ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ถึงเวลาภูเก็ตต้องเดินเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ สร้างความยั่งยืนให้เดินได้หลายขา ดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู้วิกฤต เชื่อทำรายได้เพิ่มกว่า 46,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา ผลกระทบโควิด-19 ชี้ชัดอาศัยการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวทำภูเก็ตทรุดหนัก
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึงการยกระดับเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถเดินได้หลายขามากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภูเก็ตอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นแสดงให้เห็นแล้วว่าภูเก็ตจะพึ่งพาเพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ภูเก็ตจะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัว ซึ่งธุรกิจหนึ่งที่จะเข้ามาพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างดี และสามารถสร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% คือ เรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ มีผู้ป่วยส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ปีละหมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นผู้ป่วยซับซ้อน ทำให้เราทราบว่าฝั่งอันดามันยังมีช่องว่างในเรื่องของการรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถดูแลรักษาพยาบาลในพื้นที่ได้ จึงคิดว่าภูเก็ตควรจะมีโรงพยาบาลที่ดูแลเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้นำเสนอแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติ 20 ปี ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยจะต้องปรับตัวหารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกทางหนึ่ง ซึ่งเรามีความเข้มแข็งในเรื่องนี้ และจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการย้ำเตือนว่าอุบัติการณ์เหล่านี้พร้อมที่จะเกิดขึ้นทุกเมื่อและสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากมายและหลีกเลี่ยงไม่ได้
รศ.ดร.พันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเร่งทำแผนในการผลักดันให้เกิดโรงพยาบาล 300 เตียง โดยเสนอโครงการไปแล้ว ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเป็นหลักการไว้จำนวน 5,116 กว่าล้านบาท โดยดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.สร้างโรงพยาบาลลักษณะของโรงเรียนแพทย์ และรักษาโรคแทรกซ้อน ใช้งบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ในการดำเนินโครงการแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเขียนแบบ
2.วิทยาลัยสุขภาพอันดามัน เป็นการเรียนการสอนหลักสูตรต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย 3.เป็นเรื่องของศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้เป็นความต้องการอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวเกือบทุกชาติที่เดินทางเข้ามาที่ภูเก็ตและมีมูลค่าสูง ซึ่งเรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการโดยขณะนี้มีพื้นที่ในการดำเนินการอยู่แล้วอยู่ที่สะพานหิน และมีอาคารอยู่แล้ว 1 อาคาร ในระยะแรกจะดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลทันตกรรม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ต.ค.นี้เป็นต้นไป
สำหรับการดำเนินการสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเชื่อว่าหลังจากการระบาดของโรคสิ้นสุดลง จำนวนนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน ที่เคยเดินทางเข้ามาจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะมีจำนวนลดลง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจใหม่จะทำให้มูลค่าการท่องเที่ยวไม่ลดลงกว่าเดิมและเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยใช้ภูมิปัญญาของคนไทย เรื่องการแพทย์ สาธารณสุข อาหาร การบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย เราจะต้องเอาจุดนี้มาสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะนำจุดแข็งดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในการทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขึ้น
ซึ่งขณะนี้ในส่วนของภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อที่จะปรับตัวเองไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 1020% เมื่อเทียบกับมูลค่าการท่องเที่ยวเมื่อปี 62 ซึ่งมีรายได้ประมาณ 460,000 ล้านบาท ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น 10% ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 46,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งรายได้เหล่านี้จะเป็นรายได้ที่เข้าถึงคนไทยโดยตรง และเป็นการเพิ่มอำนาจทางการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ตกเทรนด์ และที่สำคัญขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสำคัญมากกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งที่เดินทางมารักษา และเสริมความงาม รวมทั้งทำฟัน ซึ่งนอกจากคนต่างชาติแล้วที่ผ่านมาในส่วนของคนไทยก็มีจำนวนมากที่เดินทางไปเสริมความงามในต่างประเทศ
ถ้าภูเก็ตเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวมาส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ เชื่อว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเดินไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง เพราะในอนาคตภูเก็ตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์เดียว หรือเดินแค่ขาเดียวแล้ว แต่ภูเก็ตจะก้าวไปข้างหน้ากับเครื่องยนต์ที่เข้ามาเสริมทัพ เพื่อให้เดินได้อย่างมั่นคง ไม่ล้มทั้งยืนเหมือนที่ผ่านมา