xs
xsm
sm
md
lg

รสหวาน-ฉุนน้อย! “สะตอสายพันธุ์ตรัง 1” ยอดจองกิ่งพันธุ์ทะลัก นำปลูกให้ผลผลิตนอกฤดู (คลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เผย “สะตอสายพันธุ์ตรัง 1” มียอดสั่งจองกิ่งพันธุ์จำนวนมาก จนศูนย์วิจัยพืชสวนตรังผลิตต้นกล้าไม่ทัน พบจุดเด่นให้ผลผลิตนอกฤดูกาล ทำให้ได้ราคาดี แถมฝักดก รสหวาน และมีกลิ่นฉุนน้อย

นายฉัตรชัย กิตติไพศาล ผู้อำนวยศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พร้อมด้วย นางชยานุช ตรีพันธ์ นักวิชาการการเกษตรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมแปลงปลูกสะตอสายพันธุ์ดี ชื่อว่า “พันธุ์ตรัง 1” (Trang 1) ที่กำลังออกผลผลิตห้อยดกเต็มต้นจนเกือบถึงพื้นดิน โดยสะตอสายพันธุ์ดังกล่าวนี้ได้มาจากการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ทำการรวบรวมคัดเลือกสะตอพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตนอกฤดู คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน มาจากหลายจังหวัดทั่วภาคใต้รวม 12 สายพันธุ์ เช่น สตูล สงขลา พัทลุง ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง แล้วนำมาปลูกไว้ที่แปลงทดลองตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งขณะนี้ประสบความสำเร็จในการวิจัย จนได้สะตอ “พันธุ์ตรัง 1” ออกมา สามารถเป็นพันธุ์แนะนำให้แก่เกษตรกรได้ตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากฝักดก ฝักตรง เมล็ดเรียงชิด รสชาติหวาน มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าสะตอพันธุ์อื่น และออกนอกฤดู

นางชยานุช ตรีพันธ์ นักวิชาการการเกษตรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง กล่าวว่า เป้าหมายคือ อยากศึกษาวิจัยหาพันธุ์ดีที่สามารถให้ผลผลิตนอกฤดูกาลได้ และอยากส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากว่าฤดูปกติจะมีสะตอออกมาเยอะ ทำให้ราคาตกจนอาจเหลือฝักละประมาณ 3 บาท แต่ถ้าเป็นสะตอที่สามารถออกนอกฤดูได้ จะมีราคาขายสูงฝักละ 7-15 บาท หรือให้ราคาที่สูงกว่าในฤดูประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่า และรายได้ให้แก่เกษตรกร ยิ่งถ้าส่งขายในตลาดภาคกลาง บางครั้งจะได้ราคาสูงถึงฝักละ 20 บาท ที่สำคัญคือใช้เวลาปลูกประมาณ 3 ปี ก็จะเริ่มออกดอก ทั้งนี้ ถ้าต้นสมบูรณ์มากๆ ผลผลิตที่ได้จะดกไม่ต่ำกว่า 200 ฝักต่อต้น และต่อมูลประมาณ 12 ฝักขึ้นไป ส่วนเมล็ดประมาณ 15-16 เมล็ดต่อฝัก จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ หลังจากศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ทำวิจัยสำเร็จก็ได้ขึ้นทะเบียนสะตอ “พันธุ์ตรัง 1” เป็นพันธุ์แนะนำ หลังมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไป ปรากฏว่าเป็นที่ต้องการของทั้งคนในพื้นที่ และนอกพื้นที่สูงมาก ยอดจองขณะนี้รวมแล้ว 75,000 ต้น ขณะที่ศูนย์วิจัยผลิตต้นพันธุ์ได้ปีละ 10,000 ต้นเท่านั้น ทำให้ต้องเร่งหาทางสร้างเครือข่ายการผลิตต้นพันธุ์ เพื่อให้สามารถแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรได้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสะตอเป็นผักพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสามารถปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีคุณค่าทางเภสัชวิทยา คือช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ได้อีกด้วย











กำลังโหลดความคิดเห็น