คอไวละฮ์ หมัดเหล็ม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี บทความนำเสนอในวิชาการเขียนสำหรับบรรณาธิการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สังคมไทยอยู่คู่กับการทุจริตไม่ว่าจะเป็นการ “โกง” หรือการ “คอร์รัปชัน” มานานแสนนาน และเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในแวดวง “นักการเมือง” และ “ข้าราชการ” ยังดีที่ช่วงหลายสิบปีมานี้ได้เห็นประชาธิปไตยเบ่งบานขึ้นบ้าง เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภาคประชาชนจึงเข้มแข็งและสามารถจัดการกับการทุจริตต่างๆ ได้ แต่ก็มาหยุดชะงักกับการที่คณะทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหารซ้ำซ้อน ยังดีที่เวลานี้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวใหญ่ ทำให้คนในสังคมมีความหวังในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง
“คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป” หากพิจารณาคำๆ นี้ดูจะไม่ค่อยถูกอกถูกใจใครบางคน แต่เชื่อหรือไม่คำที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเป็นที่กล่าวขานอยู่ในแวดวงนักการเมืองไทยและข้าราชการมาช้านานแล้ว นักการเมืองและข้าราชการจำนวนหนึ่งใช้ชีวิตราวกับว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดอยู่นั้นไม่ผิดอะไรเลย ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดแม้แต่น้อย ส่วนสาเหตุอาจเป็นเพราะทำแบบนี้เป็นอาจิณ ทำต่อเนื่องจนกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปแล้วก็เป็นได้
หากจะพูดถึงเรื่องราวของการโกงกลับการคอร์รัปชัน สองสิ่งนี้คงหนีไม่พ้นให้ต้องนึกถึงเรื่องราวของนักการเมืองและข้าราชการนั่นเอง หลายๆ คนอาจจะไม่ยังเข้าใจว่าการโกงกับการคอร์รัปชันนั้นเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร เชื่อว่าส่วนหนึ่งคงบอกว่าเหมือนกัน และก็มีอีกส่วนหนึ่งบอกว่าไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามหลายคนกลับยังไม่สามารถให้เหตุผลได้ว่า ที่เหมือนกันนั้นเพราะเหตุอะไร หรือที่ไม่เหมือนกันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “โกง” ไว้ว่า ใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง เช่น โกงเงิน, แสดงอาการดื้อไม่ยอมทำตาม เช่น เด็กโกง ม้าโกง ด้านคำว่า “คอร์รัปชัน” ได้ให้ความหมายว่า เป็นคำกริยา หมายถึงโกง, เบียดบัง, ทุจริต, ฉ้อราษฎร์บังหลวง, รับสินบน
หากมองจากความหมายตามที่พจนานุกรมระบุไว้ เชื่อว่าหลายต่อหลายคนอาจจะยังไม่กระจ่างแจ้งในความเข้าใจ เพราะทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกัน ทว่าหากหยิบยกเอาคำนิยามสั้นๆ แต่กระชับใจความยิ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักคิดนักเขียนระดับปราชย์คนสำคัญไม่เฉพาะแต่ชาติไทยเท่านั้น องค์การสหประชาชาติเองก็ยังให้การรับรองไว้แล้วด้วย โดยได้กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2518 ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ที่ได้ให้คำตอบกับผู้อ่านไว้ว่า...
