xs
xsm
sm
md
lg

“คนรุ่นใหม่” ใช้ “แฮชแท็ก” สร้างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... ลลิตา เพชรแท้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

คนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้ทางการเมืองด้วยระบบคิดที่ต่างไปจากเดิม ทั้งแนวคิด วิธีปฏิบัติ รวมไปถึงการเลือกใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการขับเคลื่อนอย่างรอบด้าน สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นทางเลือกสำคัญในการเดินหน้าสังคม บทบาทคนรุ่นใหม่กับสื่อสังคมออนไลน์คงจะเป็นความหวังสู่ทางออกของประเทศได้

“แฮชแท็ก (Hashtag)” คือชื่อเรียกของเครื่องหมาย # ที่ใช้บนสื่อสังคมออนไลน์ และไม่มีความหมายในตัวมันเอง แต่หากจะนิยามความหมายของมันก็คงจะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร เผยแพร่ข้อความ วิดีโอ ภาพ บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยช่วยในการจัดระเบียบ จำแนกกลุ่มตามหัวข้อและเนื้อหา

#เยาวชนปลดแอก แฮชแท็กที่มีกระแสจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ (Twitter) ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เป็นแฮชแท็กทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ร่วมใจกันใช้สื่อสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนทางการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะดูเหมือนว่าความอดทนของคนรุ่นใหม่เริ่มที่จะหมดลง เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ปกครองประเทศยาวนานกว่า 7 ปี แต่กลับไม่มีอะไรที่ดีขึ้นเลย เรียกได้ว่าประชาชนพบแต่ความถดถอยในทุกด้านของประเทศ

คนรุ่นใหม่จึงร่วมกันลุกฮือขึ้นมาติดแฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก เพื่อเป็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะลาออก เพื่อคืนอิสรภาพให้ประชาชนคนไทย เพราะตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้อยู่ภายใต้การปกครองที่ขาดเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ประชาชนไม่สามารถวิจารณ์อะไรเกี่ยวกับตัวตนของรัฐบาลหรือแม้การทำงานของรัฐบาลได้อย่างอิสระ

จากการเข้าไปสืบค้นแฮชแท็กต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ทราบว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์หลักๆ ในการก่อตั้งคือ การเรียกร้องที่แสดงออกถึงความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ในหลายๆ ด้าน

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่แทบจะกลายเป็นสังคมรวยกระจุก จนกระจาย ด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Corona Virus) หรือโควิด-19 (Covid-19) ได้ อีกทั้งยังมีแขก VIP ของรัฐบาลที่นำเชื้อเข้ามาสู่ประเทศจนทำให้สถานการณ์หนักขึ้นอีก หรือจะเป็นความไม่ชอบธรรมในการเลือกตั้งช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผลคะแนนดูจะไม่เป็นธรรม ส่อไปในทางทุจริต ตั้งแต่การออกกฎหมายให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ตนเองแต่งตั้ง 250 คนมีสิทธิออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ในยุคสมัยก่อนนั้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ของกลุ่มคณะราษฎร ที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย นับจากนั้นมาการเมืองก็ไม่ได้เป็นที่สนใจของคนไทยเท่าไหร่ การเมืองจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ นักการเมือง หรือคนในเมืองหลวงเท่านั้น จวบจนปัจจุบันคนไทยหลายคนก็ยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว จากประสบการณ์ได้พบเจอหลายคนที่มองว่าการเมืองดูจะไม่เกี่ยวข้องกับเขาเลย แต่หากมองให้ลึกแล้วนั้นการเมืองเกี่ยวข้องกับคนทุกคน นับตั้งแต่เกิดไปจนถึงตาย

ดังนั้น การลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนการเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ บทบาทของคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองเป็นแรงกำลังสำคัญในการเดินหน้าของประเทศชาติ ซึ่งนอกจากการออกไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่คนรุ่นใหม่จะทำได้แล้ว การใช้แฮชแท็กก็เป็นตัวช่วยให้เกิดการผลักดันด้านการเมือง ทำให้คนไม่รู้ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาหรือที่เรียกว่า “ตาสว่าง”

จากแฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก นำไปสู่อีกหลายๆ แฮชแท็กที่ต่างก็โด่งดังและได้รับการยอมรับอย่างสูงมากไม่ว่าจะเป็น #ให้มันจบที่รุ่นเรา หรือ #SaveThaiDemocracy หรือแม้กระทั่งแฮชแท็กของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น #ศาลายางดกินของหวานหลากหลายสี หรือ #มศวขอมีจุดยืน ภายใต้แฮชแท็กเหล่านี้จะได้พบกับความจริงในการบริหารประเทศของรัฐบาล และความวินาศสันตะโรที่รัฐบาลชุดนี้ได้กระทำไว้ตลอดการกุมบังเหียนขับเคลื่อนประเทศชาติ

จากแฮชแท็กที่เป็นกระแสกันเพียงในโลกออนไลน์เท่านั้น นำไปสู่ “การผูกโบขาว” และ “การชูสามนิ้ว” ในหลายๆ พื้นที่ สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นการแสดงจุดยืนของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งแฮชแท็กยังนำไปสู่ “แฟลชม็อบ (Flash Mob)” ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่เพียงแต่การชุมนุมในเมืองหลวงใหญ่ แต่การชุมนุมยังเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังมีการติดแฮชแท็กเพื่อนัดวันเวลาการชุมนุมในแต่ละวันอีกด้วย นับว่าจากโลกออนไลน์ที่ว่ากันว่าเป็นโลกเสมือน กำลังเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว

ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 เมื่อได้จดนิ้วเข้าไปดูแฮชแท็กต่างๆ ในแอปพลิเคชัน (Application) รูปนกสีฟ้า (ทวิตเตอร์) ก็จะพบกับแฮชแท็ก #หยุดคุกคามประชาชน เมื่อเข้าไปดูแล้วได้เห็นคลิปวิดีโออันโหดร้ายที่ไม่น่าจะพบในประเทศที่มีคำว่า “รักสงบ” บรรจุอยู่ในเพลงชาติ นั่นคือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำที่ผสมสารเคมีซึ่งเป็นพิษภัยใส่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุม แถมยังพุ่งเป้าฉีดอัดโดยตรงเพื่อสลายการชุมนุม นั่นไม่ใช่วิธีการสลายการชุมนุมตามสากล แต่รัฐบาลกลับเลือกใช้วิธีป่าเถื่อนนี้กับคนไทยด้วยกัน

และจากแฮชแท็กดังกล่าวนี้แหละที่ทำให้หลายคนรับไม่ได้กับการกระทำของรัฐบาลอย่างมาก ทำให้เรื่องราวนี้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้ร่วมชุมนุมและผู้รับรู้เหตุการณ์ ส่งผลให้เป็นกระแสการเมืองที่กว้างไกลออกไปถึงต่างประเทศ ซึ่งต่อมาไม่นานคลิปภาพดังกล่าวถูกลบโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่นั่นแหละเพราะแรงขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ผ่านทางแฮชแท็ก ซึ่งทำให้มีผู้คนมากมายบันทึกคลิปภาพนี้ไว้และนำมาเผยแพร่ซ้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อย้ำเตือนการกระทำอันสุดโหดของรัฐบาล

จากการขับเคลื่อนของแฮชแท็กต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น นำไปสู่ข้อมูลข่าวสารของการบริหารประเทศและข่าวสารใหม่ๆ อย่างวงกว้าง และก่อให้เกิดแฮชแท็กใหม่ๆ ตามมา พร้อมทั้งทำให้คนหลายรุ่นเริ่มให้ความสนใจ เช่น #NoCPTPP เป็นแฮชแท็กเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วม Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) โดยขาดการคิดไตร่ตรองถึงผลเสียที่ตามมา

