คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย….ไชยยงค์ มณีพิลึก
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การก่อเหตุของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” ยังคงอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย แต่ที่เปลี่ยนไปคือ บีอาร์เอ็นหยุดการก่อเหตุในที่สาธารณะ เช่น ศูนย์การค้า ตลาด ชุมชน โรงเรียน รวมทั้งเลิกฆ่าหรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ยกเว้นใครเกี่ยวข้องกับ “กองกำลังรัฐ” หรือทำตัวเป็น “สายข่าว” ให้เจ้าหน้าที่ ที่ไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิมก็ยังต้องตกเป็นเป้าหมายหลักอยู่
ล่าสุด มีการเผาสถานที่ราชการและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใน อ.มายอ และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และลอบวางกับดักระเบิดแบบเหยียบในสวนยางและสวนผลไม้ไทยพุทธที่เข้าร่วมกองกำลังรัฐที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยช่วง 2-3 เดือนมานี้มี อส.ไทยพุทธเจ้าของสวนผู้บาดเจ็บและพิการไปแล้วถึง 2-3 ราย
กรณีลอบทำร้ายเจ้าของสวนมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนต้องการข่มขู่และขับไล่เพื่อยึดเอาที่ดินจากไทยพุทธจะหวนกลับมา ซึ่งเคยเกิดขึ้นถี่หลังไฟใต้ระลอกใหม่ถูกจุดช่วงต้นปี 2547 และต่อเนื่องอยู่หลายปี แต่ระยะหลังห่างหายไปนาน แต่ทำให้ไทยพุทธที่เคยมีอยู่ในพื้นที่กว่า 200,000 คน เหลืออยู่ไม่ถึง 50,000 คนในปัจจุบัน
เพียงแต่ปฏิบัติการในสวนยางและสวนผลไม้ไทยพุทธเวลานี้ยังอยู่ในวงจำกัดที่เจ้าของเป็น อส. ส่วนต่อไปจะลุกลามไปถึง ชรบ.และ อส.ทหารพราน หรือสวนของประชาชนทั่วไปหรือไม่ เรื่องนี้ต้องจับตากันต่อไป เพราะบีอาร์เอ็นเคยแถลงการณ์เตือนไว้ชัดว่า จะจัดการกับเฉพาะเจ้าของสวนที่ร่วมเป็นกองกำลังติดอาวุธให้รัฐเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องทำความกระจ่างให้ปรากฏว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นฝีมือแนวร่วมบีอาร์เอ็น เพื่อให้ประชาชนคลายกังวลและไม่ให้ลุกลามไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้ไทยพุทธตื่นกลัวเหมือนช่วงปี 2547-2549 ที่ถึงขั้นหลอนเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดมาแล้ว
ประเด็นต่อมา ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นประกาศศึกกับรัฐไทย เพราะต้องสูญเสียกองกำลังติดอาวุธไปมากจากการถูกปิดล้อมแล้ววิสามัญ ท่ามกลางโรคโควิด-19 ระบาด แม้มีความพยายามสืบค้นว่าไม่ใช่เพจที่มีฐานอยู่ที่มาเลเซีย แต่เมื่อแกนนำจากรัฐกลันตันไม่ปฏิเสธ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นความโกรธแค้นของกองกำลังในพื้นที่ เรื่องนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะที่ผ่านมา “การข่าว” ทั้งในพื้นที่และในมาเลเซียยังทำหน้าที่ได้ที่ดีพอ ล่าสุดภาคประชาสังคมปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็นยังรุกหนักขึ้น สังเกตได้จากการส่งสารว่าองค์กรต่างชาติทั้ง “เจนีวาคอล์” “ไอซีอาร์ซี” “อียู” และ “ยูเอ็น” ได้เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่เพื่อช่วยดับไฟใต้
ต้องขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นการเดินเกมที่มีแต่เข้าทางปืนของบีอาร์เอ็นเท่านั้น และน่าเป็นห่วงมากที่ยังไม่เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงจะแก้เกมได้อย่างไร การที่ “ผู้นำ” เอาแต่เดินยิ้มเข้าหามวลชนอย่างเดียวย่อมไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่ดีอย่างแน่นอน
ประเด็นสุดท้าย มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก “กระบวนพูดคุยสันติสุข” เพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบหรือไม่ คำตอบคือไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะลึกๆ แล้วเสือเหลืองต้องการใช้เวทีนี้แสดงให้โลกเห็นว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทย และการให้ที่พักพิงแกนนำก็ในฐานะเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น
เช่นเดียวกับกระบวนพูดคุยสันติสุขจะคืบหน้าหรือไม่ เรื่องนี้ไม่น่าจะอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคงไทยด้วย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ใช้เป็นเวทีนี้ร่วมแสดง “ปาหี่” มากกว่าหาทางดับไฟใต้ ขณะที่บีอาร์เอ็นใช้เวทีนี้เพื่อถ่วงรั้งให้บรรลุการขับเคลื่อนงานการเมืองทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และในเวทีระดับนานาชาติ
ดังนั้น ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ถูกใส่สีตีไข่สร้างภาพเสียใหญ่โตทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างยาวนานและสูญเสียงบประมาณไปมหาศาลแล้วนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับฝ่ายความมั่นคงรัฐไทย ฝ่ายบีอาร์เอ็น และฝ่ายมาเลเซีย พร้อมที่จะร่วมหลับนอนบนเตียงเดียวกัน แต่ขอฝันกันไปคนละเรื่องก็เท่านั้น
ดังนั้น จึงฟันธงไว้ตอนนี้ได้เลยว่า “วิกฤตไฟใต้” คงไม่ได้จบที่การตั้ง “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” อย่างที่บรรดา “พวกโลกสวย” วาดฝันกันไว้อย่างแน่นอน