“การโกงคือ คอร์รัปชันที่จับได้ ส่วนคอร์รัปชันคือ การโกงที่ยังจับไม่ได้”
เชื่อว่าจากคำนิยามของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังกล่าวน่าจะช่วยขยายความหมายทั้งคำว่าโกงและคำว่าคอร์รัปชันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะทำให้นึกภาพออกกันแล้วใช้ไหมว่า คำสองคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
การโกงกับการคอร์รัปชันในปัจจุบันก็ยังสามารถพบเจอได้อย่างมากมายในสังคมไทย เพียงแต่ที่ผ่านมาประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ทำอะไรกันแทบไม่ได้ หรือทำได้เพียงแค่รับรู้มาแล้วก็ต้องอยู่เฉยๆ ถึงแม้จะเห็นมากับตาตัวเองก็พูดอะไรให้สาธารณชนรับรู้ด้วยไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนที่ถูกปิดปากหรือกลายเป็นคนบอดใบ้
แน่นอนประชาชนจำนวนมากย่อมจะไม่เห็นด้วยกับการโกงหรือคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น และใช่ว่าประชาชนจะไม่พยายามที่จะต่อต้าน เพียงแต่อย่างที่รู้กันว่าในประเทศไทยเราเมื่อมีใครพูดความจริงออกไป พวกเขามักจะถูกกระทำไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งที่ล้วนแต่เกิดอันตรายได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะช่วงหลายปีมานี้ที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น เป็นผลมาจากกลไกการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้ทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกให้ใครอยู่หรือจะเลือกให้ใครไปได้อย่างมีผลรองรับ เมื่อประชาชนเข็มแข็งขึ้นจึงทำให้เกิดมีภาพของการปราบคนโกงหรือคนที่กระทำการคอร์รัปชันให้เห็น แต่ก็ต้องเสียดายที่มาถูกตัดตอนจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารใหญ่ซ้ำซ้อนอีก 2 ครั้งช่วงกว่าทศวรรษครึ่งมานี้
เรื่องราวที่ประชาชนลุกขึ้นปราบคนทุจริตยืนยันได้จากคดีสำคัญในประประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบันทึกไว้ว่า มีนักการเมืองใหญ่ระดับรัฐมนตรีต้องถูกจำคุกและยึดทรัพย์สินมาแล้ว เพราะถูกตัดสินว่ามีการรับสินบาทคาดสินบน ได้แก่ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่ารับสินบนเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาทจากบริษัทยา และมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยศาลได้พิพากษาไว้ในปี 2546 มีทั้งโทษจำคุกและยึด
สำหรับประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้วจะต้องบันทึกไว้ว่า ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ภาคประชาชนสามารถรวมตัวกันลุกขึ้นจัดการกับนักการเมืองที่โกงหรือคอร์รัปชันได้ และที่สำคัญนายรักเกียรติ สุขธนะ ถือเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นถึงระดับรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดีทุจริตรับสินบน
กรณีของนายรักเกียรติ สุขธนะ ทำให้สังคมไทยมีความหวังขึ้นมาบ้างตามสำนวนไทยที่เคยกล่าวขานกันมาว่า “คนทำดีย่อมได้ดี คนทำชั่วย่อมได้ชั่ว” เพราะคนโกงได้ถูกจัดการไปตามกระบวนการยุติธรรม หลังจากที่รับรู้กันว่าการโกงมีมาตั้งอดีตอันไกลโพ้นแล้ว
เรื่องราวของการคอร์รัปชันนั้น เป็นที่รู้กันว่าใดมีผลประโยชน์ ที่นั่นก็ย่อมมีการคอร์รัปชัน โดยอาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ แล้วพัฒนาจนกลายเป็นสิ่งใหญ่โต การคอร์รัปชันจะพบได้จากทุกระดับสังคม ไม่ว่าจะเป็นในชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ประเทศ หรือแม้กระทั่งระดับโลก และสามารถเกิดได้ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่คอร์รัปชันได้ถูกพิสูจน์ว่าโกงแล้วดังกล่าว หรือแม้กระทั่งในรัฐบาลต่างๆ นับเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็ตาม
ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดปัจจุบันก็มีข่าวที่สังคมสงสัยว่าจะมีการทุจริตหรือไม่ ดังกรณีนายทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ (อบต.) อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้จัดทำเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ โดยใช้งบประมาณในโครงการนี้ไป 1,079 ล้านบาท ซึ่งข่าวนี้เป็นที่ฮือฮาเป็นอย่างมาก ถึงขั้นทำให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเสาไฟฟ้าดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการนี้