จากแฮชแท็กจึงต่อยอดไปสู่การร่วมกันสร้างแคมเปญล่ารายชื่อ หรือเชิญชวนคนร่วมลงรายชื่อคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ที่แชร์กันมาตลอดจนมีคนลงชื่อร่วมกันคัดค้าน และยังมีอีกหลายแคมเปญที่ร่วมกันลงชื่อเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาล ตัวอย่างเช่นการเรียกร้องเรื่องทรงผมของนักเรียนมัธยม จนส่งผลต่อการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผมในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ผ่านทางแฮชแท็กนั้น ทำให้ข่าวสารกระจายไปได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงง่าย คนที่ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ก็เข้าไปช่วยกันติดแฮชแท็ก รีทวิต และแชร์ เพื่อให้ข่าวสารออกไปได้ทั่วโลก การขับเคลื่อนผ่านทางแฮชแท็กนี้ทำให้เกิดการรวมใจการของคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันแปลบทความหรือเหตุการณ์เป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาของโลก เพื่อให้ต่างชาติได้เข้าใจ และเป็นการกดดันรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย

เหตุการณ์ทางการเมืองมีมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่จบ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมจำต้องหยุดรวมตัวชุมนุมกันไปก่อน เพราะเจ้าเชื้อโรคโควิด-19 ตัวดีที่ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้ หรือเรื่องนี้ควรย้อนกลับไปถามว่า “ถ้าการเมืองดี การจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ก็จะรวดเร็ว ควบคุมได้ดีหรือเปล่า”

แน่นอนว่าเมื่อรวมตัวไม่ได้ การรวมใจจึงเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ โควิด-19 หยุดยั้งการชุมนุมได้ แต่ไม่อาจหยุดยั้งการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ได้ เพราะในสื่อสมัยใหม่ทุกช่องทางยังคงมีการต่อว่า ด่าทอ ตีแผ่ และติดแฮชแท็กขับไล่รัฐบาลอยู่ร่ำไป ที่สำคัญคือแม้ชาติบ้านเมืองจะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่วายจะมีเรื่องให้โดนด่าได้ทุกวัน ประหนึ่งว่าคำด่าคือคำชี้แนะให้ทำงานได้ หรือไม่โดนด่าก็คงจะนอนไม่หลับ

ก่อเกิดแฮชแท็กไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น #วัคซีนmRNA เป็นแท็กที่เกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนดีๆ ชนิด mRNA ที่มี 2 ยี่ห้อหลักในเวลานี้คือ Pfizer กับ Moderna ให้แพทย์และพยาบาลผู้เป็นปราการด่านหน้าสำคัญในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะรัฐบาลเอาแต่สั่งวัคซีนราคาแพง แต่ประสิทธิภาพช่างสวนทางกับราคาเข้ามาให้แพทย์ พยาบาลและประชาชนฉีด โดยไม่ได้สนใจว่าการป้องกันหรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แทบไม่มีเลย แน่นอนว่าสื่อสมัยใหม่ที่มีการเรียกร้องวัคซีนภายใต้แฮชแท็กนี้นั้น ทำให้วันรุ่งขึ้นมีข่าวว่ารัฐบาลได้ยอมที่จะทำตาม คือ จัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาสักที นับว่าเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยการด่าเสียจริง

หรือจะเป็นแฮชแท็ก #รัฐบาลฆาตกร แฮชแท็กนี้เกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลล้มเหลว เพราะยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทะลุหมื่นราย และมีแนวโน้มว่าจะไต่ระดับขึ้นเป็นแสนรายด้วยซ้ำ ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็ทยอยเพิ่มอีกขึ้นจากหลักร้อยไต่ตัวเลขเป็นหลักพัน หลักหมื่น สูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงไม่ต่างอะไรจากคำกล่าวหาว่าเป็น “ฆาตกร” แม้แต่น้อย

จนกระทั่งเกิดแฮชแท็กหนึ่งที่เป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง กล่าวคือ #ม็อบ18กรกฎา เป็นแฮชแท็กนัดการชุมนุมอีกครั้งหลังจากไม่ได้รวมตัวกันเป็นเวลานาน ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น แถมมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ แต่ประชาชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้กลัวตายแล้ว เพราะทุกวันนี้อยู่กับการเมืองแบบนี้ก็เหมือนนอนรอวันตายไปวันๆ เห็นได้ชัดว่าศักยภาพของการใช้สื่อสมัยใหม่มีประสิทธิผลมากมาย เพราะเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ก็มีผู้มาร่วมการชุมนุมมากมาย แต่แล้วก็ไม่วายโดนสลายการชุมนุมแบบโหดร้ายเช่นเดิม นั่นคือมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในการสลายการชุมนุมครั้งนี้

จนเกิดวาทกรรมมากมายขึ้นภายใต้แฮชแท็กนี้ เช่น “อุปกรณ์การแพทย์ไม่เคยครบ อุปกรณ์การรบไม่เคยขาด” เพราะเห็นได้ว่าสิ่งเดียวที่รัฐบาลชุดนี้พร้อมคือ การพร้อมทำร้ายประชาชน หรือเป็นความพร้อมในเครื่องมือการทหารทั้งสิ้น คงเป็นเพราะภาษีที่ประชาชนจ่ายไปทำให้สามารถแปรไปสู่งบประมาณด้านทหาร เยอะเสียจนเหลือเฟือเพียงพอจะเอากลับมาทำร้ายประชาชน คงไม่มีสำนวนไหนตรงไปกว่า “เลี้ยงเสียข้าวสุก” จริงๆ

ยังมีวาทกรรมอื่นๆ อีกที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากทั้งคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสมัยใหม่ และจากศิลปินดาราดังที่เริ่มออกมาเป็นกระบอกเสียงในการพูดถึงการเมือง เช่น “ถ้าเราได้วัคซีนง่ายเท่าได้แก๊สน้ำตากับกระสุนยางคงจะดี” ซึ่งเป็นการคอลล์เอาต์ (Call Out) ของ เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลดีแต่จะทำลาย มากกว่าที่จะเยียวยาประชาชน ดูเหมือนจะผิดแผกและย้อนแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยไปเสียหมด

“ศิลปะไม่อาจเบ่งบานในรัฐเผด็จการ” เป็นการคอลล์เอาต์ของ มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร ดาราชายที่แสดงออกทางการเมืองชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม อันเป็นความเคลื่อนไหวที่กำลังชี้ให้เห็นว่า อาชีพดารานั้นก็คือการใช้ศาสตร์ศิลปะหนึ่งเช่นกัน และแน่นอนว่าดาราและศิลปินเองก็มีผลกระทบ เพราะไม่สามารถทำงาน ถ่ายละคร หรือร่วมแสดงงานคอนเสิร์ตได้เช่นกัน ในที่นี้ก็สามารถที่จะอนุมานได้ว่า เพราะการเมืองเช่นนี้ทำให้งานทุกอย่างต้องหยุดลง ไม่สามารถไปต่อได้

และยังมีแฮชแท็ก #แบนดาราสลิ่ม โดยคำว่า “สลิ่ม” มีที่มาจากการชุมนุมใน พ.ศ.2553 เริ่มต้นว่า “กลุ่มเสื้อหลากสี” จนมาถึงในปัจจุบันจึงเรียกผู้ที่อยู่ฝ่ายเชียร์รัฐบาลว่าสลิ่ม ซึ่งมาจากขนมหวานของไทยคือ “ซาหริ่ม” เพราะเป็นขนมที่มีสีสันหลากสี ดาราหลายคนที่ไม่ออกมาเป็นกระบอกให้กับการเมืองจึงถูกแบนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และผลที่ตามมาคือ การเลิกติดตามสื่อสังคมออนไลน์ของดาราสลิ่ม และธุรกิจของดาราสลิ่มนั้นก็มียอดขายลดฮวบ เพราะคนรุ่นใหม่เลิกใช้ เลิกสนใจ เพื่อสะท้อนแรงขับที่สำคัญของคนรุ่นใหม่

“ความเป็นกลางด้านการเมือง” มีจริงหรือเปล่าในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ เพราะจากที่ดูตอนนี้เหมือนจะมี โดยเป็นการมีตัวตนของ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย แล้วอะไรล่ะคือตรงกลาง มีหลายคนที่ยังไม่สนใจหรือไม่อินกับการเมืองในตอนนี้เท่าไหร่นัก เมื่อมีการเรียกร้องให้ออกมาพูด หลายคนก็บอกว่าขอเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วอย่างนี้จะหมายความว่า หากฝ่ายใดชนะ คนเป็นกลางก็คงจะอยู่ข้างฝ่ายนั้น โดยไม่รู้สึกรู้สาหรือละอายใจที่เขาสู้กันจนชนะเลยหรือ

