xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสนัยจาก “แถลงการณ์” ชี้ชัด BRN ต้องการขยายงานมวลชนกินพื้นที่มากกว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก

มหาดไทยใจดำ” ตัวอักษรบนไวนิลหนึ่งในป้ายที่ถูกแขวนไว้หลายแห่งในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นการแสดงออกของประชาชนที่ไม่ต้องการได้ “ผู้ว่าฯ รอเกษียณ” หรือนายนิพนธ์ บุญหลวง ที่มีชื่อย้ายมาจาก จ.น่าน โดยเหลืออายุราชการแค่ 1 ปีสุดท้ายของชีวิต

เหตุผลที่ต้องต่อต้านเพราะชาวปัตตานีเห็นว่า บ้านเมืองของเขามีปัญหามากมาย คนที่จะมานั่งทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ควรแก้ปัญหาได้ต่อเนื่อง 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เพียงปีเดียว ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดแล้วกับผู้ว่าฯ รอเกษียณที่ได้มาถึง 8 คน

จากข้อเท็จจริงต้องบอกว่า นอกจากมหาดไทยจะใจดำกับชาวปัตตานีแล้ว ยังต้องนับว่ากระทำการงี่เง่าแบบไร้ซึ่งความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาไฟใต้อีกด้วย เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมากมายไปด้วยปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้ว ยังถือเป็นพื้นที่พิเศษด้านความไม่มั่นคงที่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวอยู่

ผู้ว่าฯ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจึงควรต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ที่สำคัญต้องเป็น “คนหนุ่ม” ที่ความเข้าใจโลกสมัยใหม่ จึงจะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อย่างได้ผล การได้มาอยู่แค่ปีเดียวแค่ลงลุยพื้นที่ยังอาจทำได้ไม่ครบทุกอำเภอเอาเลยด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าฯ ที่จะย้ายมาใหม่ เพราะในอดีตผู้ที่เหลืออายุราชการ 1 ปีได้มาทำหน้าที่ที่สังคมยอมรับว่าเก่งและเข้าใจปัญหาก็มีอยู่อีกมาก เช่น นายธำรงค์ เจริญกุล อดีตผู้ว่าฯ สงขลา ที่กล้าคิดกล้าทำ แต่สงขลาแม้จะอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เหมือนกับอีก 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

จำได้ว่าจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนใต้ที่เคยออกมาต่อต้านมหาดไทยแบบนี้ก็มีอย่างที่ จ.สตูล ชาวเมืองเล็กๆ ฝั่งทะเลอันดามันเคยไม่ยอมทนกับผู้ว่าฯ 2 แบบคือ ผู้ว่าฯ ที่ถูกส่งไปฝึกงาน กับผู้ว่าฯ ไปรอเกษียณ ส่วนมหาดไทยยอมฟังหรือไม่ดูได้จากหลังเรียกร้องก็ได้ผู้ว่าฯ สตูลคนใหม่ที่เหลืออายุราชการแค่ 9 เดือนจนเป็นที่ฮือฮา!

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบอกว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแสดงออกของชาวปัตตานี เพราะได้ถอดบทเรียนตลอด 8 ปีที่ผ่านมาแล้ว ส่วนจะกระตุ้นต่อมความด้านชาของผู้บริหารมหาดไทยได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องราว “ดรามา” ที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้

กลับมาที่สถานการณ์ความไม่สงบ มีคำถามจากหลายฝ่ายว่าทำไมช่วงนี้เกิดเหตุถี่ยิบ หรือเกือบจะเป็นเหตุรายวันไปแล้ว ขอบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่ “บีอาร์เอ็น” วางยุทธศาสตร์ให้แต่ละกลุ่มนำไปปฏิบัติการ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าก่อนสิ้นปีงบประมาณ และก่อนถึงฤดูการโยกย้ายใหญ่ข้าราชการ 2-3 เดือน ไฟใต้จะถูกจุดให้รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นมาแบบนี้ตั้งแต่ก่อนปี 2547 ด้วยซ้ำ

ยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นช่วงปี 2563-2564 กำหนดให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารทำงานประสานกัน โดยฝ่ายการเมืองต้องยกระดับการสร้างศรัทธามวลชนอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ปี 2565-2566 ที่จะมุ่งขับเคลื่อนในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะเวทีของ “สหประชาชาติ (UN)”

ในส่วนของฝ่ายทหารบีอาร์เอ็นให้คงยุทธวิธีก่อเหตุร้ายแบบก่อกวน ทั้งการยิงและวางระเบิดฐานปฏิบัติการขนาดเล็กของรัฐ โดยเฉพาะ “ชป.จรยุทธ์” ดังนั้น เหตุการณ์ก่อการร้ายถี่ยิบห้วงเวลานี้จึงเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ก็รับรู้และหาทางป้องกันอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าที่หลายครั้งกองกำลังเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเหยื่อเสียมากกว่า นั่นอาจจะเป็นเพราะ “งานการข่าว” และ “งานมวลชน” ของฝ่ายรัฐยังไม่ดีพอ ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือการโจมตีหน่วย ชป.จรยุทธ์ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและล้มตาย เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าเวลานี้ฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีองค์กรต่างประเทศหนุนหลังเป็นผู้กำหนดเกม ซึ่งไม่น่าจะใช่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐเป็นแน่ เรื่องนี้ “ถอดรหัสนัย” ได้จากแถลงการณ์ของ “อับดุลการีม คอลิค” หรือ “รอมลี แบเราะ” ฝ่ายประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็นเนื่องในเทศกาลรายออีดิ้ลอัฎฮา เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา

ในแถลงการของบีอาร์เอ็นนอกจากขอให้ “ชาวมลายูปาตานี” มีสันติสุขแล้ว ยังมุ่งกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่าฉวยโอกาสส่งกองกำลังโจมตี “แนวร่วม” ในพื้นที่ท่ามกลางเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด โดยข้ออ้างของบีอาร์เอ็นที่ต้องคงไว้ซึ่งแนวร่วมในพื้นที่ก็เพื่อให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคลี่คลายโรคระบาด

นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในระยะหลังๆ แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นจะนำเรื่อง “ทุจริตภาครัฐ” ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นมาปลุกระดมมวลชนด้วย เพื่อตอกย้ำว่างบประมาณช่วยเหลือแทบไม่ถึงมือประชาชน อันเป็นการที่รัฐไทยไม่สนใจต่อชีวิตของชาวมลายูปาตานีที่เป็นชนชั้นชายขอบในสังคม

อีกประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้คือ ถ้อยแถลงของฝ่ายบีอาร์เอ็นครั้งนี้มีการใช้คำว่า “รัฐบาลเผด็จการสยาม” ให้การสนับสนุน “กลุ่มทุนใหญ่” เอารัดเอาเปรียบ (exploitation) ชาวมลายูปาตานี ซึ่งบีอาร์เอ็นอ้างว่าเป็นลักษณะของ “นักล่าอาณานิคมเผด็จการ” จึงขอให้มวลชนตระหนักและลุกขึ้นต่อสู้

ข้อกล่าวหาสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ที่บีอาร์เอ็นอ้างถึงนั้น น่าจะมุ่งเน้นไปที่บทบาทของ “ศอ.บต.” ที่ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ อย่างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเมืองต้นแบบที่กระจายทั่วพื้นที่ แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ “โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่จะตั้งขึ้นใน อ.จะนะ จ.สงขลา

หากเป็นเช่นนี้จริงก็แสดงว่า บีอาร์เอ็นเร่งแสวงหามวลชนจากข้อขัดแย้งในโครงการพัฒนาต่างๆ และไม่ได้มุ่งหมายแต่เพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเท่านั้น แต่ยังต้องการขยายสู่งพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น