หลังเกิดข่าวประชาชนคนรุ่นใหม่ต่างมีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงต้องนำเสาไฟฟ้าไปติดในพื้นที่รกร้าง บางพื้นที่แม้จะดูเป็นถนนหนทาง แต่ก็เป็นทางตัน ไม่มีบ้านผู้คน อีกทั้งระยะห่างของเสาไฟฟ้าแต่ละต้นมีการติดตั้งชนิดถี่ยิบย่อยเกินไป แม้จะมีบุคคลระดับบริหารงานรัฐกิจพยายามให้ข้อมูลว่าเห็นด้วยกับการติดเสาไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่วายตั้งข้อสงสัยให้กับสังคมว่าอยากให้ อบต.ราชาเทวะนำเงินงบประมาณดังกล่าวดูแลปัจจัย 4 ของประชาชนให้ดีขึ้นจะดีกว่าไหม เนื่องจากถนนหนทางก็ยังไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ในคลองน้ำก็ยังเน่าเสีย อีกทั้งในตอนนี้คนภายในตำบลราชาเทวะติดโควิด-19 ไปแล้วจำนวนมาก และก็ยังไม่ได้รับการเยียวใดๆ จากทาง อบต.ราชาเทวะเลย
จากข่าวนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ นานาตามมามากมายว่า ทำไมต้องเป็นเสาไฟฟ้าติดตั้งโคมไฟกินรี ทำไมต้องไปติดในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ทำไมต้องติดตั้งเสาไฟชนิดถี่ยิบแบบใกล้กันเกินไป แล้วทำไมถึงไปให้ความสำคัญกับการติดตั้งเสาไฟมากกว่าการดูแลประชาชนให้ดีที่สุด นอกจากนี้แล้วก็ยังมีทำไม แล้วทำไม และทำไมต่อเนื่องได้อีกมากมาย
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขานและปรากฏเป็นข่าวโด่งดังในชั่วข้ามคืน อันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผลการประกาศการคัดเลือกรับบุคคลเข้าทำงานในสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดพัทลุง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเนื่องจากทาง ทสจ.พัทลุงประกาศรับสมัครผู้เข้าสอบแข่งขันเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ มีผู้เข้าสมัครร่วมกันทั้งหมดเกือบ 400 คน
เมื่อถึงเวลาประกาศผลการคัดเลือกก็ทำให้ผู้สมัครหลายๆ คนเกิดข้อสงสัย เนื่องจากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกปรากฏว่า 1 ใน 5 มีนามสกุลเดียวกับบุคลากรสังกัด สทจ.พัทลุง ทำให้มีผู้เข้าสอบคัดเลือกบางคนไปร้องเรียนกับสื่อมวลชนถึงเรื่องความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกครั้งนี้ จากนั้นผู้คนในสังคมก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะเรื่องราวได้ไปปรากฏในเฟซบุ๊กและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่ได้เข้ารับการสอบคัดเลือกแล้วรู้สึกไม่เป็นธรรมต่างออกมาพูดถึงประเด็นนี้กันว่า ทุกคนก็ต้องเสียเงินไปกับค่าใบสมัคร ค่าน้ำมันในการเดินทาง และเสียเวลาต่างๆ ทุกคนคาดหวังที่จะได้งานดีๆ เพื่อเลี้ยงตนเองได้ แต่สิ่งที่พวกเขาถูกกระทำนั้นเหมือนไม่รักษาน้ำใจของผู้สมัครคนอื่นๆ
พร้อมกับมีการตั้งคำถามต่างๆ มากมายว่า ถ้าหากจะมีการล็อกตำแหน่งแบบนี้ แล้วจะเปิดรับสมัครไปทำไม หรือจะให้คนอื่นมีความหวังเพื่ออะไร และมีอะไรมาเป็นตัววัดว่าคนที่ผ่านการคัดเลือกมีความสามารถจริงๆ เพราะในการที่จะเข้าไปทำงานมีเพียงการสอบสัมภาษณ์เท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือพ่อของผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับเข้าไปทำงาน
โดยทาง สทจ.พัทลุงได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้เหตุผลว่า ทุกคนที่รับเข้ามามีคุณสมบัติพร้อมที่จะได้รับการคัดเลือก อีกทั้งบุคคลที่เลือกมาสามารถทำงานได้เลย โดยไม่ต้องสอนงาน ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้ได้ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากเช่นกันว่า ทำไมถึงให้เหตุผลเพียงเท่านี้ หรือการทำงานเป็นนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสืบทอดได้ทางสายเลือดอย่างนั้นหรือ
จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์แต่ละอย่างเริ่มจากสังคมเล็กๆ หรือในหน่วยงานเล็กๆ และจากคนที่มีตำแหน่งเล็กๆ กลายมาเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โตขึ้นมา และหน่วยงานหรือต้นสังกัดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งมีกรณีของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกข้อหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจำนวนประมาณ 711 ไร่ ซึ่งต้องถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงในฐานะสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ โดยในกรณีนี้มีการยืนยันปรากฏให้สังคมรับรู้แล้วว่า เป็นการถือครองที่ดินด้วยเอกสาร ภบท.5 ที่ดินประเภท ส.ป.ก. โดยแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินอีกด้วย
สำหรับตัวนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสมบัติของตระกูลที่สืบทอดกันมา โดยชี้แจงว่าได้ทำฟาร์มไก่และเสียภาษีที่ดินมาตลอด ซึ่งที่ดินแปลงนี้ครอบครัวได้ซื้อมาจากเกษตรรายอื่นตามเอกสาร ภบท.5 และได้ใช้ทำมาหากินอย่างสุจริต กล่าวคือ เลี้ยงไก่อย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมาย มีใบเสียภาษีและใบรับรองมาตรฐานฟาร์มยืนยันมาก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เสียอีก
อย่างไรก็ตามเวลานี้นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ มีอันต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไปแล้ว และหากคดีความถึงที่สุด โดยถ้าศาลตัดสินว่าเจ้าตัวที่ได้เป็นถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการบุกรุกที่ดินอย่างจงใจจริง ยังต้องถือว่าได้กระทำความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกด้วย รวมถึงกระทำการอันเป็นเหตุเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งโทษสูงสุดในการทำผิดนั้นคือ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ไปโดยปริยาย
อีกหนึ่งข่าวที่ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าติดตามเช่นเดียวกันคือ ข่าวที่กล่าวถึงเรื่องราวที่ว่า “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ถือได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบเล่นสื่อสังคมออนไลน์ย่อมต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับบทบาทของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยตกเป็นข่าวเรื่องการสวมใส่แหวนเพชรและนาฬิการาคาแพงระหว่างการถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดประยุทธ์ 5 ที่ทำเนียบรัฐบาล เหตุเกิดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา จนเกิดการล้อเลียนขึ้นมาโดยคนรุ่นใหม่มากมายในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นวลีเด็ดคือ “ยืมมา” จนเป็นกระแสขบขันและร่วมกันติดตามผลการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
ภาพถ่ายในวันนั้นปรากฏชัดว่า พลเอกประวิตรได้ใส่นาฬิกาหรูยี่ห้อริชาร์มิลล์ พร้อมสวมแหวนเพชรเห็นได้โดดเด่นสะดุดตา ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งสองอย่างนี้ เพราะในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช. ไม่พบว่ามีการระบุถึงทรัพย์สินเครื่องประดับทั้งสองรายการนี้ไว้ว่าอยู่ในทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่น
เมื่อปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตแล้วทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้ส่งหนังสือเพื่อขอคำชี้แจงจากพลเอกประวิตร ซึ่งพลเอกประวิตรให้เหตุผลเป็นคำตอบต่อสังคมไว้ด้วยว่า แหวนที่ตนเองได้ใส่มาในวันที่ถ่ายรูปนั้นเป็นมรดกตกทอดจากแม่ ตนเองได้หยิบเอามาใส่ในวันสำคัญเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงให้เหตุผลอีกว่ายังไม่รู้เลยว่าแหวนวงนี้จะตกเป็นมรดกของใครในบรรดาพี่น้องสามคนของตนเอง
แต่เรื่องตลกไม่จบเพียงเท่านี้ พลเอกประวิตรยังชี้แจงอีกว่า นาฬิกาที่ตนใส่นั้นเป็นนาฬิกาของเพื่อนรักของตน ซึ่งตนเองได้หยิบยืมมาใช้ชั่วคราว พร้อมกับพูดว่าถ้าหากการยืมทรัพย์สินเพื่อนมาใช้ทำให้เป็นประเด็นในสังคม เขาก็พร้อมจะเอากลับไปคืนให้เพื่อน ในเรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่า แหวนวงนั้นจะเป็นของมารดา ส่วนนาฬิกาเรือนนั้นจะเป็นของเพื่อนรักของพลเอกประวิตรอย่างที่กล่าวไว้จริงๆ หรือไม่
