xs
xsm
sm
md
lg

“คนรุ่นใหม่” กับ “ความหลากหลายทางเพศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูริทัต สงขาว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี บทความนำเสนอในวิชาการเขียนสำหรับบรรณาธิการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

อันเนื่องมาจากในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ ปรากฏว่ามีเรื่องราวของ “กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” ร่วมเป็นหนึ่งในกำลังหลักอยู่ด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจนำเรื่องราวของชาว LGBTQ+ ที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่มากล่าวถึงไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้

คนเรามีความแตกต่างกัน ไม่มีใครมีลักษณะนิสัยใจคอหรือจิตใจเหมือนกันทุกอย่าง บางคนมีจิตใจดี นิสัยดี แต่รูปลักษณ์อาจอ้วนและดำ บางคนอาจเกิดมาหน้าตารูปลักษณ์สละสลวย แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา บางคนเกิดมาพร้อมกับครอบครัวและสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ดี พอๆ กับรูปลักษณ์หน้าตาและนิสัยก็ล้วนดีไปหมด หรือบางคนก็ตรงข้ามอย่างที่ว่าไปแล้วได้เช่นกัน

มีทฤษฎีที่อธิบายความเชื่อชาวญี่ปุ่นไว้ว่า คนเราทุกคนจะมีตัวตนอยู่ 3 ตัวตนคือ 1.ตัวตนที่เราอยากแสดงออกหรือถ่ายทอดออกไปให้คนทั่วไปในสังคมได้เห็น 2.ตัวตนที่เราแสดงออกให้เฉพาะคนสนิทชิดใกล้ได้เห็น และ 3.ตัวตนเราที่ไม่อยากให้ใครได้เห็น ซึ่งตัวตนแรกที่เราอยากเปิดเผยให้เพื่อน คนรู้จักและคนในสังคมได้เห็นนั้น ถือเป็นตัวตนที่เราทั้งปรับและพัฒนาให้ออกมาดีที่สุดในแบบฉบับของตัวเราเอง

“โคดาวาริ” คือวิถีแห่งการพัฒนาตัวเองของคนญี่ปุ่นที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก เป็นปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง จากผลงานของผู้คนในแดนปลาดิบไม่ว่าจะเป็นการรักษาคุณภาพของสินค้า การบริการได้อย่างยอดเยี่ยมจนแทบไม่มีที่ติ การทำให้บ้านเรือนสะอาดสะอ้าน สินค้าที่ออกวางจำหน่ายก็ได้มาตรฐานระดับโลก ผู้คนมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย ผสานกับความตั้งใจแน่วแน่ในการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุด ใส่ใจในรายละเอียด ประณีตบรรจง พิถีพิถัน เรียนรู้ ทบทวน พัฒนาตนเองให้สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้น จนกลายเป็นมาตรฐานการทำงานแบบญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน โคดาวาริยังแฝงแนวคิดการรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม เคารพในงานที่ทำ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย ไม่ว่าเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นเวลาลงมือทำอะไรจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทำกันชนิดสุดชีวิต มีความจริงจังในทุกเรื่อง ไม่ปล่อยผ่านหรือผ่อนปรนให้สิ่งใด แม้ว่าจะฟังดูตึงเครียดไปบ้าง แต่หลักการนี้ก็ช่วยพิสูจน์ได้ว่าการทำงานที่มาจากข้างใน ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลิศ และในทางอ้อมยังสร้างความสุขให้ชีวิตคนทำงาน ช่วยขจัดความรู้สึกท้อแท้ ห่อเหี่ยวหรือเบื่อหน่ายออกไป เพราะมีโฟกัสในการสร้างผลงานให้ได้ผลลัพธ์ดีขึ้นมาในทุกๆ วัน

