xs
xsm
sm
md
lg

เชฟดังเมืองตรังยกทีมบุกสวนไผ่ ก่อนนำ “หน่อไผ่” กลับมารังสรรค์เป็นเมนูชั้นเลิศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เชฟดังจากร้านอาหารในเมืองตรัง ยกขบวนไปชมสวนไผ่หลากหลายสายพันธุ์ แล้วนำกลับมารังสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ เพื่อยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นชั้นเลิศ โดยเฉพาะ “หน่อไผ่” ที่ทำอะไรก็หรอยไปหมด

ททท.สำนักงานตรัง ได้นำบรรดาเชฟดังจากจากร้านอาหารในจังหวัดเดินทางไปยัง “สวนของพ่อ” หมู่ 1 บ้านหนองชุมแสง ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เพื่อไปชมสวนไผ่หลากหลายสายพันธุ์ ในเนื้อที่ 20 กว่าไร่ รวม 600 กว่าต้น โดยมี นายสุวัฒ นุชม่วง อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของสวน เป็นผู้แนะนำชนิดของไผ่ และการขุดหน่อไผ่ อันเป็นวัตถุดิบที่ใช้นำมาปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยร้านเหล่านี้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธจักรแห่งความอร่อย ที่ตอกย้ำยกระดับวัตถุดิบชั้นเลิศของ จ.ตรัง เพื่อนำไปสู่การรังสรรค์เมนูใหม่ๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ยักษ์น่าน ซึ่งหน่อมีรสชาติหวาน เนื้อละเอียด หรือไผ่หม่าจู ซึ่งหน่อมีรสชาติหวานกรอบอร่อย ไม่มีขม เพราะถูกจัดในตระกูลไผ่หวาน แถมยังมีเนื้อสีขาวปราศจากสารฟอกสี แค่นำไปล้างน้ำธรรมดา หรือน้ำซาวข้าวก็สามารถปรุงอาหารได้เลย หรือนำไปทำเมนูเทมปุระก็ได้ ส่วนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง ก็สามารถทานหน่อดิบกับวาซาบิ หรือจะทำเป็นเมนูง่ายๆ เช่น ผัดกะเพรา ผัดน้ำมันหอย รวมทั้งไผ่ซางหม่น หรือราชินีไผ่ ไผ่กิมซุง และไผ่โป๊ะ ซึ่งล้วนแต่สามารถทานหน่อสด หรือนำไปปรุงอาหารได้อย่างมากมาย


จากนั้นบรรดาเชฟดังจากจากร้านอาหารใน จ.ตรัง ได้เดินทางไปยังร้านไลออนส์ เทล ตรัง (Lion’s Tale Trang) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 28/11 ถนนห้วยยอด ต.ทับเที่ยง ในเขตเทศบาลนครตรัง เพื่อนำหน่อไม้ไผ่หลากชนิดมาทำเป็นเมนูหรูเสิร์ฟขึ้นโต๊ะ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นเมืองตรัง (Local to Global) เช่น ข้าวรีซอตโต้ซอสครีมชีสหน่อไม้หม่าจู เสิร์ฟพร้อมกับหน่อไม้หม่าจูย่างไฟจนหอม หรือเมนูซุปครีมหน่อไม้ และหอยเชลล์ย่า ที่ยังคงรักษารสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของหน่อไม้ไว้อย่างครบถ้วน

ขณะเดียวกัน ยังมีเมนูหน่อไม้ลอยแก้ว ซึ่งทำมาจากหน่อไผ่ยักษ์น่าน และเมนูอาจาด ซึ่งใช้หน่อไผ่หม่าจูกับหน่อไผ่ยักษ์น่าน ซึ่งเป็นวัตถุดิบจาก อ.วังวิเศษ กับ อ.กันตัง กินกับแกล้มขนมจีน หรืออาหารที่เผ็ดร้อน หรือจะนำไปกินกับสเต๊กได้อย่างอร่อยลงตัว นอกจากนั้น ยังมีการนำโซดาน้ำไม้ไผ่ ที่มีกลิ่นหอมจากไผ่อ่อนๆ มาผสมกับน้ำตาลจาก (น้ำตาลสดจากต้นจาก พืชตระกูลปาล์มที่ขึ้นชุกชมในบริเวณป่าชายเลน) จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีความสดชื่น หอมหวาน ซาบซ่า ชื่อว่า “Out of the Woods” หรือแปลตรงๆ ว่า “ออกจากป่า”












กำลังโหลดความคิดเห็น