ในที่สุดจากการตัดสินคดีความที่ถูกกล่าวหาของพลเอกประวิตรนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่เป็นความผิด โดยทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงให้เห็นว่าการยืมทรัพย์สินมีสองลักษณะคือ ยืมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นหนี้สิน และยืมในเชิงนิติประเพณี พร้อมทั้งยกกรณีตัวอย่างนักการเมืองที่เคยยืมรถหรูจากเพื่อนต่างประเทศมาประกอบการตัดสินข้อกล่าวหาของพลเอกประวิตรในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามก็ไม่วายเป็นที่คลางแคลงใจต่อผู้คนในสังคมจำนวนมากว่า การตัดสินของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อข้อกล่าวหาของพลเอกประวิตรในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินที่มีความยุติธรรมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะพลเอกประวิตรนั้นเป็นผู้มากบารมีทางการเมือง อีกทั้งปัจจุบันก็ยังมีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถทำให้คดีนี้จบลงไปอย่างง่ายดาย เพราะหากบุคคลที่ถูกข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้เป็นบุคคลที่ไม่มีตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง เขาจะพ้นมลทินได้อย่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตัดสินพลเอกประวิตรหรือไม่
นอกจากนี้แล้วคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปรากฏว่าได้มีข่าวคราวที่ส่อถึงความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนั้นสังคมเกิดข้อกังขาและไม่ให้ความไว้ใจต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) โดยเฉพาะกับการมีคำวินิจฉัยข้อขัดแย้งหรือการตีความกฎหมายเลือกตั้งที่ออกมาหลายประเด็นว่า มีความแปลกน่าประหลาดอยู่ไม่น้อย ซึ่งสร้างความแปลกใจให้แก่ประชาชน เพราะต่างเห็นว่าไม่น่าจะตรงตามการคาดหวังและไม่น่าเชื่อถือ
เนื่องจากในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.มีเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้หลายๆ อย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายบัตรเลือกตั้งข้ามวัน แถมบัตรเลือกตั้งมีมากกว่าจำนวนประชาชนที่ได้เข้าคูหาไปใช้สิทธิ อีกทั้งยังมีบัตรเขย่งในหน่วยเลือกตั้งสามถึงสี่หน่วย และที่สำคัญยังมีหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่เป็นที่กังขาต่อสังคม เช่น มีข่าววงในระบุว่ามีการบังคับให้ทหารไปลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองบางพรรค หรือถึงขั้นมีคำครหาที่ชี้ไปทำนองว่ามีการโกงการเลือกตั้งต่างๆ นานาอีกด้วย ทั้งหมดทั้งปวงเป็นไปเพื่อทำให้พลเอกประยุทธ์ได้กลับมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายหลังจากได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีฐานที่มาจากการทำรัฐประหารมาก่อน
ข่าวคราวที่เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์นี้มีประชาชนออกมาพูดถึงและให้ความสนใจกันมากมาย โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งและการจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการบริหารประเทศได้ถูกหยิบมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้ง ความตื่นตัวของภาคประชาชนเห็นได้จากในกระแสสื่อสังคมออนไลน์มีการติดแฮชแท็กเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นวงกว้าง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นรู้ในส่วนของภาคประชาชนเป็นอย่างมาก
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดที่กำลังประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ปรากฏว่าเป็นอีกวิกฤตปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรง การบริหารชาติบ้านเมืองของคณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิกฤตปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเท่าที่ควร กลับยังมีการเพิ่มงบประมาณเพื่อที่จะซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แทนที่จะหันไปสนใจให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชนก่อน