บางครั้งคนเราต้องการที่จะให้คนอื่นมองเข้ามาในตัวเรา มองเห็นตัวเราแต่ในสิ่งที่ดีๆ เราไม่สามารถที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเราได้ทั้งหมด เพราะการที่เราแสดงออกหรือเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกไปอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความไว้ใจ แต่ข้อเสียก็คือบุคคลภายนอกอาจมองเราว่านิสัยไม่ดี น่ารำคาญ หรือมองเห็นด้านลบต่างๆ นานา ดังนั้น การที่คนเรามีตัวตน 3 แบบหรืออาจจะหลากหลายแบบกว่านั้น นั่นก็แล้วแต่บุคคลด้วยว่าจะนำเสนอหรือแสดงตัวตนของเราอย่างไร การที่คนเรามีตัวตนที่หลากหลายก็อาจจะเป็นเพราะการใช้ชีวิตที่มีหลากหลายรูปแบบ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในแต่ละอย่างให้ทัน โดยเฉพาะการไปพบเจอเจอคนที่เรารัก

เชื่อไหมว่าความรักจะเดินทางมาหาเราเอง คนเราทุกคนล้วนได้รับความรักมาตั้งแต่วัยเด็ก ความรักจากพ่อแม่ ความรักจากญาติพี่น้อง เมื่อเข้าสู่วัยการเรียนก็จะได้รับความรักจากเพื่อนและจากคุณครู แต่เราทุกคนกลับดิ้นรนแสวงหาและต้องการได้ความรักจากคนที่เราชอบ ความรักนั้นเปรียบได้ทั้งยารักษาที่ดี และอาวุธที่สามารถทำลายล้างชีวิตคนเราได้ด้วยเช่นกัน

การที่เราตามหาความรักที่จริงใจ ความรักที่บริสุทธิ์หรือรักที่แท้จริงนั้น เราทุกคนต้องผ่านการลองผิดลองถูก เจอความรักที่แย่หรือไม่ดีบ้าง หรือถึงกับความรักทำลายชีวิตเรา ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจกัน ความรักที่จะอยู่ได้ยั่งยืนยาวนานจึงต้องมีความเข้าใจกันด้วย เพราะทุกคนต้องการคนรักที่รู้ใจเรา เข้าใจในความเป็นเรา รู้จิตใจและนิสัยของเรา แต่ก็มีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดในความสัมพันธ์รักคือ การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพราะความรักที่ทุกเรากำลังแสวงหาอยู่ก็คือคนที่อยากให้มาดูแลเอาใจใส่และไม่ทิ้งเราไป

ดังนั้น ความรักที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยืนยาวต้องมี 2 ปัจจัยที่สำคัญคือ การเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ แต่ความรักและความต้องการของคนบางคนก็โชคดีที่ไปหมดทุกอย่าง เพราะสามารถหาและพบกับความรักที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

ในชีวิตของคนเราล้วนมีความต้องการเพียงแค่ไม่กี่อย่าง ฐานะการงาน ฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงินและฐานะทางครอบครัวที่ดีพร้อมที่จะคอยช่วยเหลือเรา แม้ในวันที่เราตกทุกข์ยากอย่างน้อยก็มีครอบครัวอันเป็นที่รักของเราคอยอยู่เคียงข้างเสมอ แต่จะทำอย่างไรเมื่อการตามหาหรือรอคอยรักแท้ที่เหมาะสมกับเรามันยากแสนลำบากเหลือเกิน คนบางคนอาจจะตั้งจิตเชื่อว่าสักวันความรักจะเข้ามาหาเราเอง แต่หลายคนกลับรอไม่ไหว คนเหล่านี้จึงอาจหันไปหาที่พึ่งทางใจอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นานา

ในด้านความเชื่อแต่ละคนก็ล้วนมีแตกต่างกันไป บางคนเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างองค์เทพต่างๆ หรือบางคนเชื่อทางสายกลางอย่างการนั่งสมาธิ ฟังธรรม ไหวพระสวดมนต์ เมื่อทำจิตใจให้สะอาดโปร่งใสแล้วสิ่งที่ไม่ดีในชีวิตก็จะดีขึ้นเอง ในเรื่องของความรัก ความฝันและความหวังก็เช่นกัน ศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นยอมลงทุนทำทุกวิถีทางเพื่อวิ่งออกไปไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ไม่ว่าต้องนั่งรถลงเรือไปถึงไหนๆ แม้ตัวเองยังไม่รู้เลยว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ก็พร้อมทำเพื่อที่ว่าสักวันหนึ่งเราจะมีคนรักดีๆ เหมือนคนอื่นบ้าง