ยังมีหลายคนได้กล่าวว่า “การเป็นกลางที่เมินเฉยต่อเผด็จและความรุนแรงที่รัฐบาลทำต่อประชาชน นั่นหมายความว่าคุณได้เลือกฝั่งเผด็จการแล้ว” คงจะจริงดังคำพูดนี้ เพราะแท้จริงแล้วการเป็นกลางไม่มีเลยในสังคมเรา ทุกๆ การดำเนินชีวิตล้วนต้องเลือกฝั่งหรือเลือกฝ่ายด้วยกันทั้งนั้น และหากจะให้เลือกในตอนนี้ก็คงขอเลือก “เป็นคน” มากกว่า “เป็นกลาง”

พลังมวลชนที่ใช้สื่อสมัยยังส่งผลต่อแฮชแท็ก #แบนฟูดแพนด้า โดยฟูดแพนด้าคือบริษัทบริการจัดส่งอาหารและของใช้ออนไลน์ สาเหตุที่มีการติดแฮชแท็กแบนฟูดแพนด้า เพราะว่าทางบริษัทได้มีการโพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งมีกระเป๋าเก็บความร้อนที่ทางบริษัทมอบให้ไปเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 และได้อ้างว่าทางบริษัทไม่มีนโยบายสนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ใดๆ อีกทั้งจากภาพและวิดีโอบนโลกออนไลน์ล้วนเห็นชัดว่า ความรุนแรงทั้งหลายมาจากรัฐบาลทั้งสิ้น

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าจดจำและจัดว่าแปลกใหม่ของการชุมนุม คือเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 มีขบวนคาร์ม็อบ (Car Mob) หรือขบวนรถมากมายเข้าร่วมชุมนุม เน้นให้เห็นรูปแบบเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย แน่นอนว่าคาร์ม็อบในครั้งนี้เกิดจากการนัดชุมนุม มีการกระจายข่าวภายใต้แฮชแท็ก #ม็อบ1สิงหา

และแน่นอนว่าค่ำคืนวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ก็ไม่ได้จบสวยเช่นเคย เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและยึดรถผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคน อีกทั้งยังคงมีการพยายามสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา แต่ที่หดหู่ใจที่สุดคงเป็นภาพที่มีผู้เผยแพร่อยู่ในแฮชแท็ก #ม็อบ1สิงหา นั่นคือภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจ่ออาวุธปืนเล็งใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในระยะประชิด และยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโดนลูกกระสุนยางที่ศีรษะอีกด้วย คำว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” คงใช้ไม่ได้กับตำรวจผู้เลือกข้างเผด็จมากกว่าประชาชนแล้ว

แม้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่จบลง แต่การใช้สื่อสมัยใหม่อย่างมีศักยภาพที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อดาราสลิ่ม ผลกระทบต่อบริษัทขนส่งอาหาร จนไปถึงการที่รัฐบาลยอมสั่งวัคซีนดีๆ เข้ามาให้ประชาชนเจ้าของภาษี ถึงเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็พอฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ได้เยอะทีเดียว

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ต่างชาติบ้าง เพื่อตอกย้ำให้เห็นแรงขับของคนรุ่นใหม่จากสื่อสมัยใหม่ว่ามีศักยภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างไร จากเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี พ.ศ.2554 ที่มีหญิงสาวคนหนึ่งที่ใช้สื่อสมัยใหม่ในการนัดการชุมนุมขึ้นมาแบบดูไม่จริงจังนัก แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ประชาชนชาวอียิปต์จำนวนมากมายมหาศาลร่วมกันลุกฮือมาตามนัด ก่อให้เกิดการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ซึ่งอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ยาวนานถึง 30 ปี ซึ่งยาวนานกว่ารัฐบาลชุดนี้ของประเทศไทยยิ่งนัก

และหลังจากนั้นก็ยังมีการประท้วงมีการรณรงค์ต่อเนื่อง โดยมีการนัดหยุดงาน เดินขบวน เดินแถวและการชุมนุมต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อสมัยใหม่ในการจัดระเบียบ ใช้ในการสื่อสารและสร้างความตระหนักเพื่อขับเคลื่อนสถานการณ์ทางการเมืองในอียิปต์

