xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ภูเก็ตจัดโครงการ “ม.อ.ภูเก็ต มิติแห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care” สร้างความเชื่อมั่นดูแลนักศึกษา-บุคลากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้บริหาร ม.อ.ภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวโครงการ “ม.อ.ภูเก็ตมิติแห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเผยแพร่ข้อมูลการดูแลนักศึกษา บุคลากร และสังคม ในมิติต่างๆ ของ ม.อ.ภูเก็ต

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (10 ส.ค.) รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต พร้อมด้วย รศ.ดร.ปรารถนา กาลเนาวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ ดร.ฉกาจกิจ แท่นชัยกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ร่วมกันแถลงข่าว ม.อ.ภูเก็ต มิติใหม่แห่งความห่วงใย “PSU Phuket We Care” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต


รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ธุรกิจ เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะสถาบันการศึกษาห่วงใยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมดูแลด้วยความห่วงใย PSU Phuket We Care ด้านนักศึกษา บุคลากร ชุมชนและสังคม โครงการ ม.อ.ภูเก็ต วัคซีน 100% เป็นโครงการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่ให้นักศึกษา บุคลากร ตามนโยบายของจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับวัคซีนร้อยละ 95.34 ที่เหลืออีก 4.66 เป็นกลุ่มที่ตั้งครรภ์และรอฉีดวัคซีนชนิดอื่น สำหรับในส่วนของนักศึกษาได้รับวัคซีน 57% จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างรอฉีด

อย่างไรก็ตาม ในการสนับสนุนสังคมนั้น ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง ม.อ.ภูเก็ต ได้เข้าไปสนับสนุนข้อมูลด้านต่างๆ ให้ทางจังหวัดภูเก็ต ได้ส่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เข้าไปทำงานร่วมกับทางจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการใช้ติดสินดำเนินการในด้านต่างๆ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 จำนวน 170 เตียงและใช้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เปิดศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งแบบ Rapid Antigen Test และ RT-PCR

และมีการเตรียมผู้ประกอบการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังโควิด-19 ระบาด เช่น การบริหารท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโรงแรมไปแล้วกว่า 120 แห่ง พัฒนาบุคลากร งานวิจัยที่มีอยู่กว่า 30 ชิ้น ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และโครงการศูนย์สุขภาพอันดามัน ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบโรงพยาบาล 300 เตียง และโรงพยาบาลทันตกรรม


ด้าน รศ.ดร.ปรารถนา กาลเนาวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.อ.ภูเก็ต ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเปิดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยจะงดการเรียนการสอนในชั้นเรียนทั้งหมด ตั้งแต่ 9 สิงหาคม-11 ตุลาคม 2564 และจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันในชั้นเรียนแทน และงดการวัดและประเมินผลในห้องสอบ ให้เป็นการวัดประเมินผลที่เป็น formative มากขึ้น

ส่วนการบริการของวิทยาเขต คณะและวิทยาลัยเปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ พื้นที่อ่านหนังสือ สามารถเปิดให้บริการได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของวิทยาเขต คณะ วิทยาลัย และของจังหวัด โดยยึดหลัก D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ อาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาของทุกคณะดำเนินการสอนควบคู่ทั้ง Online และ Onsite โดยมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์เพื่อความสะดวกในการสอนรูปแบบใหม่ดังกล่าว นักศึกษาเองสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมดซึ่งมีระบบ Wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่ การเรียนในรูปแบบ Online จะสะดวกและปลอดภัยสำหรับนักศึกษามากยิ่งขึ้น


ขณะที่ ดร.ฉกาจกิจ แท่นชัยกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.อ.ภูเก็ต มีแนวทางมาตรการการช่วยเหลือผู้ปกครองและนักศึกษาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่น จัดทุนการศึกษา เป็นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทุน กยศ. ซึ่งจัดสรรให้ในส่วนของค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ตามข้อกำหนด ทุนการศึกษาประเภททั่วไป ได้รับจัดสรรงบประมาณจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 10 ล้านบาท ซึ่งนักศึกษาได้รับ 5,000-30,000 บาท/คน ทุนการศึกษาประเภททุนทำงานแลกเปลี่ยน ชั่วโมงละ 60 บาท สำหรับวิทยาเขตภูเก็ต ชั่วโมงละ 50 บาท วิทยาเขตภูเก็ต จัดสรรเงินรายได้ให้นักศึกษา ชั่วโมงละ 45 บาท งบประมาณ 150,000 บาท/ปี และอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยดำเนินการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้นักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติในระดับปริญญาตรี 20% ตั้งแต่ปี 2563-2564 สำหรับการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 50% ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั้น อยู่ในกรอบการดำเนินการของมหาวิทยาลัย 20% ร่วมกับรัฐบาล 30%

ด้านสวัสดิการ มีการจัดเตรียมห้องเรียนที่มีความพร้อมของระบบและอุปกรณ์การเรียนรู้ออนไลน์ สวัสดิการเงินยืมฉุกเฉินแก่นักศึกษาที่ประสบปัญหาทางการเงินและมีความจำเป็นเร่งด่วน สวัสดิการช่วยเหลืออาหารกลางวันแก่นักศึกษาที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ และนักศึกษาที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 นำหลักฐานจากแพทย์เพื่อขอรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือรายละ 10,000 บาท วิทยาเขตภูเก็ตได้รับงบประมาณจัดสรร 150,000 บาท/ปี เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น