ตรัง - ผู้นำท้องที่ใน 2 ตำบลของ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน อสม. และชาวบ้านช่วยกันเปิดครัวปรุงอาหารแจกจ่ายช่วยเหลือครอบครัวผู้ติดเชื้อและผู้ถูกกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ทำการกำนันตำบลนาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ผู้นำท้องที่นำโดย นายอภิรักษ์ สังข์ทอง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เขต 3 อ.ย่านตาขาว นายกรณ์ จันทร์พุ่ม กำนันตำบลนาชุมเห็ด นายบุญชอบ ทองโอ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.นาชุมเห็ด รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านคนอื่นๆ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แม่บ้านของผู้นำ อสม. และชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ช่วยกันเปิดครัวปรุงอาหารวันละ 1 มื้อ เพื่อแจกจ่ายเป็นอาหารมื้อเที่ยงให้แก่ครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังอยู่ระหว่างรักษาตัวใน รพ.สนาม รวมทั้งชาวบ้านซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากการไม่สามารถไปทำงานได้ ไม่มีรายได้ ต้องรักษาตัวและต้องรับผิดชอบต่อสังคมในการกักตัวเอง
ทั้งนี้ ผู้นำในพื้นที่ตำบลนาชุมเห็ด ได้ชักชวนเพื่อนฝูง ชาวบ้าน รวมทั้งบุคคลที่นับถือช่วยกันนำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ รวมทั้งระดมเงินกันเองไปจัดซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารให้แก่ครอบครัวลูกบ้านที่ติดเชื้อ และที่ต้องกักตัวเองอยู่กับบ้านเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค โดยจะทำอาหารครั้งละ 2 เมนู บรรจุใส่ถุงแล้วมอบให้ อสม. หรือ ผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้านเป็นผู้นำไปแจกจ่าย พร้อมกับน้ำดื่มนำไปวางไว้หน้าบ้าน โดยชาวบ้านที่ได้รับความช่วยเหลือจะหุงข้าวไว้รอ เพราะทางผู้นำได้นำถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง รวมทั้งหน้ากากอนามัย หรือของใช้ที่จำเป็นไปแจกจ่ายให้ก่อนหน้าแล้ว รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งครัวดังกล่าวนี้เปิดมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน และจะทำเรื่อยไปจนกว่าสถานการณ์การติดเชื้อในพื้นที่จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
นายอภิรักษ์ สังข์ทอง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เขต 3 อ.ย่านตาขาว กล่าวว่า ตนเองเปิดครัวขึ้นทั้งหมด 2 จุดในพื้นที่รับผิดชอบ คือ ที่ตำบลนาชุมเห็ด และตำบลโพรงจระเข้ ส่วนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยาง อำเภอกันตัง โดยตำบลโพรงจระเข้ มีผู้ติดเชื้อ 7 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงต้องกักตัวเองอยู่บ้านอีก 80 ครัวเรือน ส่วนตำบลนาชุมเห็ด มีผู้ติดเชื้อ 19 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงต้องกักตัว 282 คน หรือ 80 ครัวเรือน โดยเฉพาะหมู่ที่ 1 มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 10 คน และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต้องกักตัว 30 ครัวเรือน
ดังนั้น พวกตนจึงรวมตัวกันดูแลครอบครัวเหล่านี้ เพื่อต้องการความเข้มงวดตามมาตรการควบคุมโรค โดยชาวบ้านในพื้นที่ใครมีพืช ผัก ผลไม้อะไรก็นำมามอบให้ เพื่อเปิดครัวปรุงอาหาร และยังได้ใช้รถกระจายเสียง เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้ชาวบ้านทราบ และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง