xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” ขวัญกำลังใจพสกนิกรชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย..ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล


ต้องยอมรับความจริงว่า ณ วันนี้ การระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หนักมาก ไม่ว่าจะเป็น จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของแต่ละจังหวัด ในแต่ละวันทะยานขึ้นไปถึง 200 กว่าคน เหลืออยู่เพียง จ.สตูล ที่เป็นพื้นที่ปิด ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 2 หลัก แต่ก็ไม่น่าไว้วางใจ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในทุกวัน ถ้ายังควบคุมไม่ได้ อีกไม่กี่วันก็คงจะต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วันนี้ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกำลังจะ "เอาไม่อยู่"

โรงพยาบาลสนามอาจจะไม่เป็นปัญหา เพราะขยายได้ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และยังมีหน่วยงานของกองทัพภาคที่ 4 ที่พร้อมในการให้ความร่วมมือ ใช้สถานที่ของกองทัพเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่จำนวนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหาเพิ่มไม่ได้ง่ายๆ และส่วนหนึ่งก็ถูกกักตัว ติดเชื้อจากการปกปิดอาการของผู้ป่วย

วันนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ต้องตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในการควบคุมโรค ควบคุมพื้นที่ซึ่งมีการระบาด และประชาชนที่เป็นผู้ป่วย และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำมาหากินไม่ได้ตามปกติ ไม่ว่าเป็นพ่อค้า แม่ค้า แรงงาน เกษตรกรที่ปลูกพืชผักผลไม้แล้วขายไม่ได้ เพราะไม่มีผู้ซื้อ ไม่มีตลาดในการรองรับ คือการต้องการกำลังใจ ต้องการเห็นการ "เข้าใจ เข้าถึง และใส่ใจ" ถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น


วันนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เป็นเลขาธิการ หรือเป็นผู้นำองค์กร ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบใน "มิติ" การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ ที่ต้องรับรู้ รับทราบถึงความเดือดร้อนที่คนในพื้นที่ได้รับ และต้องทำหน้าที่ในการแก้ปัญหา ในการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อคลี่คลายความทุกข์ร้อนของประชาชน เรียกได้ว่า ตั้งแต่โควิด-19 รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 จนถึง ณ วันนี้ ภารกิจของ ศอ.บต.ไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่องานด้านอื่นๆ เดินหน้าไปไม่ได้ เพราะปัญหาของโรคระบาด ของการปิดประเทศของเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยว การลงทุนต้องหยุดอย่างสิ้นเชิง

การนำคณะเจ้าหน้าที่เยี่ยมจุดตรวจ จุดคัดกรอง เยี่ยมการทำหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุข พร้อมมอบสิ่งของต่างๆ เพื่อเป็นการให้กำลังใจ เป็นการปลอบขวัญ จึงกลายเป็นอีกงานหลักของ ศอ.บต. เพราะหน่วยงานอื่นๆ ต่างมีภารกิจในการรับมือกับการป้องกัน รักษาพยาบาล การควบคุมพื้นที่ การล็อกดาวน์พื้นที่ งานด้านการลงพื้นที่เพื่อสร้างขวัญ สร้างกำลังใจให้แก่ผู้คนจึงเป็นหน้าที่ของ ศอ.บต. ที่เข้าไปบูรณาการ ด้วยการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย และต่อยอดในสิ่งที่มีการทำอยู่แล้วเพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น


โรงครัวพระราชทาน “มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” ที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการพระราชทานในครั้งนี้ ซึ่งมี ศอ.บต.นำอาหารที่ได้รับพระราชทานไปมอบให้ประชาชนในหลายอำเภอของ จ.ยะลา เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ “พสกนิกร” ในพื้นที่ได้รับรู้ว่า ในยามที่ประชาชนได้รับความทุกข์ร้อน ยังมี “มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” ที่ส่งกำลังใจมาด้วยความเอื้ออาทร

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเหนื่อย ประชาชนทุกข์ร้อน นอกจากน้ำพระทัยจากครัวพระราชทาน สภากาชาดไทยแล้ว ยังมีภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือ มอบสิ่งของต่างๆ เพื่อส่งต่อให้ผู้เดือดร้อน ทุกข์ยากจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่ง ศอ.บต.ได้ทำทุกวิถีทางในการบูรณาการและเติมเต็มในช่องว่างที่ขาดหาย เราจะทำอย่างเต็มที่ และทำให้ดีที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น