xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มจาก “พื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก” ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาชุมชน สู่สันติสุขอันยั่งยืนของชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. เมือง ไม้ขม

ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนนั้น สิ่งที่มีการพูดกันมาหลายปีคือ ถ้าจะทำให้สำเร็จหรือเป็น "รูปธรรม" ประชาชนในชุมชน ในหมู่บ้าน ในตำบลนั้นๆ จะต้องมี "ส่วนร่วม" ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งวิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการ "สันติสุขขนาดเล็ก" ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ “ขับเคลื่อน” มาแล้วกว่า 2 ปี ในพื้นที่ 40 กว่าชุมชน ซึ่งมีบทสรุปที่ชัดเจนว่า การสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กนั้นเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ

และที่สำคัญคือ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 คือได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญา เพื่อมุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในอนาคต

วิธีการดำเนินการของการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก คือ ศอ.บต.เป็นแกนหลักในการร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม สภาองค์กรชุมชนตำบล ในการจัดเวทีประชาชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และความต้องการเร่งด่วนของชุมชน จากนั้นนำไปสู่การประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานของ ศอ.บต.ที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว เพื่อทำการวิเคราะห์ถึงความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัญหาหลายด้าน และมีปัญหาที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ส่วนราชการปรับแผน และกิจกรรม ให้การสนับสนุน ซึ่งได้รับการสนองตอบด้วยดี

สำหรับบางกิจกรรมได้มอบหมายให้ “สภาสันติสุขตำบล” ไปดำเนินการ โดยบรรจุในแผนปฏิบัติการตำบล ส่วนบางกิจกรรมที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและเกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชน และเชื่อมโยงกับ ศอ.บต. ก็จะมีการบรรจุไว้เป็นกิจกรรมในการสร้างพื้นที่ "สันติสุขขนาดเล็ก" ที่ขับเคลื่อนโดย ศอ.บต.


ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ขับเคลื่อนสร้างพื้นที่ “สันติสุขขนาดเล็ก” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย รวม 40 กว่าพื้นที่ โดยการร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน

ในปี 2564 ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กให้เกิดขึ้นตามความต้องการของชุมชนอีก 20 พื้นที่ ซึ่งใน 20 พื้นที่นี้ ศอ.บต.จะร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก (Small Peace Area) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้บริบทของชุมชน ในการดูแลความปลอดภัยและออกแบบการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ เพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน โดยมีจุดเน้นสำคัญ คือการเปิดพื้นที่ “สาธารณะ” เพื่อการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจต่อการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก

อาศัยกลไกสภาสันติสุขตำบลร่วมกันขับเคลื่อน มีคณะทำงาน (Facilitator ) ในการร่วมเอื้ออำนวยให้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นรูปธรรมที่เป็นจริง จับต้องได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่นำไปสู่การพึ่งตนเองที่ยั่งยืน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ขจัดปัญหาความยากจนในองค์รวม โดยมีประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคมพหุวัฒนธรรม ที่สุดท้ายจะจบลงที่ชุมชนพึ่งตนเองได้ มีภูมิคุ้มกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยั่งยืน


พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงความสำเร็จของการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กว่า ภายใต้บริบทการออกแบบสร้างชุมชนให้น่าอยู่เพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน ที่มีผลสำเร็จ ที่เป็นตัวอย่าง เช่น ชุมชนบ้านเลียบ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กลุ่มเลี้ยงปลาทับทิมของที่นี่จำหน่ายปลาทับทิม 2 สัปดาห์ต่อครั้ง มีรายได้จากการขายปลา 140,000 บาท และชุมชนคูน้ำรอบ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ขายน้ำตาลโตนดสด ได้เงินวันละ 1,700 บาท

หรือชุมชนบ้านปุโรง ต.ปุโรง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา มีรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน สัปดาห์ละ 3,000 บาท ชุมชนบ้านย่านตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา มีรายได้จากการขายขนมที่ผลิตจากไข่เค็ม สัปดาห์ละ 1,500 บาท

ชุมชนบ้านเจาะปูแน ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ชุมชนนี้มีรายได้จากการขายเป็ด สัปดาห์ละ 2,500 บาท และชุมชนบ้านคลอแระ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ขายไข่ไก่สดจากฟาร์ม มีรายได้วันละ 1,400 บาท เป็นต้น

ยังมีชุมชนอีกมากที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่ง ศอ.บต.ได้ติดตามประเมินผลแล้ว พบว่า โครงการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กเหมาะสมกับชุมชนที่เป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่บริหารจัดการกับปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างได้ผลสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน การบริหารจัดการไม่เทอะทะยุ่งยาก เหมาะกับสภาพพื้นที่ วิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต.จะได้ขับเคลื่อนต่อไป โดยการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อาจารย์นิมุ มะกาเจ กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการสภาสันติสุขตำบล ได้กล่าวถึงนโยบายของสภาสันติสุขตำบลและพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กว่า เป็นนโยบายที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาในทุกด้านในพื้นที่ เพราะเป็นการกำหนดแนวทางโดยคณะกรรมการที่เป็นคนในพื้นที่ที่ทราบถึงปัญหาการขาดแคลน ความต้องการ และความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหา รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ โดยการมีกรอบ มีงบประมาณ เพื่อให้การขับเคลื่อนทำได้จริง

“จากการที่ได้ทำหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการ คณะทำงาน เห็นว่า สภาสันติสุขตำบลและพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กเป็นนโยบายการพัฒนา การแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้ดีมาก”


แน่นอนว่า การแก้ปัญหาด้านความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของผู้คน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งรูปแบบอาจจะต้องมีการเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นที่ สภาพของวิถีวัฒนธรรม และความต้องการของคนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เพราะในอดีตที่ผ่านมา รัฐหรือหน่วยงานของรัฐมักจะคิดเอง ทำเอง ใช้งบประมาณเอง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ตัดรองเท้าสำเร็จรูปเบอร์เดียวกัน” เพื่อให้ทุกคนนำไปสวมใส่ ผลคือบางคนใส่ได้ บางคนใส่ไม่ได้ ยิ่งถ้าถูกบังคับให้ใส่ก็จะเกิดเป็นบาดแผลขึ้นกลายเป็นปัญหาที่คับแค้น ขมขื่น ติดตามมา

วันนี้เองยังมีหลายหน่วยงานที่ยัง "ละเลง" งบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาทั้งด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนา ด้วยการเขียนนโยบายเอง เขียนโครงการเอง สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบเทียมๆ โดยอาศัยผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อที่จะบอกว่านี่คือ "ฉันทานุมัติ" จากคนในพื้นที่ เรียกว่าเป็นการทำโครงการแบบ "ชงเอง กินเอง" โดยไม่ได้เห็นความสำคัญของประชาชนแต่อย่างใด

แม้แต่ ศอ.บต.เองในอดีตก็เคยมีโครงการพัฒนาในชื่อของ "พนม" และ "พนบ" ก็เป็นโครงการที่คิดเองมากกว่าคิดจากชาวบ้าน เจ้าของพื้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสุดท้าย เมื่อพบว่าเป็นโครงการที่ไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องยุติโครงการไปในที่สุด

วันนี้โครงการ “พื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก” คือหนึ่งในนโยบายที่เชื่อว่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจน การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะขยายลงไปในพื้นที่ที่ยังมีปัญหา และเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นของ ศอ.บต. ที่เป็นหน่วยงานในมิติด้านการพัฒนา อีกไม่นานพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กจะครอบคลุมเต็มพื้นที่ และวันนี้จะเป็นอีกครั้งที่ "สันติสุข" จะกลับคืนมา


กำลังโหลดความคิดเห็น