คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้/ โดย… ไชยยงค์
มณีพิลึก
อาวุธสงคราม AK 102 หรือปืนอาก้า 28 กระบอกหายไปจากคลังแสงกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนที่2 อ.เมือง จ.นราธิวาส ถือเป็นข่าวใหญ่ที่น่าตื่นตระหนกของสังคมไทย แต่สำหรับคนจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่ได้สลักสำคัญอะไร
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นับว่าทุเรศ น่าผิดหวัง และมองไม่เห็นอนาคตต่อการดับไฟใต้ ซึ่งฝากไว้กับหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลายแหล่เอาเสียเลย เพราะเรื่องปืนหายไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเอะไรที่เกิดแบบซ้ำๆ ซากๆ มาตั้งแต่ก่อนไฟใต้ระลอกใหม่ถูกจุดขึ้นในปี
2547 เสียด้วยซ้ำ
ที่ผ่านๆ มา กรณีปืนหายเป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง แต่ที่ไม่เป็นข่าวเลยคือ การจับคนทำผิดไม่ได้สักครั้ง ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องหรือที่ต้องรับผิดชอบไม่เคยได้รับการลงโทษสักคนเดียว ก็ไหนบอกว่า “ของหลวง” ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่สำหรับปืนสงครามสูญหายต่างไหลไปตามน้ำหมดสิ้นทุกที
ยิ่งฟังจากการแถลงข่าวของผู้เกี่ยวข้องแล้วยิ่งว้าเหว่ โดยเฉพาะที่บอกว่าปืนอาก้าทั้ง 28 กระบอกไม่ได้หายไปในวันเดียวกัน แต่ค่อยๆ หายไปมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ถามว่าการที่หายไปครั้งเดียวหมดคลังแสง กับค่อยๆ หายไปนี่ต่างกันตรงไหน
เนื่องจากมันล้วนเป็นปืนเหมือนกัน เป็นทรัพย์สินราชการเหมือนกัน และจะหายไปเป็นที่เดียว หรือค่อยๆ หาย มันก็มีความเสียหายเท่ากัน หรือการค่อยๆ หายกับการหายทีเดียวมักต่างกันอย่างไร ที่สำคัญสิ่งที่หายไปคือ “อาวุธปืนสงครามที่มีอานุภาพร้ายแรง” ไม่ใช่ “มีดอีโต้” ใช้ผ่าฟืนนะ
ถ้าดูตามเอกสารราชการที่ จ.นราธิวาส ส่งถึงกระทรวงมหาดไทย จะเห็นว่า ปืนสงครามยี่ห้อนี้ จ.นราธิวาส ได้รับจากกระทรวงมหาดไทยมาทั้งหมด 779 กระบอก ในส่วนของกองร้อย อส.2 อ.เมืองนราธิวาส ที่หายไป 28 กระบอกนั้น ปรากฏมีการตรวจพบดังนี้
ครั้งแรกวันที่ 4 ก.ย.2555 ตรวจพบว่าหายไป 1 กระบอก ต่อมาวันที่ 3 ก.พ.2557 ตรวจพบว่าหายไปอีก 3 กระบอก แล้ววันที่ 13 ธ.ค.2556 หายไปเพิ่มอีก 1 กระบอก รวมแล้วหายไป 5 กระบอก
โดยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ยึดปืนอาก้าที่หายไปเหล่านี้คืนมาได้ ประกอบด้วย วันที่ 16 ม.ค.2557 สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ยึดคืนมาได้ 1 กระบอก วันที่ 31 ม.ค.2557 สภ.สิงหนคร จ.สงขลา ยึดคืนได้อีก 1 กระบอก วันที่ 23 ก.พ.2564 สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส ยึดได้จากประชาชนในพื้นที่ 1 กระบอก และวันที่ 11 เม.ย.2564 สภ.เมืองนราธิวาส ยึดปืนได้อีก1 กระบอก ซึ่งพิสูจน์แล้วทั้งหมดเป็นปืนอาก้าที่หายไปจากกองร้อย อส.เมืองนราธิวาสทั้งหมด
และล่าสุด วันที่ 11 พ.ค.2564 ทหาร ฉก.นาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ จ.ปัตตานี ยึดได้ปืนอาก้าที่พิสูจน์แล้วว่าหายจากกองร้อย อส.เมืองนราธิวาสได้จาก “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น จากเหตุการณ์ปิดล้อมจับกุมได้อีกเช่นกัน
ดังนั้น ในการตรวจสอบอาวุธปืนของกองร้อย
อส. อ.เมืองนราธิวาส จึงพบว่า ปืนอาก้าที่หายไปยังเหลืออีกถึง 19 กระบอก
นี่แสดงให้เห็นถึง “ความหละหลวม” ความไม่เอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการใช้อาวุธปืนสงคราม ซึ่งสำหรับฝ่ายปกครองที่มีกองร้อย อส.ทั้งในระดับอำเภอและในระดับจังหวัดมี “ปลัดป้องกัน” กับ “ปลัดฝ่ายความมั่นคง” ที่ทำหน้าที่ควบคุมกองกำลัง อส.และต้องคอยตรวจสอบอาวุธตามวงรอบ
นี่แสดงว่ากองร้อย อส.เมืองนราธิวาส ที่มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ต่างไม่ได้ใส่ใจกับการควบคุมอาวุธสงคราม เพราะปล่อยให้มีการล่องหนของปืนไปเป็นระยะๆ และหลังสุดหายไปถึง 19 กระบอก ก็ตอบไม่ได้ว่ามันหายไปเมื่อไหร่