ความฝัน ความหวัง แรงศรัทธา หรืออะไรทั้งหมดที่ได้ทำมาเพียงขอส่งผลทำให้ได้เจอคนรัก มีความรักที่ดี มีความสุข ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลงหรือทำทุกๆ อย่างที่ทำให้ความรักของสองคนยืนยาวต่อไป แต่แล้วความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยนเมื่อความรักกลับทำให้การใช้ชีวิตแย่ลง จนต้องกลับมานั่งคิดทบทวนในสิ่งที่ผ่านมาว่าทำไมความรักช่างทำให้รำคาญ เหนื่อยทั้งกายและใจยิ่งนัก เป็นชีวิตที่แย่ลงไปมากกว่าก่อนที่จะมีคนรักเข้ามาในชีวิตเสียอีก

ต้องนั่งคิดและทบทวนแล้วทบทวนอีกว่าเราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า หรือเราทำให้เขารำคาญในชีวิต คิดไปคิดมาไม่ใช่ว่าเราทำอะไรผิดพลาดหรือทำให้เขาแย่ลง แต่เพียงเพราะเราทุ่มเทให้ความรักครั้งนี้มากจนเกินไป ทุ่มเทความรักให้ไปหมดทั้งใจและกายโดยที่ไม่เคยหันกลับมาดูแลตัวเองเลย เมื่อทบทวนแล้วก็จะพบว่าความรักครั้งนี้เป็นได้แค่เพียงรักจอมปลอมเท่านั้น

แล้วความรักที่ถูกต้องหรือความรักที่ดีนั้นคืออะไรกัน มีคนบอกว่าคือความรักที่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ความรักที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อและทำให้ชีวิตของทั้งสองคนเติบโตไปพร้อมกัน แต่ทำไมความรักที่เราพบเจอถึงกลับกลายเป็นรักจอมปลอม ทำให้เราเหนื่อย ท้อแท้และรู้สึกว่าทุ่มเทให้มากเกินไป หรือเราต้องกลับมาดูแลตัวเอง ทำตัวเองให้ดูดีมีค่าเสียก่อน

ความรักที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อถือคือ “อิจิโกะ อิจิเอะ” เป็นวลีที่คนญี่ปุ่นให้หมายความว่า การได้พบกันครั้งเดียว ซึ่งต้นกำเนิดของคำนี้มาจากพิธีชงชาของนิกายเซน เนื่องจากการที่ได้พบกับใครคนหนึ่งในงานพิธีชงชา จะถือเป็นโอกาสที่ได้พบกันครั้งเดียว แล้วอาจจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลยก็เป็นได้ ดังนั้นช่วงเวลาที่ได้พบกันเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด

ต่อมา อิจิโกะ อิจิเอะ ถูกตีความและนำมาปรับใช้เป็นปรัชญาชีวิต โดยเฉพาะในการทำงานว่าเราควรปฏิบัติและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนที่เราได้พบเจอหรือลูกค้าอย่างดีที่สุด เพราะมันอาจเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน

หากเราทุกคนใช้ชีวิตตามปรัชญาอิจิโกะ อิจิเอะ หรือหนึ่งชีวิต หนึ่งการพบเจอ เราจะให้ความสำคัญกับทุกเสี้ยววินาที ทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความตั้งใจ เพื่อสร้างความประทับใจให้คนรอบตัวมากที่สุด ซึ่งเท่ากับว่าหลังจากนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไม่เสียใจเลย เพราะได้ปฏิบัติกับผู้คนที่เข้ามาในชีวิตอย่างเต็มความสามารถแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากวัฒนธรรมการต้อนรับและการจากลาของคนญี่ปุ่น ทุกบ้านจะใช้หลักการอิจิโกะ อิจิเอะ มาเป็นต้นแบบ ดูแลรองรับผู้มาเยือนอย่างเต็มที่ และเมื่อต้องอำลาแขกก็จะสร้างความประทับใจจนลับสายตา

ความรักมันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน คนสองคนในที่นี้ต้องร่วมเดินทางกันไป ปรับนิสัยของตัวเองเพื่อให้เข้ากับอีกคนให้ได้ โดยพยายามเดินเข้าไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่กึ่งกลางของการเดินทางระหว่างความรักของเราสองคน หรือให้เดินมาเชื่อมกันแบบพอดี ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

คนสองคนที่จะรักกันได้ในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศหญิงกับเพศชายเท่านั้น คู่รักชายและหญิงยังมีทะเลาะวิวาททุบตีกันให้เป็นข่าวใหญ่โต ตัวอย่างข่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ที่คู่รักสามีภรรยาทะเลาะกันเรื่องเลี้ยงวัว ฝ่ายภรรยาใช้มีดจามศีรษะสามีเสียชีวิต ซึ่งบางครั้งเราไม่สามารถบอกได้ว่าคู่รักแบบไหนที่อยู่กันอย่างมีความสุข และคู่รักแบบไหนอยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์

ปัจจุบันบางครั้งคู่รักที่เป็นชาว LGBTQ+ อาจมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน มีทะเลาะกันบ้าง แต่อยากให้ทุกคนได้เข้าใจและตระหนักว่า ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความรักได้เหมือนกันหมด ไม่มีข้อแบ่งแยกอะไรทั้งสิ้น

ถึงตรงนี้อยากให้ทำความรู้จักและเรียนรู้กลุ่ม LGBTQ+ กันก่อน คืออักษรย่อของคำที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวอักษรตัวแรก L ย่อมาจาก Lesbian ตัวที่สอง G ย่อมาจาก Gay ตัวที่สาม B ย่อมาจาก Bisexual ตัวที่สี่ T ย่อมาจาก Transgender และตัวที่ห้า Q ย่อมาจาก Queer ส่วนเครื่องหมายบวกหรือ + คือยังสามารถเพิ่มเติมคำเรียกเพศสภาพอื่นๆ ได้อีก

นอกจาก LGBTQ+ แล้วยังมีการใช้คำเรียกต่างไปได้อีกว่า LGBTI อักษรตัวสุดท้าย I เป็นคำย่อมาจาก Intersex คือคนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติจนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ โดยมีทั้งการเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่นๆ ที่ค่อยๆ ปรากฏเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงบางทีอาจใช้คำเรียกที่แตกต่างไปได้อีกว่า LGBTQA อักษรตัวสุดท้ายคือ A ย่อมาจาก Asexual หรือ Aromantic หรือ Ally ได้ทั้งหมด ซึ่งความหายจะระบุไว้ต่อจากนี้

สำหรับจุดกำเนิดของการใช้คำว่า LGBT มีรากฐานมาจากชื่อกลุ่มที่เป็นคำย่อ Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 มีการใช้คำว่า LGB แทนคำว่า Gay ซึ่งมาจากกลุ่ม LGBT Community ซึ่งจริงๆ แล้วคำนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 โดยเริ่มมีผู้ให้คำจำกัดความว่า หมายถึงหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วกำหนดให้ใช้สัญลักษณ์ของเพศแทนด้วยตัวอักษรย่อต่างๆ รวมถึงใช้ธงที่มีหลากสีหรือธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์

ในส่วนธงสีรุ้งที่ชาว LGBT มักนำมาใช้ประกอบการเดินขบวนครั้งแรกในวัน Gay Freedom Day ที่สหรัฐอเมริกานั้น ออกแบบโดยศิลปินที่ชื่อ กิลเบิร์ต เบเกอร์ โดยต้องการให้ใช้ความหมายของเฉดสีต่างๆ แทนสัญลักษณ์สำคัญๆ เช่น สีแดงหมายถึงชีวิต สีส้มหมายถึงการเยียวยาทางจิตใจ สีเหลืองหมายถึงแสงอาทิตย์ สีเขียวหมายถึงธรรมชาติ สีน้ำเงินหมายถึงความกลมกลืน ส่วนสีม่วงหมายถึงจิตวิญญาณ

