ยะลา - สถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา พบผู้ป่วยรายใหม่ 59 ราย ขณะที่คลัสเตอร์ศูนย์มัรกัสยะลาวิกฤตหนักหลังพบการระบาดรวม 190 ราย กระจายใน 12 จังหวัดภาคใต้โดยหลายจังหวัดพบผลการติดเชื้อเป็นสายพันธุ์แอฟริกา
วันนี้ (20 มิ.ย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา รายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ใหม่เพิ่มอีก 59 ราย ที่ อ.เมืองยะลา มีจำนวนสูงสุดถึง 27 ราย อ.กรงปินัง 15 ราย และ อ.บันนังสตา 12 ราย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ที่นักเรียนเดินทางกลับภูมิลำเนาก่อนหน้านั้นโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรองหาเชื้อ
นายสุชาติ อนันตะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ได้มีการรวบรวมข้อมูลว่า ขณะนี้คลัสเตอร์ศูนย์มัรกัสยะลามีการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปกว่า 12 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ยะลา 69 ราย ปัตตานี 14 ราย นราธิวาส 13 ราย สงขลา 17 ราย สตูล 37 ราย พัทลุง 4 ราย ตรัง 3 ราย กระบี่ 14 ราย สุราษฎร์ธานี 8 ราย พังงา 5 ราย ภูเก็ต 3 ราย และนครศรีธรรมราช 3 ราย รวมจำนวน 190 ราย
โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวให้แจ้งไปยังครอบครัวนักเรียน ให้นักเรียน บุคคลในครอบครัว และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดได้รีบเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่ รพ.สต. สำนักสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน เพื่อป้องกันและสกัดยังยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ลุกลาม และจะต้องให้ข้อมูลความจริงต่อเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด ไม่ปกปิดประวัติไทม์ไลน์ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จำกัดวงการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว หากพบว่าไม่ไปรายงานตัว หรือมีการปกปิดข้อมูล อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ขณะเดียวกัน มีหนังสือด่วนที่สุดจากจังหวัดกระบี่ ลงหมายเลข กบ.0018.1/ว 2968 วันที่ 19 มิถุนายน 2564 เรื่อง การเร่งขยายผลการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เรียน นายอำเภอทุกอำเภอ ด้วยผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าผู้ป่วยจากมัรกัสยะลา ผลการตรวจเชื้อเป็นสายพันธุ์แอฟริกา จึงให้เร่งขยายผลหาผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูงให้หมดโดยเร็ว แล้วนำมากักตัว และอาจต้องขยายเวลากักตัวเป็น 21 วัน
จังหวัดกระบี่พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในวงกว้าง จึงให้ค้นหาผู้ที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้รีบนำเข้า LQ ให้หมดโดยเร่งด่วนและให้กักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน ทั้งนี้ การปล่อยผู้ถูกกักตัวกลับจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อจนผลเป็นลบ จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีรายงานจาก Phuket Hotnews ว่า จากกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์นักเรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลาเดินทางกลับมาภูมิลำเนาในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 3 คน ซึ่งทาง สสจ.ภูเก็ต ได้มีการส่งเชื้อไปตรวจที่ กทม. เพื่อหาว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น ได้มีแพทย์หญิงผู้หนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “คลัสเตอร์ที่มาจากโรงเรียนประจำจังหวัดยะลาที่ภูเก็ต เราตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์เบตาแอฟริกา ทางจังหวัดอื่นได้ตรวจบ้างหรือยังนะ ซึ่งตอนนี้กระจายไปหลายจังหวัดทางภาคใต้ รวมทั้งพังงาเพื่อนบ้านเรา”
รายงานแจ้งต่อไปว่า อย่างไรก็ตามทราบว่า สสจ.ภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ต.เกาะแก้ว และ ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต แล้ว และสำหรับสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แพร่กระจายไม่เร็วเท่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่กระจายเร็วกว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ผลลัพธ์คือ เมื่อมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนจะยากต่อการควบคุมมากกว่า
กรณีดังกล่าว นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา/ผกก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ยะลา จึงได้ออกคำสั่งที่ 111/2564 ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 ควบคุมการแพร่ระบาดในศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย (ศูนย์มัรกัสยะลา) และมัรกัสตาเซะ (เมดานมาดีนาตุลนูร) โดยห้ามนักเรียนกลุ่มญะมาอะห์ตับลีฆและบุคคลอื่นใดเข้าออกพื้นที่ดังกล่าว หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งให้ขออนุญาตต่อประธานศูนย์ดะวะห์แล้วแต่กรณี และต้องรายงานตัวให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยะลาทราบ ทั้งนี้ ต้องกำหนดเวลาเดินทางออกและกลับพื้นที่ดังกล่าวด้วย
คำสั่งระบุด้วยว่า เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีโต้แย้ง หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป