xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนดู “สยามเนสท์” ทุ่ม 400 ล้านคว้าสัมปทาน “เกาะรังนก” รอบใหม่ สุดท้ายจะได้ไม่(คุ้ม)เสียเอา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ไม่น่าเชื่อว่า “สัมปทานเกาะรังนก” บริเวณหมู่เกาะสี่เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง จะเต็มไปด้วยสารพัดปัญหา โดยเริ่มที่ไร้เอกชนยื่นซองราคาประมูลมาหลายต่อหลายครั้ง หลังจากที่ทางจังหวัดได้รับมอบเกาะรังนกคืนจากผู้รับสัมปทานเจ้าเก่ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 แต่ต่อมาบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าเก่ารายเดิม ได้กลับยอมลงสนามเข้ายื่นซองประมูลรอบใหม่อีกครั้ง โดยเสนอราคาไว้สูงสุดถึง 400 ล้านบาท และคว้าสัมปทานรอบใหม่ไปได้ในที่สุด

ถึงตอนนี้หลายฝ่ายก็เริ่มเบาใจ แต่เมื่อถึงวันส่งมอบ 9 กันยายน 2564 จากการตรวจสอบตามเกาะที่มีนกอีแอ่นทำรัง ภายในถ้ำรวม 6 ถ้ำจาก 107 ถ้ำที่นกอีแอ่นทำรังวางไข่ กว่า 6 ชั่วโมง พบว่า จำนวน 6 ถ้ำที่เข้าสำรวจ มีร่องรอยการเข้าไปขโมยรังนกจนไม่เหลือรังนก และแม่นกอีแอ่นทำรัง ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายคอยเฝ้าดูอยู่แท้ๆ กลายมาเป็นปัญหาใหม่ที่ต้องพบเจอ และจากปัญหาสู่ปัญหาดังกล่าวนี้ เราเลยจะลองพาย้อนไปดูกันหน่อยว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรขึ้นบ้างในระหว่างนั้น

โดยเริ่มตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง พร้อมผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่หมู่เกาะรังนกอีแอ่น หมู่เกาะสี่เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เพื่อรับหมู่เกาะรังนกกลางทะเลสาบคืนจากบริษัท สยามเนสท์ฯ เนื่องจากหมดอายุสัมปทาน และไม่ขอยื่นสัมปทานต่อ ทำให้เกิดช่องว่างจนเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังกว่า 70 นาย เพื่อเฝ้าหมู่เกาะรังนกป้องกันการเข้าไปขโมย คณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และฝ่ายอนุกรรมการได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจตามถ้ำต่างๆ ที่นกอีแอ่นทำรังวางไข่ พบว่าภายในถ้ำยังคงมีนกทำรังเป็นจำนวนมาก และเป็นช่วงที่นกฟักไข่ออกลูกเป็นตัวอ่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 มีรายงานข่าวว่าในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2564 พบภายในถ้ำน่องควาย ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีนกอีแอ่นทำรังเป็นจำนวนมาก ทั้งรังดำและรังขาว พร้อมทั้งมีไข่และลูกนกอาศัยอยู่ในรังเป็นจำนวนมาก แต่กลับถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้เข้าไปภายในถ้ำ ก่อนที่จะขโมยรังนกที่อยู่ตามฝาผนังถ้ำไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ลูกนกและไข่นกตกลงมายังพื้นด้านล่างตายเกลื่อน พร้อมกันนั้นยังพบอุปกรณ์ไม้ไผ่ กระป๋องกาแฟ ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขวดน้ำตกอยู่ภายในถ้ำอีกหลายจุด ก่อนที่เจ้าหน้าที่เฝ้าหมู่เกาะรังนกจะได้เข้าแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เกาะนางคำ ไว้เป็นหลักฐาน


ข้ามมาไกลเกือบ 2 เดือน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายสาธร พูลสวัสดิ์ อัยการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในการเปิดซองการยื่นซองสัมปทานรังนกฯ ในครั้งที่ 9 โดยมีกลุ่มสื่อมวลชนจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ซึ่งจากการเปิดซองการประมูลการสัมปทานรังนกฯ ในครั้งนี้ ผลปรากฏว่า หจก.พี.เอส.บี.กรุ๊ป เสนอราคาการประมูลรังนกฯ ในวงเงิน 370,100,000 บาทถ้วน ส่วนบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด เสนอราคาการประมูลรังนกฯ ในวงเงิน 400 ล้านบาท ในขณะที่บริษัท เค.โอ.ซี อิมปอร์ท เอ๊กซ์ปอร์ต จำกัด ได้เสนอราคาการประมูลรังนกฯ ในวงเงิน 381 ล้านบาท ทำให้ในเบื้องต้นบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด เป็นผู้ชนะในการยื่นซองประมูลการสัมปทานรังนกฯ ในครั้งนี้ โดยไม่คาดคิดว่าราคารังนก จ.พัทลุง จะกลับมาพุ่งสูงถึง 400 ล้านบาท

ในที่สุดเมื่อ 9 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ซึ่งได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการรังนกฯ ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่น ท้องที่ จ.พัทลุง กับบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด โดยมี นางกมลทิพย์ ทองฤทธิ์ ผู้รับสัมปทาน ซึ่งในการทำสัญญาสัมปทานรังนกในครั้งนี้ บริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด เป็นผู้มีสิทธิเข้าเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่เกาะรังนกที่ได้รับการสัมปทาน ในพื้นที่หมู่เกาะสี่เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในวงเงินอากร จำนวน 400 ล้านบาท ระยะเวลาการสัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2569

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้เดินทางลงไปยังเกาะรังนกเพื่อสำรวจถ้ำรังนก ดำเนินการส่งมอบพื้นที่เกาะสัมปทานให้บริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด ดำเนินการจัดเก็บรังนกในพื้นที่ดังกล่าวตามสัญญาการสัมปทาน โดยกรรมการตัวแทนบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด และผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตามเกาะที่มีนกอีแอ่นทำรัง ภายในถ้ำรวม 6 ถ้ำจาก 107 ถ้ำที่นกอีแอ่นทำรังวางไข่กว่า 6 ชั่วโมง พบว่า จำนวน 6 ถ้ำที่เข้าสำรวจมีร่องรอยการเข้าไปขโมยรังนกจนไม่เหลือรังนก และแม่นกอีแอ่นทำรัง ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์ที่ 6 สงขลา หรือป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ อบจ.พัทลุง เฝ้าดูตรงปากถ้ำ โดย 1 ใน 6 ถ้ำพบเพียงรังนกดำ 4 รัง แม่นกอีแอ่นบินวนเพียง 10 ตัวเท่านั้น


12 กันยายน 2564 บริษัท สยามเนสท์ฯ ได้จ้างคนงานลงพื้นที่จัดเก็บรังนกตามถ้ำต่างๆ ออกเป็น 3 ทีมรวม 60 คน โดยทีมจัดเก็บรังนกจากเกาะลิบง จ.ตรัง ลงเก็บบริเวณเกาะเทวดา ที่ถ้ำตุ้งเตี้ยใหญ่ หลังจากได้ทำบันไดเชือกเสร็จ และลงไปเก็บรังนก พบว่ารังนกภายในถ้ำดังกล่าวมีเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบมีการก่อไฟภายในถ้ำดังกล่าวหลายจุด ทำให้นกอีแอ่นที่ทำรังบินหนีหาย และพบขยะที่ทิ้งใหม่จำนวนมาก จึงต้องขนย้ายขยะออกมาจากถ้ำเพื่อปรับสภาพถ้ำใหม่

ขณะที่ชุดที่ 2 ได้ลงเก็บที่เกาะกันตัง 16 ถ้ำ พบบางถ้ำเหลือเพียงรังนกขาวแค่รังเดียว และรังนกดำอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมกันนี้พบขยะใหม่กองอยู่เป็นจำนวนมาก อุปกรณ์การจัดเก็บรังนกของคนร้าย และเสื้อผ้าที่มีชื่อของ “ร.ต.ท.” นายหนึ่งตกอยู่ภายในถ้ำที่ถูกขโมย จึงเก็บไว้เป็นหลักฐานมามอบให้เจ้าหน้าที่บริษัท และชุดที่ 3 ได้ไปเก็บรังนกบริเวณเกาะตาโส ก็พบว่าทุกถ้ำคนร้ายได้เข้าไปขโมยรังนกเช่นกัน เหลือไว้แค่เพียงขยะที่ทิ้งเกลื่อนภายในถ้ำ

