xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกของคนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... กรกนก ด้วงสีเกาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 บทความนำเสนอในวิชาการเขียนสำหรับบรรณาธิการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

“มีคนมากมายที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่มีคนเพียงน้อยนิดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตนเอง” วาทะที่ยังเป็นที่กล่าวขานได้ตลอดกาลของ เลฟ นีโคลาเยวิช ตอลสตอย (Lev Nikolayevich Tolstoy) หรือที่คนไทยรู้จักดีในชื่อ ลีโอ ตอลสตอย ปราชญ์นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่และมากอุดมการณ์แห่งรัสเซีย

มนุษย์ทุกรูปนามย่อมมี “อุดมการณ์” เป็นของตนเอง และอุดมการณ์ของแต่ละคนมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย การที่จะมองให้เห็นอุดมการณ์ของใครคนใดคนหนึ่งจะต้องประมวลจากหลากหลายส่วนของชีวิตคนคนนั้น เช่น ตัวตนในช่วงวัยต่างๆ รวมถึงความเชื่อ ความรัก และองค์ความรู้ที่ประกอบหลอมรวมเป็นตัวตนของอุดมการณ์ขึ้นมา ส่วนอุดมการณ์นั้นๆ จะนำพาอะไรไปสู่สังคมอย่างไรบ้างนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

นิยามของคำว่าอุดมการณ์ได้มีการนำมาใช้ในช่วงของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้บัญญัติศัพท์ให้ความหมายไว้ดังนี้ 1.เป็นศาสตร์ประจักษ์เชิงความคิด 2.เป็นศัพท์ที่บ่งบอกถึงความเกี่ยวข้องกับรูปแบบที่ไม่ใช่ลัทธิสาธารณะเสรี 3.ไม่นำไปสู่การแสดงความเหยียดหยามที่แสดงถึงความมีสติปัญญาและไร้สภาพทางการปฏิบัติ 4.จำกัดใช้ในความหมายที่เป็นลัทธิทางการเมืองในเรื่องทั่วๆ ไป ซึ่งโดยรวมแล้วคำว่าอุดมการณ์จึงเป็นศาสตร์แห่งความคิดเห็น ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละบุคคล

ช่วงเวลานี้โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคในสมัยใดมนุษย์ทุกคนจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญประจำตัวที่ใช้ในการดำเนินชีวิต นั่นคือ การใช้อุดมการณ์ประกอบไปกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ควบคู่กันไป ซึ่งองค์ความรู้และอุดมการณ์ประจำตัวของบุคคลก็จะมีแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัยด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราจะทราบอุดมการณ์ที่ปรากฏในวัยของแต่ละคนได้อย่างไร หากทำความเข้าใจการจัดกลุ่มช่วงวัยของผู้คนในยุคนี้ก็น่าจะช่วยให้มองเห็นอุดมการณ์ได้ชัดขึ้น ซึ่งเวลานี้นิยมจัดแบ่งช่วงวัยของผู้คนออกได้เป็น 8 เจเนอเรชัน (Generation) ดังต่อไปนี้

1) Lost Generation คนที่เกิดระหว่างปี 2426-2443 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนยุคนี้คือ การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแม้คนรุ่นนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังคงหลงเหลืออุดมการณ์ทิ้งไว้ให้เห็นบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ มุสทาฟา เคมัล อาทาทืร์ค (Mustafa Kemal Atatürk) นายพลที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของชาวเติร์ก เพราะได้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี เป็นทั้งนักปฏิวัติ รัฐบุรุษและนักเขียน เอาชนะได้ทั้งศึกภายในและศึกภายนอก โดยเฉพาะกับการปลดแอกให้ชาวเติร์กได้เป็นอิสระจากจักรวรรดิออตโตมัน และยังร่วมคว้าชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย

โดยตลอดชีวิตของนายพลผู้นี้ได้ทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย จากทหารสู่นักการเมือง ซึ่งได้ยึดถืออุดมการณ์ความกล้าหาญ ความองอาจ มีมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จตามที่วาดหวังไว้ และใช้ปฏิภาณไหวพริบในการสถาปนาตุรกีให้เป็นดินแดนที่ทรงอิทธิพล เขาคือนายพลผู้ที่มองเห็นช่องทางสู่ความสำเร็จจากการเริ่มเข้าโรงเรียนทหารตั้งแต่เด็ก พร้อมๆ กับได้ทำการศึกษาทางการเมืองมาตลอด หลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำก็ยังได้วางระบบป้องกันและรักษาเสรีภาพของประเทศไว้อย่างแน่นหนา

2) Greatest Generation หรือที่รู้จักกันว่า G.I. Generation คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี 2444-2467 หรือยุคก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมาพวกเขาได้กลายมาเป็นกำลังหลักของการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อสงครามสงบก็ได้เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก คนรุ่นนี้จึงเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