ประชาชนต่างพากันสงสัยในการบริหารของพลเอกประยุทธ์ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากตามความเป็นจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้เกิดสงคราม จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณไปซื้อเรือดำน้ำหรืออาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการศึกสงคราม
แต่เมื่อเริ่มมีการเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ พลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหาภัยพิบัติโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มมีความขับเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าในตอนนี้ คือ แทนที่ประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบและมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นประเทศแรกๆ ของโลกเลยด้วย แต่กลับไม่ได้นำเข้ามาตามที่ได้ประกาศแก่ประชาชนไว้ และแม้จะมีความพยายามนำเข้าวัคซีนจำนวนมากในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพตามที่ประชาชนต้องการ
ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่คนรุ่นใหม่ในสังคมเห็นเป็นไปทำนองเดียวกันว่า เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพหรือมีเปอร์เซ็นต์ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้น้อยมาก แถมยังมีราคาเฉลี่ยแพงกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ด้วยนั้น ตามความเป็นที่จริงแล้ววัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 มีหลากหลายให้ได้เลือกมากมาย เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวัคซีนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาประเทศ และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ยิ่งกว่าวัคซีนซิโนแวค แต่ทำไมรัฐบาลไทยยังคงยืนยันที่จะนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาฉีดให้ประชาชน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นวัคซีนที่มีราคาสูงกว่าและคุณภาพต่ำกว่า
เมื่อประชาชนคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก พร้อมๆ กับมีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับมาตรการดำเนินการแก้ปัญหาโรคระบาดของรัฐบาล ที่ผ่านมาประชาชนก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องถึงสิทธิที่จะได้รับมากมายเพียงนี้ แต่ครั้งนี้เรื่องราวของวัคซีนนับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ เชื่อว่าหลายครอบครัวอาจจะไม่ได้พบกับความสูญเสียมากมายและได้รับผลกระทบถึงขั้นยากลำบากเช่นนี้
อันที่จริงประชาชนเสียภาษีให้กับรัฐบาลในแต่ละปีถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย จึงเป็นที่คาดหวังว่าเม็ดเงินภาษีที่ได้จ่ายไปจะทำให้เกิดการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเหมือนกับผู้นำในหลายๆ ประเทศที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากประชาชนของประเทศนั้นๆ ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ รวมถึงได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาอย่างทั่วถึง หากทำได้คนรุ่นใหม่ก็ไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือออกมาประท้วงให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนดีๆ เข้ามาฉีดให้ แต่สำหรับประเทศไทยหากใครอยากได้รับวัคซีนคุณภาพดี เขากลับจะต้องควักจ่ายเงินส่วนตัวจ่ายเป็นค่าวัคซีนเหล่านั้นเอง
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนคนไทยต้องออกมาเรียกร้องประโยชน์เกี่ยวกับสิทธิของตัวเอง เรียกร้องการบริหารจัดการภาษีที่ประชาชนจ่ายไปให้ถูกนำไปใช้ในสิ่งที่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะประชาชนคนส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลและได้รับสวัสดิการแห่งรัฐที่ดีๆ ทำไมต้องปล่อยให้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องบนท้องถนน เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ได้ชื่อว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นระบอบการปกครองที่อยู่ภายใต้เผด็จการ
