คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ /โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
ต้องยอมรับความจริงว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นปีที่ 2 ได้ซ้ำเติมสถานการณ์โดยรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
เพราะนอกจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่นำโดย “บีอาร์เอ็น” จะยังปฏิบัติการเข้มแข็งทั้งด้านการทหารและด้านการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องของ “ความยากจน” ที่มีอยู่แล้วถูกรุมเร้าจากการระบาดของโควิด-19 ทบเท่าทวีคูณเพิ่มขึ้นไปอีก
ที่บอกว่างานการทหารและงานการเมืองของบีอาร์เอ็นยังเข้มแข็ง เห็นได้จากแม้ “ปิด” หมู่บ้าน-ตำบลมากมาย รวมถึง “ซีล” ชายแดนไทย-มาเลเซีย ชนิด 100% เพื่อป้องกันเชื้อโรค แต่ “อาร์เคเค” หรือกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นยังปฏิบัติการวางระเบิดซุ่มโจมตีและปะทะกับ “หน่วยจรยุทธ์” ของทหารมาโดยตลอดในรอบ 2 ปีมานี้
ล่าสุด อาร์เคเคใช้กำลังเพียงไม่กี่คนหลอกล่อให้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องสนธิกำลังกับตำรวจในพื้นที่นับร้อยเข้าปิดล้อมและยิงปะทะกันได้นานถึง 7 วัน เหตุเกิดในพื้นที่ป่าสาคู ต.กะดูนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งหลังการปะทะปิดฉากลงพบว่า ฝ่ายอาร์เคเคมีเพียง 2 ศพปรากฏให้เห็นเท่านั้น
อีกทั้ง “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นใน ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ยังได้ “เอาคืน” ในทันทีทันควันด้วยการวางระเบิดทหารหน่วยจรยุทธ์ทำให้ทหาร “พลีชีพ” 1 และบาดเจ็บทั้งชุด 3-4 นาย ที่สำคัญผ่านไปกว่าสัปดาห์ก็ยังไม่สามารถระบุตัวตนหรือจับกุมคนร้ายได้ แค่สันนิษฐานจากงานการข่าวว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหน่วยจรยุทธ์นี้บอกอะไรได้หลายอย่าง หนึ่งคือปฏิเสธไม่ได้ว่า อ.จะนะ ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทางการทหารอย่างสำคัญของบีอาร์เอ็น อาร์เคเค หรือแนวร่วม แสดง “ศักยภาพ” ก่อเหตุร้ายต่อเจ้าหน้าที่ 2-3 ครั้งต่อปี อันชี้ให้เห็นถึงการมี “ตัวตน” ของบีอาร์เอ็นอยู่ในพื้นที่มาต่อเนื่อง
ส่วนงานการเมืองถ้า “หน่วยข่าว” กอ.รมน.หรือสันติบาลเกาะติดพื้นที่จริง ก็จะรู้ว่าบีอาร์เอ็นเคลื่อนไหวมวลชนเข้มข้นมากกว่าในอีก 3 อำเภอของ จ.สงขลาเสียด้วยซ้ำ เพราะ อ.จะนะ มีสถานศึกษาและมีกลุ่มผู้สนับสนุนเกี่ยวร้อยขบวนการอยู่มาก
กว่า 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ อ.จะนะ จึงยังเป็นดินแดน “กันชน” เพื่อรักษาพื้นที่ “ไข่แดง” อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาเอาไว้ จึงถือเป็นกว่า 17 ปี ที่น่าคิดและน่าเป็นห่วงที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังทำให้พื้นที่เป็น “พื้นที่สีเขียว” ไม่ได้เลย
ถามว่ากว่า 17 ปี ความสำเร็จของมาตรการดับไฟใต้อยู่ที่ไหน โดยเฉพาะจะทำให้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสมีความสงบได้อย่างไรในเมื่อพื้นที่อย่าง อ.จะนะ ที่อยู่ใกล้กับ อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองสงขลา ยังมีการก่อเหตุร้ายและเป็นฐานบ่มเพาะคนหนุ่ม-สาวเข้าสู่ขบวนการ
ถามว่า 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างผสมกลมกลืนระหว่างประชากร “พุทธ” และ “มุสลิม” มากกว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว “หน่วยงานความมั่นคง” ใช้นโยบาย “พหุวัฒนธรรม” เพื่อสร้างสันติสุขมาตลอด แต่กับหยุดการ “บ่มเพาะ” เยาวชนหน้าใหม่เข้าสู่ขบวนการไม่ได้ผล
ถามต่อไปว่า ผู้นำกลุ่มที่ก่อวินาศกรรมในพื้นที่ อ.จะนะ เป็นแนวร่วม “กลุ่มหน้าขาว” ใช่หรือไม่?