ที่สำคัญเมื่อฟังจาก พล.ต.ต.นรินทร์ บูสมัญ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ยังทราบว่า นอกจากปืนของกองร้อย อส.เมืองนราธิวาสที่หายแล้ว ยังมีของกองร้อย อส.ของอำเภออื่นๆ อีกรวม 5 อำเภอ เช่น อ.รือเสาะอ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี หายไปอีกรวม 37 กระบอก
ปรากฏการณ์เหล่านี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาวุธปืนสงครามที่กรมการปกครองได้มอบให้แก่หน่วยงานฝ่ายปกครองของ จ.นราธิวาส เพื่อใช้รักษาความสงบ คุ้มครองความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินประชาชนนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความปลอดภัยอะไรเลย แถมไม่มีใครต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาก็แทบไม่มีการแก้ไขอะไรเลย
จากการตรวจสอบเส้นทางของปืนสงครามของฝ่ายปกครองที่หายไปจะพบว่า นอกจากจะตกอยู่ในมือของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีการนำไปขายให้บุคคลทั่วไป สังเกตจากที่ตำรวจยึดได้จากที่ต่างๆ เช่น อ.สิงหนคร อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา นั่นเป็นการขายให้ผู้ต้องการอาวุธสงคราม
นี่คือ “ขยะใต้พรม” อีกกองใหญ่ในชายแดนใต้ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบว่ายังจะมีขยะที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมอีกเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าปืนที่อยู่ในความครอบครองฝ่ายปกครองที่หายไป ไม่ได้มีแค่เฉพาะที่ จ.นราธิวาสเท่านั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้น
เอาเถอะถ้าปืนสงครามเหล่านี้ถูกขายไปให้บุคคลทั่วไป หรือผู้มีอิทธิพล เชื่อว่าอันตรายยังไม่มากเท่าที่ตกไปอยู่ในมือแนวร่วมบีอาร์เอ็น เพราะมีเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์นั่นแหละจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มหลัง สิ่งนี้ยืนยันแล้วหลังเหตุปะทะจับกุมหรือวิสามัยโจใต้ อาวุธปืนที่ยึดได้ล้วนเคยเป็นของทางราชการแทบทั้งสิ้น
ไม่เคยมีข่าวปรากฏว่าปืนที่ยึดได้จากแนวร่วมบีอาร์เอ็นเป็นของที่ซื้อมาจากกัมพูชา หรือเป็นปืนของขบวนการในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อย่างที่เคยเป็นข่าวว่าให้การสนับสนุนอยู่
โดยข้อเท็จจริงแล้วทั้งปืนสั้นและปืนยาวที่ทั้งแนวร่วมและอาร์เคเคของฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้อยู่
ล้วนเป็นปืนที่ปล้นไปจากทางราชการทั้งนั้น นับตั้งแต่ปืนที่ปล้นไปจากค่ายปิเหล็งเมื่อปี
2547 ปล้นจากจากค่ายพระองค์ดำ และจากฐานปฏิบัติการทหารและตำรวจต่างๆ ซึ่งยังถูกใช้นำมาต่อสู่กับเจ้าหน้าที่จนเดี๋ยวนี้
จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ความหละหลวมอย่างเดียวหรอก ยังมีกรณีของ “เกลือเป็นหนอน” รวมอยู่ด้วย โดยคนในเครื่องแบบนี่แหละที่เอาอาวุธปืนไปขาย ส่วนหนึ่งต้องการเงิน แต่อีกส่วนที่สำคัญคือเป็นคนที่บีอาร์เอ็นส่งมาแทรกซึมอยู่
นอกจากปืนหลวงในมือโจรแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันคือ เชื่อไหมเครื่องกระสุนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้อยู่ในขณะนี้ไม่ได้ถูกส่งมาจากมาเลเซียหรอก แต่ส่วนใหญ่ได้จากในประเทศเรานี่แหละ ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งคงจะปรากฏหลักฐานชัดเจนเสียทีว่าเครื่องกระสุนเหล่านั้นไม่ใช่เป็นของหน่วยงานของรัฐที่แอบเอาขายกัน
สุดท้ายคงต้องฝากความหวังไว้กับ
พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้เอาจริงและจับจริงกับคนที่เอาปืนราชการไปขาย และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่หละหลวมอย่างไม่ควรอภัย ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนก่อนที่จะขึ้นไปรับตำแหน่ง “พลเอก” ในเดือนตุลาคมนี้
วอนให้ท่านช่วยบ้านเมืองอีกสัคกรั้ง เอาขยะใต้พรมออกมาให้หมด แม้จะไม่ทำให้ไฟใต้มอดดับโดยทันที แต่ต้องทำให้เห็นว่าบ้านเมืองนี้มีกฎหมาย คนทำผิดต้องได้รับโทษ ไม่ใช่อยู่กันได้อย่างลอยหน้าลอยตาอย่างทุกวันนี้ ที่สำคัญไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์เอาปืนและเครื่องกระสุนไทยมาฆ่าคนไทยกันเองอีก