xs
xsm
sm
md
lg

“ตรงประเด็น-ทันเวลา” หลักการเข้าช่วยประชาชนชายแดนใต้ที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ของ ศอ.บต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย..ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล


“ความต่าง” ในการสู้รบกับ “สงครามเชื้อโรค” หรือไวรัสโคโรนา ที่เรียกกันว่า “โควิด-19” ระหว่างภูมิภาคอื่นของประเทศไทยกับภูมิภาคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ

ภูมิภาคอื่นในประเทศไทยเป็นการ “สู้รบ” กับโควิด-19 เพียงอย่างเดียว ไม่มีข้าศึกอื่นๆ เข้ามาเจือปน อย่างดีก็มีปัญหาแทรกซ้อนบ้าง สำหรับจังหวัดที่เป็นด่านหน้า ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จ.กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ หนองคาย และมุกดาหาร ที่ต้องระวังป้องกันกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมือง ที่อาจจะนำเอาเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่เชื้อให้แก่คนในประเทศไทย

แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย อ.สะบ้าย้อย เทพา นาทวี และจะนะ นอกจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายสาธารณสุขและฝ่ายปกครองที่ต้องสู้กับสงคราม “เชื้อไวรัส” อย่างโควิด-19 แล้ว

ที่นี่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังต้องทำสงครามกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ใช้โอกาสของเดือน รอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่พี่น้องมุสลิมถือศีลอด ก่อความไม่สงบขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนถึงวันถือศีลอดและหลังวันรายออีดิ้ลฟิตรี ก็ยังมีข่าวจากหน่วยข่าวความมั่นคงว่า จะมีการก่อความไม่สงบเกิดขึ้น


ดังนั้น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนในพื้นที่จึงต้องรับเคราะห์กรรมที่หนักกว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เพราะต้องสู้กับสงครามเชื้อไวรัส โควิด-19 และในขณะเดียวกัน ก็ต้องสู้กับปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้

และที่สำคัญคือ สงครามของความทุกข์ยาก ความยากจนของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 ที่ทำให้คนตกงาน ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย เช่น ครอบครัวหนึ่งมีการเผยแพร่ออก สื่อ ที่บ้านกาลากาเอ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งผู้นำครอบครัวเดินทางกลับจากมาเลเซีย และหางานทำในบ้านเกิดไม่ได้ ภรรยาขอแยกทาง เพราะสุดทนกับสภาพความอดอยาก ต้องหอบหิ้วลูกๆ มาอาศัยกับแม่ที่บ้านร้างในสวนปาล์ม ในสภาพ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน จนต้องอาศัยประทังชีวิตด้วยการช่วยเหลือของผู้ที่พบเห็น

อีกรายคือ ชายสูงอายุใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่มีอาชีพรับจ้าง แต่ในห้วงของโควิด-19 ไม่มีใครจ้างงาน เจ้าตัวคิดมากจนล้มป่วย เลือดออกทางนัยน์ตา มีคนนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นนำออกสื่อ เพื่อให้เห็นถึงความโหดร้ายของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้


และแน่นอนว่า ทั้ง 2 เรื่อง 2 กรณีที่นำมาเขียนถึง เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ คนตกงานไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ไม่มีเงินในกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามยถากรรม ด้วยการช่วยเหลือของคนในชุมชน ในสังคมมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน หากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ยังไม่ลดจำนวนลง และประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้

จึงไม่แปลกใจกับภาพของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่ต้องลงพื้นที่ นำสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่ใช้ในการดำรงชีวิตและต่อลมหายใจของกลุ่มคนที่ยากจน คนตกงาน คนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แม้ว่าจะมีอาการครบ 32 ก็ตาม

เพราะเมื่อไม่มีการจ้างงานในพื้นที่และออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำไม่ได้ เพราะมีการ ล็อกดาวน์ พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาของโรคระบาด สภาพของคนที่มือดีเท้าดีก็ไม่ต่างกับคนที่ร่างกายพิการแต่อย่างใด

วันนี้ สังคมจึงเห็นบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นบทบาทของเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการลงพื้นที่ ยกสิ่งของ นำสิ่งของไปแจกจ่ายให้ถึงมือผู้เดือดร้อนถึงพื้นที่ ไม่ว่าเป็นชุมชนเมืองหรือชายขอบที่ห่างไกล เป็นบทบาทของการ บูรณาการ กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนองค์กรการกุศลต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ให้การช่วยเหลือ


พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ตลอดเวลาที่เกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ ศอ.บต.ได้ติดตามข่าวสาร ติดตามสถานการณ์ความทุกข์ยาก ความลำบากในการดำรงชีพของคนในพื้นที่อย่าง เกาะติด ตรงไหนที่เดือดร้อนมากจนช่วยตนเองไม่ได้ ศอ.บต.จะจัดสิ่งของลงไปช่วยเหลือในทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่หน่วยงานอื่นๆ อาจจะเข้าไม่ถึง เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคในการเข้าพื้นที่

นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องอาหารการกิน การเป็นอยู่เพื่อให้ผ่านวันเวลาของความเดือดร้อนไปให้ได้ในครั้งนี้แล้ว วันนี้ ศอ.บต.ยังต้องสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาด ในเรื่องของการให้ทุกคนมีความเข้าใจในเรื่องของการฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนเป็นทางออกเดียวสำหรับการที่จะลดการติดเชื้อ และการที่คนในพื้นที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดคือการที่จะทำให้มีคนติดเชื้อน้อยที่สุด จะทำให้พื้นที่ตรงนี้เข้าเข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติ ผู้คนเคลื่อนไหวในการทำมาหากินได้ วันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ต้องให้ทุกคนมีกิน แม้ ศอ.บต.จะดูแลไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จะทำให้ได้มากที่สุด

ก็ยังนับว่าเป็นโชคดีของคนในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่ในยามทุกข์ยาก จนถึงขนาด ”ไม่มีกิน” และ ”ไม่มีใส่” ที่นี่ยังมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ยื่นมือ ยื่นกำลังใจให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที แม้ว่านี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นการแก้ที่ตรงประเด็นและทันเวลานั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น