ถ้าใช่! “หน่วยงานความมั่นคง” ต้องตอบโจทย์ก่อนเลยว่า ทำไมปล่อยให้บีอาร์เอ็นทำงานการเมืองและงานการทหารแบบเติบโตได้ต่อเนื่อง
อันที่จริง หน่วยงานความมั่นคงก็ทราบดีว่า แนวร่วมกลุ่มรุ่นใหม่ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ออกมาปฏิบัติการล่าสุดกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ปรากฏตัวโดยยังอยู่ในสถานะของ “คนหน้าขาว” ที่เจ้าหน้าที่การข่าวยังไม่มีประวัติอยู่ในมือ
ถามเพิ่มเติมอีกว่า “ใคร” รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งก็คือหน้าที่ของ “ฉก.สงขลา” ใช่หรือไม่ และที่สำคัญเป็นหน่วยเดียวที่มีพื้นที่รับผิดชอบเพียงแค่ 4 อำเภอหรือเปล่า เพราะในขณะที่ ฉก.ในอีก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมีพื้นที่รับผิดชอบกระจายไปเต็มทั้งจังหวัด
จึงไม่ทราบว่าตลอดกว่า 17 ปี การดับไฟใต้ระลอกใหม่ของ “กองทัพภาค 4” ไม่ว่าจะในชื่อและในรูปแบบต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจนปัจจุบันที่เรียกกับว่า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” นั้นมีนโยบายอย่างไรกับพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และโดยเฉพาะกับ อ.จะนะ ที่เป็นพื้นที่กันชนพิเศษให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่าง อ.หาดใหญ่
จำได้ว่าเคยมีการใช้ “มาตรา 21” ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาให้แนวร่วมยอมออกมารายงานตัว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการไม่มีความผิดทางอาญา แต่ยกเว้นผู้ที่มีคดีอาญาเก่าติดตัว ซึ่งจะต้องไปแก้ต่างในกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป
แต่สุดท้าย ม.21 ก็ “ไม่จูงใจ” ให้แนวร่วมขบวนการออกมารายงานตัว จำได้ว่า มีผู้ยอมเข้าสู่กระบวนการนี้ไม่น่าจะเกิน 4 คน และสุดท้ายก็จบลงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ณ วันนี้ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังใช้มาตรการเดิมแบบนี้อยู่อีกหรือไม่
สถานการณ์ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา จึงมีสถานะที่ไม่ได้แตกต่างไปจากทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่มีเพียงการเคลื่อนไหวของแนวร่วมบีอาร์เอ็นอยู่ในพื้นที่แค่หย่อมเดียวเท่านั้น จากที่ทั้ง จ.สงขลา มีพื้นที่รวมกันแล้วถึง 16 อำเภอ แต่หน่วยงานความมั่นคงก็ยัง “เอาไม่อยู่” ทั้งที่ปฏิบัติการต่างๆ ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลย
สรุปคือสถานการณ์ชายแดนใต้ห้วงที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งกระทบทั้งด้านความมั่นคง การพัฒนาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจนชงักะงันและซ้ำเติมความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับบีอาร์เอ็นกลับไม่มีผลประทบใดๆ เลย งานการทหารและการเมืองในพื้นที่รวมถึงในมาเลเซียและในระดับสากลก็ยังเดินหน้าไปได้
หลังการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย อาจจะได้เห็นการขับเคลื่อนงานในปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนผ่าน “ภาคประชาสังคม” ในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับองค์กรระหว่างประเทศอย่าง “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)”
ส่วนงานการทหารก็อาจจะรุนแรงมากขึ้นอีก เพื่อให้สอดรับกับงานการเมืองและปัญหามวลชนที่ทุกข์ยากจาก “ภัยแทรกซ้อน” จากโควิด-19 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “หน่วยงานรัฐ” ดูแลหรือช่วยเหลือไม่ได้อย่างทั่วถึง จึงกลายเป็นจุดอ่อนให้บีอาร์เอ็นใช้โจมตีการบริหารของรัฐบาล
ความคาดหวังที่จะเห็นฝ่ายความมั่นคงแก้ปมไฟใต้ได้ตรงจุดกลับมลายหายไปสิ้น ความจนชินชาคลี่ม่านมาทาบทับจนไม่กล้าคาดหวังอะไรได้อีกแล้ว
ที่กล่าวมาล้วนถือเป็น “งานหนัก” และ “งานใหญ่” ก็จริง แต่ในเมื่องานเล็กๆ อย่างการติดตามปืนสงคราม 20 กระบอกของกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนที่ 2 จ.นราธิวาส ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีวี่แววของทั้งปืนและคนร้ายปรากฏให้เห็น
ณ เวลานี้สังคมจึงทำได้แค่เพียง “ปลงอนิจจัง”
“โจรในเครื่องแบบ” ยังจับได้ยากจับเย็นแสนเข็ญ แล้วจะให้จับ “โจรแบ่งแยกดินแดน” สำเร็จได้อย่างไร?!