13 กันยายน 2564 บริษัท สยามเนสฯ ยังได้จัดส่งคนงาน 60 คน แบ่งเป็น 3 ชุด เข้าสำรวจ และเก็บรังนกที่เหลือ ที่ถ้ำลื่น บนเกาะรูซิ้ม ถ้ำตุ้งเตี้ยใหญ่ บนเกาะเทวดา และถ้ำเล็กถ้ำน้อย บนเกาะตาโสยายโส พบว่าในแต่ละถ้ำมีแต่ร่องรอยการเข้าไปขโมยรังนก พบอุปกรณ์เชือก ไม้ไผ่ และขยะจำนวนมหาศาล โดยในวันนี้จัดเก็บรังนกขาวได้ 9.38 กิโลกรัม รังนกดำ 65.18 กิโลกรัม

ที่ถ้ำลื่น บนเกาะรูซิ้ม ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีขนาด 3 ห้องโถงใหญ่ ก่อนมีการส่งมอบเกาะให้จังหวัดพัทลุงเข้าดูแล ภายในถ้ำพบนกอีแอ่นทำรังบนฝาผนังถ้ำจำนวนมาก แต่มาวันนี้หลังจากคนงานเข้าไปเพื่อจัดเก็บพบเพียงรังนกดำจำนวนแค่เล็กน้อย ที่พื้นพบมีการก่อไฟ ทำให้เกิดควันไฟเพื่อไล่แม่นกออกจากถ้ำอีกด้วย ขณะที่คนงานระบุว่าการก่อไฟในถ้ำนั้นจะเกิดมลพิษ ทำให้นกไม่กล้ากลับมาทำรังอีก

ด้านตัวแทนบริษัท สยามเนสฯ เปิดเผยว่า จากการเข้ามารับสัมปทานหมู่เกาะรังนกในพื้นที่ จ.พัทลุง มาแล้วหลายรอบ ถือว่ารอบนี้เกาะรังนกได้รับความเสียหายมาก ทั้งๆ ที่มีตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย ทั้งป่าไม้ ปกครอง อส. และ อบจ.พัทลุงเข้าดูแล ทั้งบนเกาะ รอบเกาะกว่า 100 นาย รังนกถูกขโมย ถ้ำถูกทำลาย และเต็มไปด้วยขยะ โดยบริษัทฯ จะต้องเร่งเก็บ และเร่งฟื้นฟูสภาพถ้ำใหม่ทั้งหมด และต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่จะฟื้นเกาะขึ้นมาได้อีกครั้ง


14 กันยายน 2564 ตัวแทนบริษัทฯ เปิดเผยว่า พฤติกรรมของขบวนการขโมยรังนกใน จ.พัทลุง นับว่าโหดเหี้ยมมาก การที่จุดกองไฟใช้ควันไล่แม่นก เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฟักไข่ ทำให้ลูกนกต้องตายไปจำนวนมาก ประมาณการจากรังนกที่มีอยู่ในถ้ำช่วงที่รับมอบเกาะคืนจากผู้รับสัมปทาน ทั้ง 7 ถ้ำที่ถูกขโมยมีรังนกประมาณ 5-6 แสนรัง ปกติจะมีลูกนกที่ฟักตัวแล้วในรังๆ ละ 2 ฟองหรือ 2 ตัว เท่ากับการขโมยครั้งนี้ทำลายลูกน้อยไปนับล้านตัว จึงเป็นเรื่องที่น่าสลดใจเป็นอย่างมาก การที่ลูกนกตายเท่ากับการตัดวงจรชีวิตนกไป 1 ปี นก 1 ตัวภายใน 7 ปี สามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งลูกนกที่ตายไป 1 ล้านกว่าตัว เท่ากับการเข้าไปขโมยรอบนี้สร้างความเสียหายทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

