xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพรม-สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมยุคโควิด-19?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ม.ทักษิณ ร่วมเป็นหนึ่งในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จ.พัทลุง รองรับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 รอบ 3
ทัศนะ : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

“พื้นที่/สถานที่และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจสีเทา คลัสเตอร์สำคัญของการระบาดโควิด-19 ระลอกที่สองและสามจะดำรงอยู่ไม่ได้ หากปราศจากการสนับสนุนค้ำจุนของอำนาจและการอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าโควิด-19 (Covid-19) ในครั้งที่ 2 และ 3 ที่กำลังระบาดลุกลาม ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วก็คือ จุดตั้งต้นที่เรียกกันอย่างลำลองว่า “คลัสเตอร์ (clusters)” ที่ในพื้นที่/สถานที่ที่มีลักษณะ “สีเทา”

พื้นที่สีเทานี้ในความหมายพื้นฐานและการรับรู้กันโดยทั่วไปของผู้คนก็คือ การเป็นพื้นที่และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในมุมมืดที่ทั้งผิดและไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน ธุรกิจบันเทิงเริงรมย์ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจสีเทานี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึงหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของพื้นที่/สถานที่และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและและธุรกิจสีเทาที่ผิดกฎหมาย และ/หรือหมิ่นเหม่เหล่านี้จะเกิดขึ้น เติบโต และขยายตัวได้ยากมาก หากปราศจากการสนับสนุน ค้ำจุนของอำนาจ เส้นสายในระบบราชการ การอาศัยอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ต่างตอบแทน และการอุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ ดังที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมไทย

แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกที่ 2 และ 3 ที่มาจากบ่อน มวย การพนัน แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และธุรกิจสถานบันเทิงเริงรมย์ในเขตกรุงเทพฯ และอาณาบริเวณ ก่อนขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนยากเกินควบคุม กระทั่งสร้างความเสียหาย ผลกระทบลึกซึ้ง ซับซ้อนหลากหลายมิติ

ในทางเศรษฐกิจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในชั้นต้นพบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เม็ดเงินอย่างน้อย 5 แสนล้านบาทจะหายไปจากระบบตลาด และระบบเศรษฐกิจทำให้ขาดแคลนเงินหมุนต่อเนื่อง

ที่น่าแปลกใจอย่างที่สุดในกรณีนี้ก็คือ แทนที่รัฐบาลและกลไกรัฐจะใช้โอกาสอันดีนี้เร่งสะสาง ชำระล้าง เก็บกวาดพื้นที่/สถานที่ในมุมมืด และกิจกรรมใต้พรมเหล่านี้ กลับเพิกเฉยละเลย

ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้นคือ การลดทอน เบี่ยงบังต้นเหตุของการระบาดของเชื้อโรคร้ายให้เป็นเพียงปัญหาอันเนื่องมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค ตลอดจนศีลธรรมในนามของความดีงาม และมายาคติความเป็นไทยที่ไร้แก่นแกน

ไม่พยายามแตะ เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมเชิงโครงสร้างที่โยงใยซ่อนเร้นไปยังปัญหาสังคมต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน สินบน ส่วย การแสวงหาผลประโยชน์ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การฟอกเงิน รวมถึงประสิทธิภาพและความหย่อนยานของรัฐและกลไกรัฐแต่อย่างใด

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คลัสเตอร์การระบาดคือการผลักภาระให้เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ อันเนื่องมาจากพฤติกรรม การกระทำ และการปฏิบัติตนของปัจเจกชนและกลุ่มคนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งก็เป็นมาตรการที่รัฐกำหนดนั่นเอง

เมื่อพิจารณามาตรการรับมือแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ หลายฝ่ายได้สะท้อนตรงกันถึงความมะมุมมะงาหรากับการเตรียมรับมือกับปัญหา การแสวงหาหนทางเยียวยาที่ไม่เหมาะสม สอดคล้อง แม้กระทั่งความล่าช้าในการบริหารจัดการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค วิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงเชิงพื้นที่ การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ ความไม่เป็นเอกภาพในการจัดการ/รับมือกับปัญหา และการกระจายการจัดการควบคุมเชิงพื้นที่แบบเข้มข้นในหลายระดับ หลากหลายสีและหลายมาตรการ

เมื่อผสมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคยที่เคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การกักกันตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ รายได้ การบริโภคข้อมูลข่าวสารแบบล้นทะลักในสื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ความไม่รู้/รู้ไม่เท่าทัน และการบริโภคข้อมูลข่าวสารแบบล้นเกิน อันเนื่องมาจากการระบาดและวิกฤตโควิด-19 ที่หนักหน่วงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

การไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ในฐานะปัจเจกและสมาชิกร่วมสังคม การตีตราทางสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การแบ่งแยก กีดกัน และการปฏิบัติต่อกันในลักษณะที่ไม่ยอมรับ เกิดการลดทอนทำให้สูญเสียคุณค่าและความเป็นมนุษย์

สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะที่ผู้เขียนเรียกว่า “Social Panic Disorder” ในความหมายของการระบาดทางอารมณ์ทั่วทั้งสังคมกับสถานการณ์ การดำรงอยู่ มาตรการจัดการและการควบคุมโรคจากอิทธิพลทางการเมืองดังข้างต้น

ในสถานการณ์เฉพาะหน้าต้องดำเนินการในทุกวิถีทางที่จำเป็นและชอบธรรมในการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูการระบาดลุกลามของโรคในทุกมิติ การจัดหาวัคซีนในหลายทาง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ ในระยะถัดไปต้องให้ความสำคัญกับการ “ฉีดวัคซีนทางสังคม” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน การระดมภูมิปัญญา พลังสังคมและชุมชนรับมือกับวิกฤตเบื้องหน้าไปด้วยกัน

การผลักดันการเปลี่ยนแปลงสร้างธรรมาภิบาล การรื้อสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาในบริบทใหม่หลังโควิด-19 การปฏิรูปทางสังคมและการเมือง การกระจายอำนาจ และการจัดการตนเองของชุมชนด้วยธรรมนูญและความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ การฟื้นฟูสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเชิงระบบ

และที่สำคัญคือ การรณรงค์ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม การเมือง วัฒนธรรมที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พลเมือง และผู้คนทุกชั้นชนในสังคมไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น