xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ศึกษาวิธีเลี้ยงหอยนางรมในตะแกรงคอนโด เพิ่มผลผลิต 7-8 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - มทร.ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัย เปลี่ยนวิธีเลี้ยงหอยนางรมแบบดั้งเดิม สู่การเลี้ยงในตะกร้าและตะแกรงคอนโด 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากกว่าเดิม 7-8 เท่าตัว

วันนี้ (23 ส.ค.) น.ส.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง ลงพื้นที่ติดตามดูความก้าวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ภายใต้แผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม บ้านแหลม ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งอาศัยของหอยนางรมธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่ชาวบ้านมักดำน้ำและงมหาเป็นประจำ ถือเป็นห้องครัวหน้าหมู่บ้าน แต่การหาในธรรมชาติมีวันหมดหายไปหากไม่อนุรักษ์ ส่วนการเลี้ยงหอยนางรมในกระชังของชาวบ้าน เดิมทีจะเลี้ยงแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ โดยการนำหอยนางรม 2 ตัวมาแปะติดกัน แล้วผูกเชือกเลี้ยงอนุบาลไว้ในกระชัง เมื่อถึงเวลาก็เก็บขาย แต่ได้น้อย


ดังนั้น มทร.ศรีวิชัยตรัง จึงพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมมาเป็นแบบความหนาแน่นสูง ในรูปแบบการเลี้ยงในตะกร้า และตะแกรงแบบเลื่อนพลาสติก 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ (กระชัง) ทำให้ได้ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 7-8 เท่า หรือประมาณ 7,000-8,000 ตัวต่อกระชัง จากเดิมที่เลี้ยงหอยนางรมแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม ได้จำนวน 1,000-2,000 ตัวต่อกระชังเท่านั้น

โดยการเลี้ยงหอยแบบตะกร้าจะใช้พ่อแม่พันธุ์หอยนางรมพันธุ์ตะโกรมกรามขาว ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ตำบลวังวน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากจังหวัดกระบี่ และจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเพาะฟักที่หน่วยวิจัยหอยนางรม มทร.ศรีวิชัย ตรัง จนได้ลูกหอยนางรมขนาด 5 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเม็ดทราย ก่อนนำมาลงตะกร้าขนาด 30 x 20 ซม. แล้วเพาะเลี้ยงในกระชังขนาด 9 ตารางเมตร เป็นเวลา 10 เดือน หรือจนหอยนางรมได้ขนาดตัว 7 ซม. แล้วย้ายไปเพาะในตะกร้าขนาด 30 x 50 ซม. ก่อนเลี้ยงหอยในกระชังต่อไปอีก 2-3 เดือน จนได้หอยนางรมขนาด 12 ซม. ก็สามารถนำไปจำหน่ายในท้องตลาดได้

ซึ่งวิธีการนี้ทำให้หอยมีความรอดสูงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แถมยังทำให้หอยมีขนาดใหญ่ และสามารถส่งขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงขึ้น และอนุรักษ์หอยนางรมในธรรมชาติให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น