15 กันยายน 2564 ทางบริษัท สยามเนสท์ฯ ยังคงนำคนงานลงเก็บรังนก อีกจำนวน 60 คน ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ได้ลงเกาะเพื่อเก็บรังนก และสำรวจถ้ำรังนกอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าที่ถ้ำไอ้ก้องใหญ่ พบลูกนกตัวเล็กๆ ตกจากรังตายแห้งอยู่ตามพื้นเป็นจำนวนมาก และพบร่องรอยของการก่อไฟภายในถ้ำเช่นกัน ส่วนรังนกอีแอ่นที่คนงานแบ่งกันทำงานเข้าไปที่ถ้ำต่างๆ มีรังนกหลงเหลืออยู่น้อยมาก แม่นกไม่มีเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะที่ถ้ำไอ้ก้องใหญ่ ตามปกติจะเก็บรังนกได้แต่ละรอบประมาณ 50 กิโลกรัม แต่มาครั้งนี้คนงานเก็บรังนกขาวได้ จำนวน 18 รังเท่านั้น

โดยที่ห้องประชุมเล็ก อบจ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ได้นัดทีมงานบริหาร อบจ. ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองเลขาคณะกรรมการรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ร่วมหารือในกรณีที่คนร้ายมีการขโมยรังนก ขณะที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากนอนเฝ้าเกาะ และใช้งบประมาณเกือบ 5 ล้านบาท เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอื่นๆ แต่รังนกถูกลักขโมยจนหมดเกาะ ที่สำคัญยังมีการจุดไฟไล่นกด้วย เห็นภาพแล้วน่าสลดใจ คนร้ายน่าจะวางแผนทำลายนกนางแอ่นไปพร้อมๆ กับการขโมยเก็บรังนก

ส่วนที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการประมูลรังนกเกาะสี่เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง โดยบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 400 ล้านบาท จากราคากลางที่ตั้งไว้ 360 ล้านบาท โดยในที่ประชุม นายพรพนม จันทรเทพ ป้องกันจังหวัดพัทลุง ได้รายงานถึงผลการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อส่งมอบเกาะรังนกในช่วง 10 วันให้แก่บริษัท สยามเนสท์ฯ ว่าเหตุการณ์ปกติ ซึ่งขัดแย้งกับรายงานของนายจเร แก้วขาว เจ้าหน้าที่ อบจ.พัทลุง ทำหน้าที่ฝ่ายเลขาคณะกรรมการรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ที่รายงานว่าพบรังนกสูญหายจากถ้ำ จากการลงสำรวจถ้ำรังนก 7 ถ้ำ พบว่ารังนกถูกขโมยจนเกลี้ยง ยกเว้นถ้ำคอม้า ที่มีรังนกเหลือเพียง 4 รังเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้


16 กันยายน 2564 หลังจากบริษัท สยามเนสท์ฯ ได้ส่งคนงานที่มีความชำนาญโดยเฉพาะในการเก็บรังนกจาก จ.ตรัง 100 คน เข้าเก็บรังนกภายในถ้ำต่างๆ ที่เหลือ โดยใช้เวลาแล้ว 4 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 10 วันถึงจะเก็บหมด โดยได้เข้าเก็บรังนกที่ถ้ำไอ้ก้องน้อย บนเกาะรูซิ้มเป็นถ้ำสุดท้าย ซึ่งเก็บได้เพียงเล็กน้อยเหมือนกับถ้ำอื่นๆ ที่ผ่านมา ที่สำคัญคนงานได้พบอุปกรณ์เสพยาเสพติดภายในถ้ำดังกล่าว จำนวน 3 ชุด จึงนำมามอบให้บริษัทฯ เก็บไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับคนงานเก็บรังนกนั้น วันนี้จะถอนตัวออกจากเกาะรังนกเพื่อกลับบ้าน 1 ชุด หลังจากนั้นก็จะทยอยถอนตัวจากเกาะอีก 2 ชุดในภายสัปดาห์นี้ เนื่องจากรังนกภายในถ้ำต่างๆ บนหมู่เกาะสี่เกาะห้าได้เก็บหมดแล้ว และได้จำนวนน้อยมาก ซึ่งคนงานที่เข้ามารับจ้างเก็บในครั้งนี้ ต่างบ่นกันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่คุ้มกับการเข้ามารับจ้างในครั้งนี้ เพราะได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากปริมาณของรังนกที่เก็บได้น้อยมาก ซึ่งค่าแรงส่วนหนึ่งจะได้จากเปอร์เซ็นต์ของรังนกที่เก็บได้ หากมีปริมาณรังนกมาก และน้ำหนักมากก็จะได้ค่าแรงเพิ่ม