ในอดีตกาลที่ผ่านมาประชาชนมีสิทธิเรียกร้องในสิทธิที่ตนเองจะต้องได้รับ ประชาชนสามารถเลือกรัฐบาลได้ตามที่ตัวเองเห็นเหมาะสมซึ่งเกิดขึ้นได้จากระบบการเลือกตั้ง โดยได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศชาติจากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอย่างแท้จริง ประชาชนสามารถออกไปเรียกร้องไปประท้วงให้รัฐบาลได้ตลอดเวลา หากรัฐบาลที่พวกเขาเลือกตั้งเข้าไปไม่เป็นไปตามคาดหวัง
แต่เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยกลับมีรัฐบาลที่มาจากกระบวนการรัฐประหาร แล้วก็มีการสืบสานอำนาจต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน การออกมาเรียกร้องหรือออกมาพูดถึงสิทธิที่ประชาชนจะได้รับกลับไม่สามารถพูดได้เหมือนกับว่าโดนปิดปากไว้
อย่างไรก็ตามใช่ว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพียงแต่รัฐบาลไม่ได้สนใจในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมากกว่าก็เท่านั้น อย่างที่เห็นกันได้ทั่วไปว่าคนรุ่นใหม่เริ่มออกมาเรียกร้องในสิทธิที่ตนเองจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไป เริ่มจากเสียงเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนที่หวังถึงการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล เพราะหากไม่มีการเรียกร้องรัฐบาลก็จะไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ หรือเรียกได้ว่ารัฐบาลยุคนี้ขับเคลื่อนด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ขับเคลื่อนด้วยการประท้วงของประชาชน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนกล้าที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น
เวลานี้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนเริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ 7 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้เกิดการพัฒนาในด้านใดบ้าง ประชาชนได้รับการดูแลอย่างที่อย่างที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัญญาไว้อย่างไรหรือไม่
เวลานี้การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นจากเสียงเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะกลายเป็นเสียงที่ดังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหากใครรู้สึกไม่ดีกับการกระทำของรัฐบาลที่บริหารชาติบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ หากใครรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมจากการบริหารงานของรัฐบาล นั่นก็แปลว่าอย่างน้อยคนๆ นั้นก็มีความรู้สึกนึกคิดเพื่อส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชาติบ้านเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เรื่อยๆ
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากในภายภาคหน้ามีการเลือกตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ สังคมไทยจะได้รัฐบาลที่ไม่มีการโกง รัฐบาลที่ไม่มีชื่อเสียงในเรื่องของการคอร์รัปชัน ประชาชนอาจจะได้รับสวัสดิการแห่งรัฐอย่างสมควรที่จะได้รับ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ณ ตอนนี้ ประชาชนอาจจะได้รับวัคซีนคุณภาพดีๆ ที่ไม่เพียงแค่ป้องกันโรคติดต่อที่อาจนำไปสู่การตายเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยกลับมาเดินหน้าต่อไปได้แบบปกติ
ดังนั้น นอกจากเสียงของประชาชนจะมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริงสำหรับประเทศไทยแล้ว ในเวลานี้คนรุ่นใหม่นับเป็นความหวังว่าจะช่วยกันรับไม้ต่อจากคนรุ่นเก่าขับเคลื่อนชาติบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะกับการที่ช่วยทำให้สังคมไทยมีการโกงและการคอร์รัปชันลดลง หรือถ้าเป็นไปได้ก็ช่วยทำให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยเลยก็จะดีมาก