญ โดยใช้สื่อการสอนเป็นรูปดาวที่มีเนื้อหาเป็นนิทาน ร่วมกับบัตรภาพมาบูรณาการเพื่อสร้างแรงจูงใจ ความกระตือรือร้น และให้นักเรียนสามารถลำดับภาพกับเหตุการณ์ได้เร็ว พร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมห้องสมุดโดยโรงเรียนเปิดให้ใช้บริการ ตั้งแต่เวลา 07.00-15.00 น. โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปิดให้เข้าใช้บริการจำกัด 5 ที่นั่ง และแนะนำให้ยืมหนังสือไปอ่านที่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน มีกิจกรรมร้านค้า เพื่อให้นักเรียนขาย และบริหารจัดการเอง เช่น การจดบันทึกการขาย ทำบัญชีรายรับรายจ่าย กิจกรรมออมทรัพย์ และยังส่งเสริมกิจกรรมการเกษตร นำผลผลิตมาจำหน่ายในสหกรณ์ เพื่อจำหน่ายให้กิจกรรมอาหารกลางวัน พร้อมทั้งนำอาหารแปรรูปในชุมชนมาจำหน่ายด้วย นอกจากนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมการศึกษาดูงานการบริหารจัดการสหกรณ์ภายนอกด้วย
สำหรับกิจกรรมห้องพยาบาล ส่วนใหญ่นักเรียนที่เข้าใช้บริการมักจะเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องจุกเสียด และอุบัติเหตุหกล้ม ดูแลโดยการรักษาตามอาการ และแนะนำการดูแลตนเอง การทานอาหาร รวมถึงแนะนำการรักษาความสะอาดในร่างกาย เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาเรื่องฟัน และโรคเหา หากเกินความสามารถจะนำส่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลประกอบออก
กิจกรรมการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน และอาหารเสริมนม ทางโรงเรียนใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของโรงเรียนร้อยละ 90 และซื้อจากตลาดร้อยละ 10 มาประกอบอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีการดูแลรักษาความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล มีผู้ปกครองนักเรียนหมุนเวียนมาประกอบอาหารกลางวัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางโรงเรียนได้จัดทำข้าวกล่อง และนมผงนำไปส่งให้นักเรียนที่บ้าน เพื่อส่งเสริมการรับประทานอาหารกลางวัน
จากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมการอาชีพนักเรียน โดยได้มีการสาธิตการถนอมอาหาร คือ การทำหน่อไม้ดอง และอาชีพช่างไฟฟ้า สาธิตการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (การซ่อมเตารีด) โดยโรงเรียนได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพเสริมที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
สำหรับกิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ได้มีการสาธิตการปลูกผัก ได้แก่ ผักพื้นบ้าน เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก ขมิ้น แมงลัก ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ไม้ผล เช่น กล้วย มะละกอ ฝรั่ง กิจกรรมปศุสัตว์ คือการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เบตง และกิจกรรมประมง สาธิตเลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน เลี้ยงปลานิล ปลาดุก และสาธิตกิจกรรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ต้นทุนน้อย และนักเรียนสามารถทำเองได้ โรงเรียนมีผลผลิตเพียงพอในการเสริมสร้างสารอาหาร มีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการปลูกการดูแล เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต
โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสให้จังหวัดสงขลา ชมรมศิษย์เก่าฯ และทุกหน่วยงานร่วมมือกันแก้ไขปัญหา พัฒนา และนำความรู้ต่างๆ ไปขยาย เผยแพร่สู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน และชาวบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น