17 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเก็บรังนกอีแอ่นที่ถ้ำดำ เกาะสี่เกาะห้า ท้องที่หมู่ 3 ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และเป็น 1 ใน 7 เกาะรวม 107 ถ้ำ ทางบริษัท สยามเนสท์ฯ ได้ทำการจัดส่งชุดเก็บรังนกในวันสุดท้ายนี้ จำนวน 8 คน ลงเก็บรังนกในถ้ำดำ ซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 30 เมตร ยาวประมาณ 30-40 เมตร ลึกประมาณ 40 เมตร และได้แทงรังนกไป ผลปรากฏว่าเพิ่งตั้งคิ้ว ยังเล็กอยู่ ไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการ จึงทำการเก็บและชั่งได้เพียง 0.06 กิโลกรัมเท่านั้น


และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 พ.ต.ต.ภิภพ มะโรหบุตร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เขตพื้นที่ 9 พร้อมคณะลงเรือเดินทางไปยังเกาะสี่เกาะห้า กลางทะเลสาบ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานรังนกอีแอ่นมูลค่า 400 ล้านบาท ที่ช่วงรอยต่อก่อนที่ผู้สัมปทานรายใหม่จะลงนามสัญญาเป็นเวลา 88 วัน มีคนร้ายเข้าไปขโมยรังนกจนเกือบหมด ในขณะที่จังหวัดพัทลุงใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย เฝ้ารักษาความปลอดเกาะรังนก ใช้งบประมาณเป็นค่าตอนแทนเกือบ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบร่องรอยคนร้ายก่อไฟไล่นกอีกด้วย

โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบของดีเอสไอในครั้งนี้ เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนเพื่อให้สอบสวนหาผู้กระทำความผิด แต่การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังไม่ได้สอบสวนอะไร เพียงแค่ลงเกาะเพื่อเก็บหลักฐาน และร่องรอยที่คนร้ายขโมยรังนก และทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมภายในถ้ำ เพื่อส่งให้กรมสอบส่วนคดีพิเศษ พิจารณาส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ลงพื้นที่เก็บหลักฐานอย่างละเอียดต่อไป

ด้านบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด ก็ได้ส่งคนงานชุดเก็บรังนกกลับขึ้นฝั่งทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้เก็บรังนก และเก็บขยะภายในถ้ำที่คนร้ายทิ้งไว้จำนวนมาก โดยใช้เวลาเก็บรังนกเป็นเวลา 5 วัน ได้รังนกขาวแค่ 34.76 กิโลกรัม และได้รังนกดำ 197.76 กิโลกรัมเท่านั้น ต่างกับเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 เก็บรังนกรอบแรกได้รังนกขาว 812.39 กิโลกรัม ได้รังนกดำ 1,263.50 กิโลกรัม ส่วนขยะที่คนร้ายทั้งไว้ในถ้ำเก็บได้ 883 กิโลกรัม พบร่องรอยก่อไฟรมควันไล่นกภายในถ้ำขนาดใหญ่ทุกถ้ำ และแม่นกก็หายไปทั้งหมด

จากไทม์ไลน์ที่ไล่ดูกันมาจึงพบว่า “ความเสียหาย” ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างร้ายแรง และมหาศาลอย่างมากในเชิงมูลค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะอยู่ในช่วงที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลเกาะรังนกอยู่ เรื่องนี้จึงมีลักษณะของการทำเป็น “ขบวนการใหญ่” และเหยียบย่ำบนความรู้สึกของ “คนใต้” โดยเฉพาะ “ชาวพัทลุง” เป็นอย่างมาก ที่คาดไม่ถึงคือ “รังนก” บนเกาะแห่งนี้เป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีพ่อแม่และลูกนก รังก็ถูกทำลายเสียหายหนัก ผลกระทบจากความเสียจึงเกิดตามกันไปเป็นลูกโซ่ที่ยากจะให้กลับมาเป็นเช่นเดิมในเร็ววัน




กำลังโหลดความคิดเห็น