ผู้คนใน Gen นี้จะมีอุดมการณ์ในความเป็นทางการสูง ผู้ชายมักจะใส่สูทผูกเนกไทเมื่อออกจากบ้าน มีแบบแผนปฏิบัติหรือมีความคิด ความเห็นและความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อุดมการณ์ที่สะท้อนผ่านคนรุ่นนี้เน้นไปทางด้านวิชาการ ความเป็นระเบียบ เชื่อมั่นในอำนาจรัฐบาล และมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ซึ่งแตกต่างกับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่แทบไม่มีความเชื่อมั่นในอำนาจของรัฐบาล พร้อมกลับออกมาเรียกร้องสิทธิความยุติธรรมให้ประชาชน

3) Silent Generation หมายถึงคนที่เกิดในช่วงปี 2468-2488 คนรุ่นนี้จะมีไม่มากเท่ารุ่นอื่นๆ เพราะเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงานแบบหามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้จึงมีอุดมการณ์ของความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก มีความจงรักภักดีต่อนายจ้างและประเทศชาติสูง ที่สำคัญให้ความเคารพกฎหมายสูงด้วยเช่นกัน

ผู้คนใน Gen นี้จึงสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวมีกิจการเป็นของตัวเอง รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นรากฐานจนถึงปัจจุบันนี้ ยิ่งอยู่ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ยิ่งทวีคูณของความยากลำบากทั้งการประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนอย่างที่เคย ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังจะได้เห็นอุดมการณ์ของพวกเขาที่พร้อมจะฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคไปให้ได้

4) Generation B หรือเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี 2489-2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วระยะหนึ่ง สาเหตุที่เรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ก็เพราะว่าหลังจากสงครามสงบลงบ้านเมืองที่ผ่านการสู้รบได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชากรที่เหลืออยู่จึงต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งมั่นคง แต่ทว่าสงครามที่ผ่านพ้นไปได้คร่ากำลังพลและแรงงานไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแรงงานในการขับเคลื่อนการพัฒนา คนในยุคนี้จึงมีค่านิยมที่จะต้องมีลูกหลายๆ คนเพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่าเบบี้บูมเมอร์

ปัจจุบันนี้คนยุคเบบี้บูมเมอร์คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 49 ปีขึ้นไปหรือเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว คนกลุ่มนี้จึงมีอุดมการณ์เพื่อการทำงาน เป็นเจ้าคนนายคน เคารพกฎเกณฑ์กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กรมาก สู้งาน พยายามคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง ถูกครอบครัวสั่งสอนมาให้เป็นคนประหยัด อดออม จึงมีการใช้จ่ายอย่างรอบคอบและระมัดระวัง คนในยุคอื่นๆ อาจจะมองคนยุคเบบี้บูมเมอร์ว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี และคน Gen นี้ถือว่าน่าจะมีจำนวนมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน

5) Generation X หรือเรียกอีกชื่อได้ว่ายับปี้ (Yuppie) ย่อมาจาก Young Urban Professionals คือคนที่เกิดในช่วงปี 2508-2522 เป็นยุคหลังเบบี้บูมเมอร์ที่ส่งผลให้เด็กเกิดมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ได้ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจึงกลับมาคิดว่าหากไม่ควบคุมอัตราการเกิดไว้ สุดท้ายแล้วคนทั้งโลกก็จะขาดแคลนอาหาร ดังนั้น จึงเกิดเป็นยุคที่เป็นกระแสตีกลับจากยุคเบบี้บูมเมอร์ คนรุ่นนี้จึงมีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร อย่างในประเทศจีนก็มีการรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนมีลูกได้เพียง 1 คนเท่านั้น

คนยุค Gen-X ปัจจุบันเป็นคนวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป อาจทันช่วงโทรทัศน์ยังจอขาวดำ แต่ถือว่าโลกมั่งคั่งแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป อุดมการณ์ของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ ชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่าง ทำทุกอย่างได้เพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ของคนในรุ่น Gen-X นี้จำนวนมากมีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่เชื่อเรื่องศาสนา และไม่ได้ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นมองว่าการอยู่ก่อนแต่งหรือการหย่าร้างก็เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่ 3 ซึ่งต่างจากกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดจารีตประเพณี

6) Generation Y หรือคนยุค Millennials คือคนที่เกิดช่วงปี 2523-2540 เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างระหว่างคนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นพ่อแม่ รับเอาความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว เป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างมาก ทำให้คนรุ่นพ่อแม่ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจึงดูแลเอาใจใส่ลูกๆ เป็นอย่างดี เด็กยุคนี้จึงมักจะถูกตามใจตั้งแต่เด็ก ได้ในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่เคยได้มาก่อน

ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนรุ่นนี้จัดว่าอยู่ในวัยเรียนและวัยทำงาน จึงมีการศึกษาดี จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที (Information Technology) ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่าสามารถใช้เครื่องมือเครื่องไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นภาพคนยุคใหม่ที่นั่งเล่น iPad และคุยโทรศัพท์ไปพร้อมๆ กัน

อุดมการณ์ของคน Gen Y จึงชอบการแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่กรอบในเงื่อนไข ชอบเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย มีอิสระในความคิด กล้าซักกล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นกับคำวิจารณ์ มีความเป็นสากลมาก มองว่าการนิยมชมชอบวัฒนธรรมหรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร ชอบทำงานเป็นทีม (ต่างจากกลุ่ม Gen-X ที่ชอบวันแมนโชว์) เพราะเติบโตมาพร้อมกับการประชุมหรือการระดมความคิดเห็น

นอกจากนี้ อุดมการณ์ของคน Gen Y จะไม่ค่อยอดอดทนเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หวังที่จะทำงานได้เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่อยากไต่เต้าจากการทำงานข้างล่างขึ้นไป คาดหวังผลจากการทำงานสูง ต้องการคำชม มักจะจัดสรรเวลาให้งานและชีวิตส่วนตัวในจุดที่สมดุลกัน พอหลังเลิกงานอาจไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง เช่น ไปเล่นฟิตเนส ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ซึ่งมักจะไม่ค่อยหมกมุ่นอยู่กับงานเหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ

7) Generation Z คือคำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลังปี 2540 ขึ้นไป เทียบอายุแล้วก็วัยของเด็กๆ จนถึงวัยรุ่นในยุคสมัยนี้ เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็ว เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งหนึ่งที่วัยรุ่นกลุ่มนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ คือ เด็กรุ่นนี้จะได้เห็นภาพที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อนๆ ที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้หลายๆ คนจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง

อุดมการณ์ของคน Gen Z สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ไปยังกลุ่มคนที่ถูกระบุว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะหันมาใส่ใจทางปัญหาด้านมลพิษของสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการมองโลกรอบข้างมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการรณรงค์ให้สังคมได้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่นในปัจจุบัน

และ 8) Generation C หรือกลุ่มคนใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามช่วงอายุเหมือน 7 Generation ที่กล่าวมาแล้ว แต่เป็นการจัดกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการร่วมกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน โดยเริ่มจากการใช้หนังสือในรูปแบบ E-book ใช้หนังสือในรูปแบบของไฟล์ออนไลน์มีทั้งไฟล์ Pdf. Doc. และมีการเรียนรู้ผ่านระบบสื่อสารทาง Meet Google classroom และ Microsoft team ซึ่งการเรียนรู้ในปัจจุบันก็นับว่ามีหลากหลายรูปแบบให้เรียนรู้ เริ่มจากการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านโปรแกรมหรือสื่อต่างๆ เช่น Facebook Line และ Instagram เป็นต้น

คนใน Gen C ส่วนใหญ่จึงมีอุดมการณ์ที่พร้อมจะนำความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีมาสู่การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน โดยส่งผลมาให้ทั้งคนรุ่นใหม่และหลายๆ รุ่นในยุคปัจจุบันใช้สื่อเทคโนโลยีจนหลงลืมการใส่ใจซึ่งกันและกัน โดยเห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมของคนจำนวนมากในยุคสมัยปัจจุบันที่เป็นสังคมก้มหน้าหรือที่เรียกว่า “ไทยเฉย” นั่นเอง

เมื่อรู้ว่าผู้คนในแต่ละ Generation ผ่านประสบการณ์ชีวิตจนเกิดการหล่อหลอมอุดมการณ์ขึ้นมาได้อย่างไร ผู้เขียนจึงได้ขอทำการทดสอบในเบื้องต้นด้วยการไปพบปะเสวนากับผู้คนที่มีส่วนร่วมอยู่ใน Gen ต่างๆ ดังต่อไปนี้

เริ่มจากการพูดคุยกับอดีตผู้อำนวยการกองการศึกษา สำนักงานเทศบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านผู้นี้เกษียณแล้วเพราะเกิดในปี 2495 แต่ตลอดชีวิตการทำงานได้สร้างคุณประโยชน์ทางการศึกษาไว้อย่างมากมาย หลังเกษียณยังคงใช้องค์ความรู้ของตนร่วมพัฒนาสังคมต่อไป ด้วยการทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระดับจังหวัดอยู่ระยะหนึ่ง