จะเห็นได้ว่าการใช้สื่อสมัยใหม่ของคนรุ่นใหม่ในอียิปต์นั้น มีผลต่อการขับเคลื่อนการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์การนัดชุมนุม การออกมาประท้วงของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลคงไม่เกิดขึ้น หากไม่มีตัวกลางอย่างในการสื่อสารอย่างสื่อสมัยใหม่ แน่นอนว่าแฮชแท็กที่ติดกันในทวิตเตอร์เป็นการใช้สื่อสมัยใหม่ในการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถกระจายข่าวสาร รูปภาพและเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การต่อสู้บนท้องถนนของคนอียิปต์

หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศพม่า ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลได้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากมีคณะนายทหารได้ทำการรัฐประหารขึ้นในประเทศเช่นกัน และที่สำคัญรัฐบาลใหม่ของพม่าได้พยายามตัดการติดต่อสื่อสารภายในประเทศทั้งหมด รวมทั้งอินเทอร์เน็ตต่างๆ ด้วย แน่นอนว่าพลังแห่งสื่อออนไลน์ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการขับเคลื่อนการเมืองของต่างประเทศร่วมกันติดแฮชแท็ก #SaveMyanmar เพื่อช่วยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาวพม่า แต่เหตุการณ์ในพม่าเริ่มหนักข้อขึ้นทุกวัน มีประชาชนเสียชีวิตจากการต่อสู้กับรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

การขับเคลื่อนทางการเมืองและสังคมนั้น ไม่ว่าจะประเทศใดหรือยุคสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเป็นสื่อกลาง และที่สำคัญผลจากการที่ภาคประชาชนรวมใจกันใช้สื่อสมัยใหม่นั้น ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดีเกินคาด สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า พลังของสื่อสมัยใหม่มีผลต่อการขับเคลื่อนสังคมอย่างมีศักยภาพและมากประสิทธิผลของคนรุ่นใหม่

มาถึงจุดนี้อาจยังมีหลายคนไม่คิดว่า แฮชแท็กขับเคลื่อนอะไรได้ แต่ในปัจจุบันแฮชแท็กเป็นอะไรที่สำคัญต่อการผลักดันทางการเมือง สามารถขับเคลื่อนสังคมได้มากมาย และที่สำคัญยิ่งคือข่าวที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อโทรทัศน์นั้น ไม่ได้นำเสนอในข้อเท็จจริงมากเท่าที่ควร แต่การติดแฮชแท็กมีข้อมูลที่หลากหลาย จริงอยู่ว่าอาจมีทั้งข่าวลวง (Fake news) แต่หากผ่านการอ่าน การคิดและการวิเคราะห์ของผู้อ่านจะพบว่า ภายใต้แฮชแท็กการเมืองนั้นมีข้อเท็จจริงที่เยาวชนคนรุ่นใหม่กล้าเอาออกมาตีแผ่แบบไม่เกรงกลัวอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งไม่เหมือนกับการนำเสนอข่าวสารจากสื่อทางโทรทัศน์ที่ทำไม่ได้

ภายใต้แฮชแท็กก็จะมีการแชร์หลักการของข้อกฎหมายต่างๆ หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนสังคมอย่างมากประกอบกันไปด้วย แต่ต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์ที่รวดเร็ว ข่าวสารที่ไหล่ผ่านระบบท่อของเทคโนโลยีดิจิทัลกันอย่างไร้พรมแดน ย่อมยังมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะรู้จักใช้เทคโนโลยีของโลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ และในอนาคตเด็กรุ่นใหม่จะมีองค์ความรู้ด้านกฎหมายและเรื่องราวต่างๆ ในสังคมที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดสู่การขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินหน้าไปต่อไปในทางที่ถูกที่ควรที่พวกเขายอมรับโดยไม่มีที่สิ้นสุด

“แฮชแท็ก” มีพลังเกินกว่าที่ใครจะคาดได้ ยิ่งผนึกกำลังกับ “คนรุ่นใหม่” ด้วยแล้ว การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของใครหรือกลุ่มใดที่จะออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิได้เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะการเมืองคือเรื่องของเราทุกคน หมดยุคยึดแนวความคิดเก่าคร่ำคร่า และได้เวลาเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าด้วยคนรุ่นใหม่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น