xs
xsm
sm
md
lg

‘ม.ทักษิณ’ ได้รับคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ‘มหาวิทยาลัยทักษิณ’ ได้รับคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ ปีการศึกษา 2564

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศรายชื่อสถาบัน และหลักสูตรในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ) ปีการศึกษา 2564 โดยหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาการวิจัยและประเมิน สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นหนึ่งหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือก

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ลงนามในประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจเข้าร่วมเป็นสถาบันฝ่ายผลิตในโครงการฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ได้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ) ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 25 หลักสูตร 35 สถาบัน ผลการพิจารณาปรากฏว่า หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยและประเมิน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันฝ่ายผลิตในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ) ประจำปี 2564


อาจารย์ ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ (ประธานผู้รับผิดชอบหลักสูตร) ดร.ชัยลิขิต สร้อยเพชรเกษม และ ดร.เสาวรส ยิ่งวรรณะ ทีมคณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตร กศ.ม.วิจัยและประเมิน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร กศ.ม.วิจัยและประเมิน ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นว่า สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่งเข้าศึกษาวิชาชีพครูในสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้รับการบรรจุให้รับราชการครูในภูมิลำเนาตนเอง และภายหลังการบรรจุในเวลา 3 ปี จะมีการจัดสรรทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศ จำนวน 50 ทุน/รุ่น โดยต้องเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอน แผนก 2 ที่เน้นการทำวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้ พิจารณาคัดเลือกจากเกณฑ์คุณภาพอาจารย์ (45%) การบริหารจัดการและการพัฒนาคุณภาพ (30%) และการบริหารหลักสูตรและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ 5 ปีย้อนหลัง (25%)

สำหรับหลักสูตร กศ.ม. การวิจัยและประเมินที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ มีจุดเน้นในการนำความรู้ด้านการวิจัยและประเมินไปใช้แก้ปัญหา พัฒนา และสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ ทั้งในกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป และเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะเป็นนวัตกรรมสำคัญสำหรับครูผู้รับทุน สามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะสถาบันฝ่ายผลิตในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (หลักสูตรระดับปริญญาโททางการสอนในประเทศ) จะเริ่มเปิดรับสมัครนิสิตมนปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกณฑ์ และคุณสมบัติการคัดเลือกผู้รับทุนในโครงการฯ จากประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น