ท่านผู้นี้ถือเป็นผู้มีอุดมการณ์เต็มเปี่ยมด้านการศึกษา มองการศึกษาว่าคือการหาความรู้อยู่เรื่อยๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะการศึกษาเป็นอะไรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตที่ยังมีลมหายใจ แล้วนำไปพัฒนาการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ ซึ่งธรรมะจะที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจให้ผ่อนคลาย นอกจากเรียนรู้เพื่อตนเองแล้วยังได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปสอนให้นักโทษในเรือนจำ เพื่อพัฒนาจิตใจให้สามารถกลับสู่การเป็นคนดีของสังคมได้

ต่อมาได้ไปสอบถามชายหนุ่มใน Gen Y ทำให้พบว่า เขามีอุดมการณ์ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นอันดับแรก โดยการทำตนเองให้เก่ง ให้ดีและมีความสามารถให้เพียบพร้อมกับการไปเผชิญสังคมภายนอก โดยเขายังคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่คนสวนใหญ่มีความพร้อมสมบูรณ์ พวกเขาก็จะนำสิ่งที่มีอยู่ไปพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ โดยตัวเขาเองยังคิดว่าอุดมการณ์ของคนรุ่นราวคราวเดียวกันนอกจากจะมีความเป็นตัวของตัวเองแล้ว ยังพร้อมที่จะเปิดใจรับได้เสมอกับทุกการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการประกอบอาชีพของคนรุ่นเขาที่อยู่ในยุค 5G ได้อย่างสบาย

ส่วนการพูดคุยกับหญิงสาวใน Gen Y ทำให้พบว่า เป็นคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาในยุคปัจจุบันได้แหลมคม โดยมองว่าการศึกษายุคนี้เริ่มถอยหลังลงเรื่อยๆ อุดมการณ์ของเธอแตกต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แม้จะยอมทำตามด้วยการเดินตามรอยเท้าเข้าสู่การรับราชการครู แต่เธอก็คิดต่างว่าถึงแม้จะมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ก็ยังมากมายไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะฐานคิดที่มาจากการวัดคุณค่าของคนเป็นตัวเลข เช่น มีการวัดความฉลาดของเด็กด้วยผลคะแนน O-net และ NT ซึ่งได้มาจากการท่องจำ แต่ขาดการพิสูจน์ความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน

หญิงสาวใน Gen Y เล่าให้ฟังว่า การใช้ไม้บรรทัดไปวัดทัศนคติ หรือใช้ไม้บรรทัดไปวัดความสามารถของคนเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีทางจะวัดได้ แต่ต้องวัดจากความรู้และความสามารถของแต่ละบุคคล เราเชื่อว่าอุดมการณ์แบบนี้ยังสะท้อนไปยังคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันด้วย ที่มองเป็นคุณค่าของการศึกษาลดลง ขณะที่ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีกลับสูงขึ้น นักเรียนถูกกดันให้ต้องแข่งขันกันสูงมาก แล้ววัดสติปัญญากันด้วยคะแนน มากกว่าความรู้ความสามารถ ซึ่งตามหลักของความเป็นจริงผลคะแนนไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้

จากนั้นผู้เขียนได้สอบถามหญิงสาววัยรุ่น Gen Z เธอเกิดในปี 2543 ปัจจุบันกำลังกำลังศึกษาอยู่คณะพยาบาลศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ พบว่า สิ่งที่เธอบอกเล่าสรุปได้ว่าให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นทางนำพลังงานสะอาดมาใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีการรักษาความสะอาดตามถนนหนทางด้วย โดยให้นำต้นแบบจากประเทศที่พัฒนาในด้านนี้ได้เป็นอย่างดีมาเป็นตัวอย่าง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น

ในด้านการศึกษาเธอให้ความคิดเห็นที่สื่อถึงอุดมการณ์ไว้ว่า อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ยิ่งในภาวะที่โรคโควิด-19 ระบาดนึกอยากให้ลดภาระการบ้านของเด็กๆ แล้วหันไปเน้นวิชาปฏิบัติ เช่น การประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย หรือนำการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานกลับมาประยุกต์ อย่างการปลูกผักสวนครัวก็ให้นักเรียนลงมือปลูกที่บ้าน แล้วการถ่ายภาพและบันทึกข้อมูลส่งครูผู้สอนตามที่กำหนดไว้

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างของอุดมการณ์ของคนในแต่ละ Generation หากคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ทำความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากจะไม่นำไปสู่การเพิ่มปัญหาให้สังคมแล้ว ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นที่มีประสบการณ์ชีวิตต่างกันที่เกิดขึ้นมากมายในเวลานี้ก็มีแนวโน้มจะคลี่คลายลงด้วย

วาทะของลีโอ ตอลสตอย ปราชญ์นักเขียนระดับโลกดังกล่าวที่ว่า “มีคนมากมายที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่มีคนเพียงน้อยนิดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตนเอง” จึงน่าจะช่วยให้ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น