ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กสศ.ภูเก็ต จับมือมูลนิธิต่างๆ สานต่อเส้นทางการศึกษาให้เด็ก หลังครอบครัวประสบวิกฤตโควิด-19 จนเฉียบพลัน ขาดรายได้ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา มอบทุนการศึกษาได้เรียนต่อ ระบุยังมีอีกจำนวนมากตกอยู่ในภาวะหลุดจากระบบการศึกษา
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเวรัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต รวมมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 155 ทุนการศึกษา ประกอบด้วย ทุนจาก กสศ.ภูเก็ตจำนวน 101 ทุน จากมูลนิธิ แองเจิลส์ วิงส์ ฟาวน์เดชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล โดย “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซม่อน” อดีตนางสาวไทย และมิสยูนิเวิร์ส จำนวน 32 ทุน และทุนจากมูลนิธิบุญรอด เอกพจน์ วานิช จำนวน 19 ทุน นอกจากนั้น ยังมีนายสุพจน์ กุญชรมณี จำนวน 2 ทุน นายทศพร เทพบุตร จำนวน 1 ทุน และนายไสลเกษ วัฒนพันธ์ จำนวน 1 ทุน
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานด้วยกัน ประกอบด้วย กสศ.กองทุนเสมอภาคทางด้านการศึกษา จ.ภูเก็ต มูลนิธิแองเจิลส์ วิงส์ ฟาวน์เดชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล โดย “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซม่อน” อดีตนางสาวไทย และมิสยูนิเวิร์ส และทุนจากมูลนิธิบุญรอด เอกพจน์ วานิช ที่มอบทุนการศึกษาให้เด็กภูเก็ตติดต่อกันมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว โดยผ่านทางสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เด็กและครอบครัวต้องประสบกับปัญหาจนเฉียบพลัน เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ นักเรียนนักศึกษาอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา
นางอัญชลี กล่าวต่อไปว่า ภูเก็ตจากเมืองท่องเที่ยวมีรายได้ดี รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เก็บข้อมูลตัวเลข ชี้ว่า รายได้ต่อคนต่อเดือนของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์คนจนทั่วประเทศไทยของ จปฐ. ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัส เรียกว่าจนเฉียบพลัน พ่อแม่ผู้ปกครองตกงานตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีเด็กและนักศึกษาจำนวนมากที่หลุดจากภาคการศึกษา และเสี่ยงที่จะหลุดจากภาคการศึกษาอีกจำนวนมาก ตัวเลขการกลับเข้ามาเรียนลดลง เช่น คนที่เคยเรียน กศน. เคยทำงานในโรงแรม ส่งตัวเองเรียน หรือฝึกอาชีพเพิ่มเติม เมื่อถูกพักงาน อัตราคนเรียนต่อ กศน.น้อยลง จากเดิมปี 2562 สมัคร 1,800 คน วันนี้เหลือเพียง 170 คน นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กหายไปจากระบบวันเปิดเทอมที่ผ่านมา 10 เปอร์เซ็นต์ และยังมีกลุ่มที่มีโอกาสหลุดจากระบบอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเด็กที่ควรจะได้รับการดูแลจำนวนมาก ทั้งเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและกำลังอยู่กลุ่มเสี่ยงจะหลุดจากระบบ ที่ผ่านมาได้ทำเรื่องไปยัง กสศ.เพื่อลงไปสำรวจและช่วยเหลือ พบว่าในช่วงที่ 6 เดือนที่ผ่านมามีการช่วยเหลือไปแล้ว 500 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการช่วยเหลืออีก 350 ราย แต่พบว่าขณะนี้ยังมีผู้ปกครองที่ขอความช่วยเหลือเข้ามาอีกจำนวนมาก ซึ่งตนพยายามที่จะติดต่อไปยังหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กที่พ่อแม่ ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประสบปัญหาจนเฉียบพลัน โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการมอบทุนการศึกษา และการฝึกอาชีพ ซึ่งเป็นอีกบทบาทที่สมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทยเข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน
นางอัญชลี กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่ทำให้รับทราบปัญหาต่างๆ มากมาย เด็กนักเรียนนักศึกษาบางคนเรียนเก่งแต่ต้องหยุดเรียนเพราะพ่อแม่จนเฉียบพลัน บางคนสอบติดคณะแพทย์ แต่ไม่มีเป็นจองตั๋วที่นั่ง บางคนจ่ายค่าเทอมไม่ทันก็ต้องหมดสิทธิในการเข้าเรียน ซึ่งพบว่าปัญหาเหล่านี้มีจำนวนมาก ทางเราเองพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กๆ ได้กลับเข้ามาเรียน และได้เรียนตามที่ต้องการ
นอกจากนั้น สิ่งที่พบอีกอย่างคือ ปัญหาการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ พบว่ามีบางคน บางครอบครัวที่ผลการเรียนตกต่ำเนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่ขาดอุปกรณ์ในการเรียน ไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอปัญหาไปยังทาง อบจ.ภูเก็ต เพื่อให้จัดตั้งศูนย์การเรียนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้มีที่เรียน
ขณะที่ “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซม่อน” อดีตนางสาวไทย และมิสยูนิเวิร์ส ประธานมูลนิธิแองเจิลส์ วิงส์ ฟาวน์เดชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงการมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาในภูเก็ต ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ช่วยเหลือน้องๆ นักศึกษา