อีกทั้งเมื่อพูดถึงความหมายของ LGBT ยังพบมีผู้ให้คำจำกัดในความหมายอื่นๆ ไว้อีกหลากหลาย ตัวอย่างที่รู้จักกันทั่วโลกประกอบด้วยคำว่า Aromantic หมายถึงคนที่ไม่มีแรงดึงดูดในเพศใดๆ เลย และไม่ต้องการมีความสัมพันธ์กับใคร ตามด้วย Asexual หมายถึงคนที่ไม่สนใจเซ็กซ์ ต่อด้วย Bisexual หมายถึงเพศที่มีความรักให้กับชายหรือหญิงก็ได้ ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือเพศตรงกันข้าม และ Gay men หมายถึงเพศชายที่มีความรักให้กับเพศชายด้วยกัน

นอกจากนี้ Genderqueer หมายถึงผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาจจะอยู่กึ่งกลางหรือแบบผสมผสาน ส่วน Intersex หมายถึงผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน ขณะที่ Lesbian หมายถึงเพศหญิงที่มีความรักให้กับเพศหญิงด้วยกัน ด้าน Panromantic หมายถึงคนที่มีความรักให้แก่อีกฝ่ายโดยไม่ได้มองเพศของฝ่ายนั้น สำหรับ Non-binary หมายถึงคนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศหญิงหรือเพศชายตลอดเวลา แล้ว Pansexual หมายถึงคนที่มีแรงดึงดูดกับเพศอะไรก็ได้ และสุดท้าย Transgender หมายถึงเพศชายหรือเพศหญิงที่เปลี่ยนตัวเองเป็นเพศตรงกันข้าม

ทั้งนี้ ชาว LGBTQ+ โดยส่วนมากแล้วไม่ว่าใฝ่ฝันอยากจะทำงานด้านไหน หรือประสงค์จะประกอบอาชีพอะไรที่ว่าดีแล้วนั้น ในความเป็นจริงกลับเป็นเรื่องที่สังคมให้การยอมรับยากยิ่งนัก สิ่งนี้พิจารณาได้จากตั้งแต่ขณะยังร่ำเรียนอยู่เพื่อปูพื้นฐานสู่ชีวิตการทำงานในอนาคต พวกเขายังมักถูกตีตราว่าจบไปจะทำอาชีพอะไรได้ โตไปจะไปทำมาหากินอะไรกัน ซึ่งคำพูดต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้การใช้ชีวิตของชาว LGBTQ+ รู้สึกไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม

แล้วทำไมสังคมถึงต้องตีตราว่าชาว LGBTQ+ ไม่สามารถที่จะมีอาชีพหรือใช้ชีวิตในแบบที่มีคุณภาพที่ดีได้ นั่นเพียงเพราะคำกล่าวหาว่าเป็นพวกผิดเพศ หรือเป็นเพราะเห็นว่าชาว LGBTQ+ ไม่เหมือนกับคนทั่วๆ ไป หรืออาจจะถึงขั้นชีหน้าว่าชาว LGBTQ+ เป็นสิ่งผิดปกติในสังคมกระนั้นหรือ

ในยุคสมัยปัจจุบันถือว่าความรักเป็นเรื่องไม่จำกัดอยู่ที่ว่าเป็นคนเพศใด แต่ความรักยุคปัจจุบันขึ้นอยู่กับคนสองคนที่มีความรู้สึกที่ดีให้แก่กันและกัน ยิ่งพิจารณาจากอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ด้วยแล้วจะพบว่า เรื่องของเพศสภาพถือเป็นเรื่องรองลงไปเลย เพราะเรื่องของความรักต้องมาเป็นอันดับแรก หากเราตกหลุมรักใคร รู้สึกดีกับใคร แม้ว่าเขาจะเป็นเพศอะไรก็แล้วแต่ เราก็ไม่ได้สนใจอะไรแล้ว เพราะสมัยนี้คนรุ่นใหม่ได้มองข้ามถึงเรื่องเพศไปแล้ว

การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ทั้งเรื่องการแสดงตัวตน ความรัก ความเชื่อและอุดมการณ์ ล้วนแล้วแต่มีตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของทุกๆ อย่าง เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการแสดงหาความสุขที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจหรือไปคิดมากกับเรื่องราวอื่นๆ เพราะแค่ต้องการทำให้ชีวิตของตัวเองสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด เพียงแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับความสุขของคนรุ่นใหม่แล้ว

การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะบนพื้นฐานของความเป็นชาว LGBTQ+ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การดำเนินวิถีชีวิต การประกอบอาชีพต่างๆ ที่ฝันอยากจะทำงานและสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างมีความสุขก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครู พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานธนาคาร พนักงานบัญชี

ปัจจุบันสังคมทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามเพื่อความทัดเทียมทางสังคม ทั้งการแสดงออกและการใช้คำเรียกแทนกลุ่มเพศต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความหมายเชิงเหยียดเพศ โดยในต่างประเทศนิยมใช้คำว่า LGBT เพื่อเรียกกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสื่อถึงเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลได้อย่างเป็นกลาง

เวลานี้โลกของเราได้ก้าวเดินไปไกลมากแล้ว เจ้าของสินค้าหลากหลายแบรนด์ดังๆ ทั่วโลกต่างก็เปิดโอกาสและสนับสนุนชาว LGBTQ+ ให้มีที่หยัดที่ยืนในอาชีพ เปิดโอกาสให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสินค้านั้นๆ ตัวอย่างการที่ชัดเจนได้แก่ CEO เครือ Tim Cook ยังกล้าออกมาแสดงตัวตนว่าเป็นชาว LGBTQ และยังมีนโยบายให้การสนับสนุนคนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้เข้าร่วมงานด้วย

นอกจากนี้ ผู้ผลิตนาฬิกาเครือ Watch ยังมีการเล่นสีสันของเส้นสายและหน้าปัดนาฬิกาเป็นสีรุ้ง เพื่อให้คนหลากหลายทางเพศได้ร่วมกันเฉลิมฉลองและภาคภูมิใจที่เป็นชาว LGBTQ ได้ในทุกๆ วัน ส่วนเครือ Apple ก็แสดงออกว่าให้การสนับสนุนความเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมในสังคม และยังช่วยเกื้อหนุนเงินทุนให้องค์กรการกุศลมากมายอย่างเช่น ILGA World องค์กรที่ต่อสู้เพื่อความหลากหลายและสิทธิทางเพศ จึงไม่แปลกเลยที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเพศไหนๆ ก็ให้ความเชื่อใจสินค้ายี่ห้อนี้

สำหรับแบรนด์ที่เป็นผู้นำเรื่องความบันเทิงระดับโลกอย่าง Disney ทุกๆ ปีก็ออกมาร่วมสนับสนุนผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย อย่างล่าสุดได้แสดงออกผ่านสินค้าในหมวดเสื้อผ้าในชุด Rainbow Disney ใช้ตัวการ์ตูนที่น่าจดจำ เช่น มิกกี้ เมาส์ มาร์เวล หรือสตาร์ วอร์ส เปลี่ยนเสื้อผ้าจากสีและลวดลายดั้งเดิมให้กลายเป็นสีรุ้งของกลุ่ม LGBTQ เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าตัวละครทุกตัวล้วนเคารพและภูมิใจกับความหลากหลายทางเพศ โดยเงินจากการขายสินค้าในคอลเลกชันนี้นำไปมอบให้องค์กรการกุศลที่สนับสนุนชุมชน LGBTQ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก

อีกทั้งในวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเองอย่าง SC ASSET ก็ได้ให้ความสนใจในปัญหาของคู่รัก LGBTQ ที่อยากสร้างครอบครัวอยู่ด้วยกัน แต่ติดที่ว่าไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ จึงได้หาทางออกให้ด้วยการหาแหล่งเงินสนับสนุน จนทำให้สามารถยื่นกู้ร่วมซื่อบ้านในโครงการของบริษัทได้ ขณะที่ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็สนับสนุนความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด มีการกำหนดสินเชื่อสำหรับคู่รัก LGBTQ สามารถกู้ซื้อบ้านได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติหรือคนในครอบเดียวกันกับผู้กู้อีกต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ยังมีหน่วยงานและองค์กรที่ให้การสนับสนุนชาว LGBTQ อีกมากมาย เช่น องค์กร IFB PRIDES LGBT ที่ให้การสนับสนุนด้านสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากจะเน้นทั้งในเรื่องสุขภาพ หน้าที่การงาน รวมถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ยังพยายามสร้างและสานเครือข่ายพันธมิตร LGBT จากทั่วโลกอีกด้วยเพื่อให้เป็นที่รู้จักและเกิดการยอมรับมากที่สุด

ดังนั้น สังคมจึงควรเข้าใจ ปรับเปลี่ยนความคิด ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่างๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ แล้วเปิดโอกาสให้ชาว LGBTQ+ สามารถประกอบอาชีพได้ตามความสามารถแบบไม่มีการปิดกั้นใดๆ โดยมองว่าพวกเขาก็คือพลเมืองของสังคมด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วชื่อมั่นว่าทุกคนบนโลกใบนี้จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างเท่าเทียมและศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งในเรื่องนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เบิกทางให้เห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างว่าสังคมไทยปัจจุบันให้การยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ แล้ว โดยเฉพาะในด้านโอกาสในการประกอบอาชีพคือ กรณีของ “ครูเอ” หรือ “นายสิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์” หรือผู้ที่เคยถูกเรียกขานว่า “ครูกะเทย” แห่งโรงเรียนบ้านวังเกษตร อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี แต่เวลานี้เรื่องราวชีวิตของเธอกลายเป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้างแล้ว โดยนอกจากสื่อไทยจะนำไปเผยแพร่แล้ว ในส่วนของสื่อในเครือยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างเว็บไซต์ “BBC NEWS ไทย” ก็นำชีวิตของเธอไปนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจมาแล้วกว่าราว 3 ปี (ติดตารายละเอียดได้ที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-46946292)

ปัจจุบัน ครูเอวัย 45 ปี มีดีกรีทางวิชาการนำหน้า “ด็อกเตอร์” ด้วย เพราะจบการศึกษาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการการศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ยังทำการสอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กลุ่มสาระวิชาคอมพิวเตอร์ การงานและทัศนศิลป์ แต่กว่าที่ครูผู้หลากหลายทางเพศอย่างเธอจะผ่านการพิสูจน์ตัวตน จนทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ลูกหาและสังคมรอบข้างก็ต้องใช้เวลายาวนานเช่นกัน

“เขามองว่าการเป็นเพศที่สามเป็นความน่ารังเกียจ เด็กๆ รุ่นใหม่อาจไม่เจอมากนัก เพราะโลกทัศน์กว้างขึ้น แต่สิ่งที่เราเจอมา เราเจอมันจนชินชา เวลาเห็นเรื่องแบบนี้ก็เข้าใจได้ทันทีว่าคนที่แสดงคำพูดแบบนี้มีทัศนคติแบบไหน ที่เราไปแสดงความเห็น เพราะรู้สึกว่าทำไมลดทอนคุณค่าของตัวเองด้วยการตั้งคำถามแบบนี้บนโลกออนไลน์ เหมือนโยนความผิดว่ากะเทยเพศที่สามไม่มีสิทธิเป็นข้าราชการครู” ดร.สิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์ กล่าวถึงข้อถกเถียงในสังคมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครูของคนหลากหลายทางเพศเมื่อราว 3 ปีมาแล้ว

เราเชื่อมั่นว่าทุกคนบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด ล้วนมีสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งคนเราไม่ควรต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับอายุ เชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยมในสังคมต่างๆ รวมถึงความนิยมทางเพศด้วย เพราะทุกคนต่างก็มีความเท่าเทียมในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ในสังคม และท้ายที่สุดเราเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหม่ที่จะนำแนวชาว LGBTQ+ ฟันฝ่าอุปสรรคนานาไปสู่โลกและสังคมที่ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น